ภาคีสุขภาพจ่อคลอดกฎเหล็กจำกัดปฏิสัมพันธ์ ‘รัฐ-บริษัทยาสูบ’ ป้องกันแทรกแซงนโยบาย16 ตุลาคม 2567
สช.-ภาคี จัดเวทีหารือแนวทางการดำเนินงานตาม “มาตรา 5.3 กรอบอนุสัญญา WHO FCTC” ป้องกันการแทรกแซงจากบริษัทบุหรี่ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย-การดำเนินงานควบคุมยาสูบ พร้อมผลักดัน (ร่าง) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อควบคุม-จำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับอุตสาหกรรมบุหรี่ สอดคล้องตามมติสมัชชาสุขภาพฯ ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมปรึกษาหารือสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นการปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า เรื่องแนวทางการดำเนินงานตาม มาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 5.3 ของ WHO FCTC โดยมี ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เป็นประธานการประชุม
ศ.พญ.สุวรรณา เปิดเผยว่า ตามมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ที่ได้รับฉันทมติเห็นชอบร่วมกันจากภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ได้มีสาระสำคัญข้อหนึ่งที่ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ นําแนวปฏิบัติตามมาตรา 5.3 ของ WHO FCTC มาดำเนินการออกกฎหมาย ระเบียบ หรือแนวปฏิบัติเพื่อการป้องกันการแทรกแซงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จากอุตสาหกรรมยาสูบในทุกระดับ เพื่อให้การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประสิทธิภาพ
“ประเทศไทยเองได้ร่วมลงนามรับรองตามกรอบอนุสัญญา WHO FCTC นี้มาตั้งแต่ปี 2546 มาถึงวันนี้เรื่องของบริบท ความเข้าใจอะไรต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงการเข้ามาของภัยคุกคามใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นโอกาสที่เราจะมาร่วมกันทำความเข้าใจ และทำให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต่อไป” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว