เวทีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ระดับท้องถิ่น
2 ตุลาคม 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

2 ตุลาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) จัดเวทีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ระดับท้องถิ่น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม.

โดยได้รับเกียรติจาก นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานกรรมการประสานและพัฒนา ระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง แนวคิดและทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนบริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ระดับท้องถิ่น  และ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา  กล่าวเปิดงาน 

สำหรับการจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน ได้แก่ ทันตแพทยสภา, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย,  สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

โดยภารกิจหลักเกี่ยวกับการพัฒนาและขับเคลื่อนรถทันตกรรมเคลื่อนที่ที่หน่วยงานทุกฝ่ายตกลงร่วมกัน 2 ประการสำคัญ ได้แก่  

(1) งานศึกษาวิจัยการออกแบบพัฒนารถทันตกรรมเคลื่อนที่ และรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบพัฒนารถทันตกรรมเคลื่อนที่และรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไฟฟ้า เช่น ความคุ้มค่า ความเสี่ยง ประสิทธิภาพ การดูแลบำรุงรักษา การบริหารจัดการ งบประมาณ ประโยชน์ที่หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่จะได้รับ ตลอดจนภารกิจหน้าที่และอำนาจของท้องถิ่น และพัฒนาเป็นคู่มือแนวทางปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของผู้บริหารหน่วยงาน สู่การกำหนดเป็นนโยบายหรือแผนงานออกแบบพัฒนาและขับเคลื่อนรถทันตกรรมเคลื่อนที่ไฟฟ้าระดับพื้นที่ 

(2) งานพัฒนาและขับเคลื่อนรถทันตกรรมเคลื่อนที่ระดับท้องถิ่น สร้างความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาและขับเคลื่อนรถทันตกรรมเคลื่อนที่ในระดับท้องถิ่น และให้มีการบรรจุเรื่องการพัฒนารถทันตกรรมเคลื่อนที่ รวมทั้งการให้บริการทันตกรรมไว้ในแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ โดยมีการจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ท้องถิ่นนำไปปฏิบัติงานได้อย่างมีมาตรฐาน สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่และอำนาจของท้องถิ่น เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง สามารถเข้าถึงงานบริการด้านทันตกรรมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม