สร้างสมดุล วัคซีนโควิด = เข็มขัดนิรภัย ลดความเสี่ยง ‘บาดเจ็บสาหัส-ตาย’ แต่คาดแล้ว ‘ซิ่ง-ประมาท’ ก็ไม่รอด
(สัมภาษณ์พิเศษ)
ระหว่างที่ “วารสารสานพลัง” ฉบับเดือน ก.พ. ๒๕๖๔ อยู่ในมือของท่านผู้อ่านในขณะนี้ เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนัก
นั่นเพราะวิกฤตระลอกสองนี้ รวดเร็ว รุนแรง และยาวนาน กว่ารอบแรกเป็นอย่างมาก
ตลอด ๑-๒ เดือนที่ผ่านมา โลกใบนี้ยังคงสาละวนอยู่กับการพัฒนา “วัคซีน” ทั้งมิติของประสิทธิภาพ กำลังการผลิต โควต้า
การกระจาย และการจำหน่ายจ่ายแจก ส่วนประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก
“ศึกชิงวัคซีน” ในสหภาพยุโรป
นำมาสู่การ “เลื่อน” จัดส่งวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่
นั่นทำให้ไทม์ไลน์ของการได้รับวัคซีนเข็มแรกถูกเลื่อนออกไป ทว่าก่อนที่วัคซีนเข็มแรกจะเดินทางมาถึง
ทุกคนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจในหลักใหญ่ใจความสำคัญก่อน
“กองบรรณาธิการสานพลัง” ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก นพ.ทักษพล ธรรมรังสี
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)
นายแพทย์และนักวิชาการผู้คร่ำหวอดในแวดวงสาธารณสุขระดับนานาชาติ
ผู้ซึ่งเป็นกำลังสำคัญขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ประจำภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก มาบอกเล่าข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19
--- ‘วัคซีนโควิด’ ไม่เหมือนกับวัคซีนอื่นๆ ---
นพ.ทักษพล เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการอธิบายถึงพื้นฐานของ “วัคซีนโดยทั่วไป” ซึ่งมีอยู่หลากหลาย
และมีอยู่ราว ๘-๙ เทคนิคที่ถูกนำมาใช้ในการผลิต
โดยหลักการของวัคซีนทุกชนิดสามารถเทียบเคียงได้กับการเป็น “คู่ซ้อม”
ให้กับร่างกาย
กล่าวคือ ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อให้ร่างกายได้ฝึกซ้อมต่อสู้ และเมื่อถึงเวลาที่ต้องเจอกับเชื้อโรคจริงๆ
ร่างกายก็จะมีความสามารถในการต่อสู้กับโรคนั้นๆ ได้
นพ.ทักษพล อธิบายว่า การทดลองและพัฒนาวัคซีนแต่ละชนิด บางตัวอาจต้องใช้เวลามากถึง
๑๐ ปีจึงจำสำเร็จ แต่สำหรับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งถูกเร่งพัฒนาอยู่ในขณะนี้นั้น ภายในระยะเวลาเพียง ๑ ปี กลับมีการคิดค้นออกมาได้ถึงหลายตัว
ฉะนั้น ด้วยข้อมูลที่ยังคงจำกัดอยู่ ขณะนี้เราจึงพบแค่ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 สามารถลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตลงได้ แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพในการลดแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
นี่คือจุดแตกต่างสำคัญเมื่อเทียบกับวัคซีนโรคอื่นๆ ที่มักจะช่วยลดการติดโรคหรือแพร่กระจายเชื้อด้วย
นพ.ทักษพล จึงเปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ว่า เป็นเสมือนกับ เข็มขัดนิรภัย (Seat Belt) กล่าวคือเมื่อเราคาดเข็มขัดนิรภัยแล้ว เรายังสามารถขับรถชน เกิดอุบัติเหตุ
หรือบาดเจ็บได้ หากแต่โอกาสที่จะบาดเจ็บหนักหรือเสียชีวิตนั้นก็จะลดน้อยลง
หรืออย่างในกรณีของโรคโควิด-19 แปลว่าเรายังมีโอกาสได้รับเชื้อ หรือแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ หากแต่เมื่อได้รับเชื้อแล้วก็จะเป็นเพียงอาการไอ
หรือไข้หวัดธรรมดา มากกว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ที่อาจถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนั่นเอง
แน่นอนว่าการคาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ได้หมายความว่าผู้ขับขี่จะสามารถขับฝ่าฝืนกฎ
ขับรถเร็ว หรือขับรถฝ่าไฟแดงได้ เพราะยังคงจะต้องมีความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น
เฉกเช่นเดียวกันกับผู้ที่ได้รับวัคซีน ที่จะยังไม่สามารถกลับไปดำเนินชีวิตเดิมตามปกติได้
หากแต่ยังจะมีความระมัดระวัง ดำเนินชีวิตภายใต้มาตรการต่างๆ เช่นเดิม เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อไป
ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบางกรณีที่เข็มขัดนิรภัยเองก็อาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
หากแต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นอาจเป็น ๑ ในหลายสิบล้านคน ฉะนั้นโดยภาพรวมแล้วเข็มขัดนิรภัยจึงนับเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยชีวิตอยู่นั่นเอง
ทำนองเดียวกันกับความปลอดภัยของวัคซีนในแง่มหภาค ที่มีผลข้างเคียงเช่นเดียวกัน
หากแต่เป็นในลักษณะอาการเล็กน้อยทั่วไป เช่น ปวดบวม แดงร้อน เป็นไข้ ไม่สบายภายหลังการฉีด
หากแต่อาการแพ้หนักจนถึงขั้นเสียชีวิตนั้นจะเป็นไปได้น้อยมาก
“จุดที่รับได้ของวัคซีน โดยทั่วไปจะอยู่ที่ ๑ ต่อแสน หรือ ๑ ต่อล้าน อย่างถ้าไทยกำหนดที่จะฉีดวัคซีนให้ประชากร
๕๐ ล้านคน ก็อาจเกิดการแพ้รุนแรงในระหว่าง ๕๐-๕๐๐ คนได้ แต่จะไม่ได้นับรวมถึงผลข้างเคียงที่ไม่ใช่ผลโดยตรงจากวัคซีน
เพราะบางครั้งการเสียชีวิตหลังการฉีดก็อาจเกิดจากเหตุปัจจัยอื่นๆ หรืออย่างในต่างประเทศเองก็มีปรากฎการณ์อุปทานหมู่
คือพร้อมใจกันเป็นลมภายหลังการฉีด ซึ่งเกิดจากกลไกทางจิต ไม่ได้เกิดจากวัคซีน”
อาจารย์ทักษพล สรุปว่า ภาพรวมของวัคซีนโควิด-19 นั้นจึงแตกต่างจากวัคซีนป้องกันโรคแบบเดิม ซึ่งคนทั่วไปอาจเข้าใจผิดได้ว่าเมื่อฉีดแล้วจะแพร่กระจายต่อไม่ได้
และคนรอบข้างปลอดภัย แต่นั่นใช้ไม่ได้กับหลักการของวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้
เพราะเส้นชัยของการวัดประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 คือลดอาการป่วยหนัก และเมื่อฉีดไปแล้วจะยังมีโอกาสได้รับเชื้อ
แต่โอกาสที่จะเสียชีวิตจะต่ำมาก และเปลี่ยนให้โรคติดเชื้อโควิด-19 ให้กลายเป็นโรคไข้หวัดธรรมดา
--- โจทย์ตัวโตของ ‘การจัดสรรวัคซีน’ ---
เมื่อทำความเข้าใจเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนแล้ว กองบรรณาธิการได้ชวน
นพ.ทักษพล พูดคุยถึง “คำถามเชิงจริยธรรม” เกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีน
กล่าวคือเมื่อทรัพยากรมีจำกัด แล้วใครคือผู้เหมาะสมที่จะได้รับก่อน !!?
