'สถาบันมะเร็งแห่งชาติ' ย้ำจุดยืน ต่อต้านการใช้ 3 สารเคมีเกษตร ชี้ไม่มีใครรับรองความปลอดภัย ยังก่ออันตรายได้นอกจากมะเร็ง
18 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ย้ำจุดยืนเดิมร่วมต่อต้านการใช้สารพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ชี้งานวิจัยที่เชื่อถือได้จำนวนมากแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งกับสารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดนี้


นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นองค์กรด้านสุขภาพระดับชาติ ขอยืนยันจุดยืนเดิมในการร่วมต่อต้านการใช้สารพาราควอต สารไกลโฟเซต และสารคลอร์ไพริฟอส ตามที่เคยได้ประกาศและรณรงค์ร่วมกับหน่วยงานสุขภาพอื่นๆ มาก่อนหน้านี้

นพ.สกานต์ กล่าวว่า มีข้อมูลจากงานวิจัยที่เชื่อถือได้จำนวนมาก แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของการเกิดมะเร็งกับสารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ แม้จะยังไม่ชัดเจนพอที่องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติจะจัดให้สารทั้ง 3 ชนิดอยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็ง เพราะงานวิจัยด้านนี้สามารถทำในสัตว์ทดลอง แต่ไม่สามารถทดลองในคน โดยให้คนรับสารกลุ่มนี้เข้าสู่ร่างกายแล้วติดตามผลระยะยาวได้

ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าอันตรายต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ จึงต้องใช้การติดตามสังเกตุจากผู้ใช้จริง และต้องใช้ระยะเวลาติดตามนานหลายปี ซึ่งระหว่างติดตามมักจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาก ที่ส่งผลต่อสุขภาพและการเกิดโรคมะเร็งทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่ชัดเจน

"ยังไม่มีองค์กรใดออกมารับรองความปลอดภัยว่าสารทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่นเดียวกับในกรณีขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ ที่สรุปว่าสารไกลโฟเซตไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งในมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหาร แต่ก็ไม่ได้สรุปว่าจะไม่เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งผ่านการสัมผัสทางอื่นๆ นอกจากนี้สารทั้ง 3 ชนิดยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงได้นอกเหนือจากความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง" นพ.สกานต์ ระบุ

สำหรับการเปิดเผยดังกล่าว เนื่องจากกรณีที่มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการเกิดโรคมะเร็งกับสารกำจัดศัตรูพืช โดยอ้างข้อมูลจากผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผ่านสื่อแห่งหนึ่ง แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลเพียงบางส่วนซึ่งไม่ครบถ้วน และยังมีข้อมูลสำคัญด้านอื่นที่ไม่ได้ถูกนำมาเสนอ

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชี้แจงว่าได้มีการให้ข้อมูลจริง ซึ่งต่อมาได้มีการนำข้อมูลบางส่วนมาตีพิมพ์ทางสื่อดังกล่าว ดังนี้ “องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer: IARC) ยังไม่ได้จัดให้สารพาราควอตอยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็ง เนื่องจากข้อมูลสนับสนุนการก่อให้เกิดมะเร็งยังไม่เพียงพอ สำหรับไกลโฟเซต องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ ได้จัดไกลโฟเซตอยู่ในกลุ่ม 2A คืออาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์โดยเฉพาะบุคคลที่ประกอบอาชีพจากการสัมผัสสารนี้เป็นประจำ อย่างไรก็ตามได้มีรายงานร่วมจากองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติในปี ค.ศ.2016 สรุปว่าสารไกลโฟเซตไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งในมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหาร ส่วนคลอร์ไฟริฟอส องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ ยังไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็ง เนื่องจากข้อมูลสนับสนุนการก่อให้เกิดมะเร็งนั้นยังไม่เพียงพอ” โดยระบุว่าเป็นคำตอบของ นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ 

ในส่วนข้อมูลด้านอื่นที่ไม่ได้ถูกนำเสนอ เช่น งานวิจัยในสหรัฐอเมริกา ในประชากร 57,311 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรพบว่า ผู้ที่เคยใช้สารพาราควอตอาจมีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยใช้สารพาราควอต อย่างไรก็ตามปัจจัยการเกิดโรคมะเร็งนั้นมีหลายประการจึงยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าสารพาราควอตเป็นสารก่อมะเร็ง ส่วนสารไกลโฟเซตมีการศึกษาด้านพิษวิทยาที่แสดงให้เห็นว่าสามารถทำลายดีเอ็นเอซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง นอกจากนี้ข้อมูลวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าหากได้รับหรือสัมผัสสารไกลโฟเซตเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไต มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านม แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจากการติดตามในมนุษย์

ส่วนคลอร์ไพริฟอสมีการศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ที่มีการสัมผัสสารคลอร์ไพริฟอสเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าคลอร์ไพริฟอสเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากให้สูงขึ้นในกลุ่มประชากรที่มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) จึงได้ประกาศให้หยุดใช้สารคลอร์ไพริฟอสในอาหารทุกชนิดเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในเด็กและผู้ปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรม เป็นต้น