เวที Policy Forum ครั้งที่ 21 ฟื้นเมืองหลังภัยพิบัติ เริ่มต้นใหม่ เพื่อเชียงรายเข้มแข็งกว่าเดิม “สช. หนุนภาคีทุกภาคส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืน”

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

 สถานการณ์น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แพร่ และพื้นที่อื่นๆ ในเขตจังหวัดภาคเหนือ รวมถึงภาคอีสานในบางจังหวัด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ เป็นอย่างมาก เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคมหลังผ่านช่วงวิกฤต   จึงเป็นระยะของการฟื้นฟูเพื่อพลิกฟื้นเมืองและฟื้นคนควบคู่กันไปเพื่อการสร้างความยั่งยืนรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืนในระยะยาว เรื่องสำคัญนอกจากการจัดการด้านกายภาพ เช่น การดูดโคลน การจัดการสภาพแวดล้อม และการฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว สถานการณ์ด้านสุขภาพ (กาย จิตใจ ปัญญา และสังคม) เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่ากัน 


 28 กันยายน 2567 นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มอบหมายให้นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ นายเดชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์สุขภาพเขตเมือง และนางวันเพ็ญ ทินทา ร่วมเวที Policy Forum ครั้งที่ 21 ฟื้นเมืองหลังภัยพิบัติ เริ่มต้นใหม่ เพื่อเชียงรายเข้มแข็งกว่าเดิม (City Recovery Stronger Chiang Rai) ที่ร้านท่าน้ำภูแล อ.เมือง จ.เชียงราย จัดโดย The Active ไทยพีบีเอส ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หอการค้าจังหวัดเชียงราย บริษัทเชียงรายพัฒนาเมือง CRCD มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา มูลนิธิกระจกเงา และองค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กร เพื่อรับฟังเสียงผู้ประสบภัยพิบัติ มีผู้เข้าร่วมกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่สูง ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้ประกอบการและนักธุรกิจ แรงงานข้ามชาติ รับฟังความรู้ที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกับภัยพิบัติอย่างปลอดภัย และข้อเสนอมติใหม่จัดการฟื้นฟูเมืองเชียงรายระยะเร่งด่วน - ระยะยาว ร่วมกับนักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย ติดตามข้อมูลน้ำท่วมดินโคลนถล่มในพื้นที่ และชุดข้อมูลองค์ความรู้ในการจัดการภัยพิบัติ ทั้งนี้ข้อมูลส่วนใหญ่ เป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงกายภาพ เช่น สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สภาพที่อยู่อาศัยที่ในพื้นที่เสี่ยงและได้รับความเสียหาย รวมถึงปัญหาดินโคนถล่ม เพื่อเตรียมการในการจัดการระยะฟื้นฟู ที่แบ่งเป็นสามช่วง คือ ระยะที่หนึ่ง การบรรเทาภัยพิบัติ (Immediate Relief) ระยะการฟื้นฟูแบบองค์รวม (Holistic Recovery) และความเข้มแข็งที่ยั่งยืน (Sustainable) 


นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายผ่านพื้นที่กลางหรือสมัชชาสุขภาพในการช่วยกันแก้ปัญหายากๆ หลายภาคส่วน เช่นเดียวกับการจัดการภัยพิบัติครั้งนี้ เวทีนี้เป็นเวทีแรก ที่ สช. มีส่วนร่วมกับไทยพีบีเอส จัดร่วมกับภาคีเครือข่าย แต่การแก้ปัญหาระยะยาว ต้องมีการเปิดวงหารือร่วมกันในพื้นที่เป็นระยะๆ และสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงรายจะมีส่วนสำคัญในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย และตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้เราได้เห็นข้อมูลเชิงกายภาพ แต่ยังขาดข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ทั้งนี้ข้อเสนออื่นๆ เช่น การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว การจัดตั้งเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติแนวใหม่ การจัดทำข้อตกลงชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ และการเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดจัดตั้งกลไกรับมือภัยพิบัติร่วมกับภาคส่วนต่างในจังหวัดเชียงราย เป็นต้น


 29 กันยายน 2567