นพ.ทักษพล เล่าว่า ในช่วงต้นที่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน เกิดการดีเบตมากมายถึงการให้วัคซีนในกลุ่มต่างๆ
หนึ่งในแนวคิดนั้นคือ ควรการฉีดให้คนวัยหนุ่มสาวก่อน
นั่นเพราะคนกลุ่มนี้เป็นวัยทำงาน มีการเดินทางและพบปะผู้คนมากกว่า จึงเชื่อว่าจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ-แพร่เชื้อได้มากกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านเป็นหลัก ฉะนั้นภายใต้แนวคิดนี้จึงมองว่า
การให้วัคซีนแก่คนหนุ่มสาวมีความสมเหตุสมผล
แต่ที่สุดแล้ว
เมื่อพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ แนวคิดนี้จึงตกไป
แน่นอนว่า เมื่อวัคซีนโควิด-19 ในขณะนี้มีประสิทธิภาพลดการ “เสี่ยงตาย” ที่จะช่วยไม่ให้ระบบสุขภาพต้องแบกรับผู้ป่วยจนเกิดศักยภาพ
นำมาสู่แนวคิดอีกทางหนึ่ง
คือการฉีดให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคมากที่สุด
นั่นคือกลุ่มเป้าหมาย ๔ กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว
กลุ่มบุคลากรด้านสาธารณสุข และกลุ่มเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ซึ่งแนวทางนี้ได้กลายมาเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้ในการกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชากรของประเทศตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดอาจมีความแตกต่างไปตามลักษณะของนโยบายแต่ละประเทศ
เช่น บางประเทศกำหนดผู้สูงอายุที่ ๖๕ ปีขึ้นไป หรือในบางประเทศมีการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ
เพื่อป้องกัน “ระบบล่ม” เช่น ครู ที่ต้องการขับเคลื่อนระบบการศึกษาให้กลับมาเร็วที่สุด
“เมื่อกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายอาจยังกว้างอยู่
ดังนั้นแนวทาง “ฉีดเข้าไปที่กองไฟ” โดยตรงเพื่อให้ไฟที่กำลังลุกโชนมอดดับลง เช่น
ผู้สูงอายุในพื้นที่สีแดง พื้นที่ชายแดน สมควรได้รับการจัดสรรวัคซีนก่อนผู้สูงอายุในพื้นที่สีเขียว”
แต่แน่นอน ทั้งหมดนี้สามารถแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาด
ที่ต้องมีการติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด
นพ.ทักษพล บอกอีกว่า แม้สุดท้ายแล้วเป้าหมายของรัฐบาลคือ คนไทยทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด
ตามความสมัครใจ หากแต่ปัญหาขณะนี้อยู่ที่ “ระยะเวลา” ว่าจะเป็นไปได้เมื่อไร จึงนำมาสู่โจทย์ใหม่ๆ
ที่ต้องมีการคิดกันต่อ
เช่น ถ้าประสิทธิภาพของวัคซีนมีอายุ ๑ ปี การฉีดซ้ำโดสที่สองในรายเดิม
กับการฉีดโดสแรกในรายใหม่ อะไรจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ากัน ซึ่งการพิจารณาสิ่งเหล่านี้จะต้องอาศัยหลักฐานทางวิชาการ
ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์
ขณะที่ประเด็นคำถามว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ควรจะมีการซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชากรในพื้นที่เองหรือไม่
ปัจจัยที่จะต้องพิจารณาคือช่องทางของการจัดหาวัคซีน
เพราะวัคซีนที่จัดซื้อโดยไม่ผ่านรัฐบาลจะมีราคาที่สูงมาก ขณะเดียวกันยังมีโอกาสขยายความเหลื่อมล้ำในระดับประเทศชัดเจนมากขึ้น
นั่นเพราะประชาชนในท้องถิ่นที่รวยกว่าก็จะได้รับวัคซีนก่อน ขณะที่ท้องถิ่นอื่นต้องรอต่อไป
ในทำนองเดียวกับภาคเอกชนที่อยากมีการนำเข้าวัคซีนมาฉีดเอง ซึ่งแน่นอนว่าการที่สามารถกระจายวัคซีนให้คนมีการฉีดได้มากขึ้น
เท่ากับช่วยเพิ่มคนคาดเข็มขัดนิรภัยมากขึ้นในสังคม “อาจารย์ทักษพล” มองว่าเป็นสิ่งที่ดี
หากแต่การนำเข้าวัคซีนนั้นจะต้องไม่ไปกระทบกับ Supply เดิมของประเทศ
หรือไปเบียดเบียนเอาวัคซีนที่จะฉีดให้กลุ่มเสี่ยง
มาให้กับกลุ่มคนที่มีกำลังจ่ายแทน หากแต่จะต้องเป็น Supply ที่เข้ามาใหม่
--- ภาพรวมระดับโลกของ ‘การกระจายวัคซีน’ ---
กลไกของวัคซีนในระดับโลกมีอยู่ด้วยกัน ๓ เสา (pillar) เสาแรกคือ กลไกด้านเทคโนโลยีการผลิต เสาถัดมาคือกลไดด้านการกระจาย
การจัดสรรไปยังประเทศต่างๆ และเสาสุดท้ายคือกลไกการสนับสนุนด้านนโยบาย ให้แต่ละประเทศเพิ่มความมุ่งมั่นในการลงทุนการผลิตให้มีวัคซีนเพิ่มมากขึ้น
นั่นจึงมาสู่โครงการโคแวกซ์ (Covax) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นกลไกการกระจายวัคซีน
ที่ช่วยเหลือให้ประเทศยากจนสามารถจัดหาและได้รับวัคซีนในราคาที่ถูก ส่วนประเทศที่ร่ำรวยก็จะต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้นตามลำดับ
นพ.ทักษพล อธิบายว่า ที่ผ่านมาการจัดซื้อวัคซีนของทุกประเทศ ยังคงเป็นลักษณะการเจรจากันเองระหว่างประเทศกับบริษัทผู้ผลิตเป็นหลัก
ส่วนวัคซีนราว ๒,๐๐๐ ล้านโด๊สของโคแวกซ์
เชื่อว่าจะเริ่มได้รับการจัดสรรจริงหลังจากเดือน ก.พ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป และไทยเองเป็นหนึ่งใน
๑๙๐ ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมด้วยเช่นกัน แต่ก็จะไม่ใช่สัดส่วนหลักในการจัดหาวัคซีนของไทย
ด้วยความต้องการเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ของทั่วโลกนี้เอง ทำให้ที่ผ่านมาในบางประเทศที่ร่ำรวย
ยอมลงทุนล่วงหน้าด้วยการสนับสนุนการผลิตวัคซีน ส่วนในบางประเทศที่ยากจน ก็อาจยอมให้ใช้ประเทศตนเองเป็นฐานทดลองวัคซีน
ขณะที่ประเทศไทยซึ่งอยู่ตรงกลาง ไม่สามารถทำได้ทั้งสองแบบ
เพราะเคสไม่มากพอที่จะทำการทดลอง
เช่นเดียวกับกำลังทรัพย์ที่ไม่มากพอจะไปลงทุนด้านการผลิต
สิ่งที่ไทยทำได้จึงเป็นการ “สั่งซื้อล่วงหน้า” นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไทยจะไม่ได้วัคซีนในราคาต่ำที่สุด
ในระดับโลกยังมีเรื่องของการทูตวัคซีน (vaccine
diplomat) ซึ่งบางประเทศอาจใช้วัคซีนเป็นกลไกทางการทูต
โดยนำวัคซีนที่ผลิตได้มอบให้กับประเทศต่างๆ หรือประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง
เพื่ออยากชนะใจ หรือคาดหวังในการลงทุนด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
ทว่าประเด็นปัญหาใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ คือความไม่แน่นอนของ Supply จากผู้ผลิตวัคซีนรายต่างๆ ซึ่งบางแห่งมีปัญหาจากสายการผลิตที่ทำให้วัคซีนไม่สามารถออกมาได้ตามแผน
นั่นจึงกระทบต่อเนื่องไปถึงแผนการใช้วัคซีนในหลายประเทศ
สิ่งที่น่ากังวลคือปรากฎการณ์ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่าง
ความชาตินิยมในเชิงวัคซีน (vaccine nationalism)
คือ “ประเทศฉันต้องได้ก่อน” ตัวอย่างเช่นสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการเจรจาจัดซื้อในลักษณะกลุ่มประเทศ
แต่เมื่อวัคซีนไม่เพียงพอที่จะจัดส่งให้ได้ทั้งกลุ่ม ก็อาจเกิดภาพบางประเทศสมาชิกที่อยากไปเจรจาโดยตรงกับผู้ผลิตแทน
และบริษัทผู้ผลิตก็จะยินดีเพราะยิ่งสามารถต่อรองราคาได้มากขึ้น
รวมไปถึงการเกิดปรากฎการณ์อื่นๆ เช่น การห้ามส่งออกวัคซีน การแย่งชิงวัคซีน
ที่อาจไม่ต่างจากภาพการระบาดในช่วงแรก ที่เกิดการปล้นชิงหน้ากากอนามัยหรือเครื่องช่วยหายใจ
เนื่องจากไม่สามารถจัดหามาได้ ล้วนเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมี Demand มหาศาล แต่มี Supply จำกัด
ผู้คนจึงทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา ยังไม่รวมไปถึงปรากฎการณ์ของวัคซีนปลอม
วัคซีนไม่ได้มาตรฐาน หรือกระทั่งการลักลอบขายออนไลน์ เป็นต้น
--- หนทางก้าวเดินเพื่อสร้างความเป็นธรรม ---
ด้านหนึ่งที่ถูกทำให้เห็นจากโควิด-19 คือมิติของความสมัครสมาน การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) เพราะที่ผ่านมามีสิ่งที่ตอกย้ำเราอยู่ว่า “No one is safe until
everyone is safe” นั่นคือจะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย
คุณหมอทักษพล บอกว่า ไอเดียนี้เป็นที่เข้าใจของคนในสังคมมากขึ้น ผู้คนจึงยอมรับได้ว่าการจะให้วัคซีนใครก่อน
ก็ต้องเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงที่สุด เพราะไม่ว่าอย่างไรเราก็จะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นด้วย
ฉะนั้น เมื่อเราเชื่อว่าทุกคนควรจะต้องได้รับวัคซีน เราก็ไม่อาจละเลยกลุ่มอื่นๆ
ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ
หรือแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย อันเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม
ผ่านกลไกต่างๆ ที่มี ซึ่งในที่สุดแล้ววัคซีนไม่ใช่เรื่องของการรักษา แต่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพในองค์รวม
และจังหวะของสงครามโรคระบาดเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องลงทุน
“เราอยู่ในขั้นแรกขององค์ความรู้ ขั้นแรกความต้องการวัคซีนชนิดนี้
และเราจะต้องเรียนรู้ต่อไปอีก เพื่อวางแผนการฉีดให้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่วัคซีนนี้ก็ไม่ใช่ทางออกเดียว
หรือเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จะทำให้ทุกคนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้
เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ยังคงห้ามประมาท และต้องอยู่ร่วมกันโรคไปอีกนาน
นี่คือสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับสังคม ในยุคที่การสื่อสารเต็มไปด้วยความซับซ้อน
จากข้อมูลที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ”
ทั้งนี้ ประเทศไทยอาจไม่มีความน่าเป็นห่วงในแง่ของการกระจายวัคซีน ด้วยระบบสุขภาพที่ค่อนข้างแข็งแรง
มีหน่วยบริการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุม แต่สิ่งที่จะต้องมุ่งเน้นคือการพัฒนาระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน
เพื่อให้เรารับรู้และติดตามประเมินผลการฉีดได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับองค์ความรู้ที่จะต้องส่งผ่านไปยังประชาชน และผู้คนในทุกระดับของสังคมเพื่อเข้าใจถึงวัคซีนชนิดนี้ให้ถูกต้อง
ภารกิจนี้เองที่บทบาทของชุมชนจะเข้ามาช่วยได้มาก ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจของสังคม
ผ่านโครงสร้างผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
ที่มีความแข็งแกร่ง เพื่อรับรู้ร่วมกันว่ายิ่งเรามีการฉีดวัคซีนได้เร็ว
เราก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาได้เร็ว และการบริหารจัดการกับโรคก็จะง่ายขึ้น
เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคมที่ต้องเหนือสิ่งอื่นใด
สุดท้ายคือบทเรียนของประเทศ ต่อการจัดการโรคระบาดในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยาและวัคซีนของประเทศ
ซึ่งในช่วงหนึ่งเราเคยให้ความสำคัญน้อยลง ด้วยเชื่อว่าการซื้อจากต่างประเทศนั้น ถูกกว่าการผลิตเอง
แต่จุดเปลี่ยนจากโรคระบาดนี้ คือจังหวะที่ดีที่เราจะใช้ให้เป็นโอกาสในการลงทุนสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ
“ประเทศไทยเรามีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอยู่มาก
แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญและทิ้งจนขาดช่วงมานาน
แต่ทุกคนได้เห็นแล้วว่าในที่สุดเราก็จะมีการระบาดครั้งใหม่
มีเชื้อโรคใหม่เข้ามาอีก หากเราไม่มีกำลังการผลิตเป็นของตัวเองเลยก็จะเกิดปัญหาได้
ดังนั้นเราจึงต้องลงทุนเพิ่ม คิดเหมือนการซื้อปืนให้ทหาร ถึงมีไว้แล้วไม่ได้ใช้ก็ไม่เป็นไร
แต่เมื่อในวิกฤติการณ์เช่นนี้ เราจะรับมือกับมันได้” นพ.ทักษพล ระบุ