นโยบายอัพเกรด ‘กำลังคน 3 กลุ่ม’ ‘บุคลากรวิชาชีพ-อาสาสมัคร-ประชาชน’ สร้างสุขภาพดี-สร้างเศรษฐกิจได้
24 ตุลาคม 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบกรอบทิศทางนโยบาย “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” เพิ่มศักยภาพคน 3 กลุ่ม บุคลากรวิชาชีพ พัฒนาการผลิต-การจ้างงาน-การกระจายตัว บุคลากรนอกวิชาชีพ เพิ่มมาตรฐาน พัฒนาทักษะที่จำเป็น ประชาชน ดูแลตัวเอง ลดปัจจัยสุขภาพทางลบ พร้อมเข้าสู่การรับรองในงาน “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17” วันที่ 27-28 พ.ย. นี้ ด้าน นพ.สุเทพหวังนโยบายสาธารณะฯ สร้างสมดุล Wealth กับ Health สร้างสุขภาพดี-สร้างเศรษฐกิจได้

 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” โดยสมาชิกสมัชชาสุขภาพกว่า 300 ชีวิต ที่เข้าร่วมผ่านทาง on-site และ online ได้ร่วมกันพิจารณากรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ของระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” ก่อนจะให้ความเห็นชอบอย่างเป็นฉันทมติโดยพร้อมเพรียง ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการนำ Policy Statement เข้าสู่การรับรอง และการกล่าวถ้อยแถลงของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) คือเศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” เพื่อขับเคลื่อนในประเด็นนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม

สำหรับ Policy Statement ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกําลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” ที่ผ่านความเห็นชอบ ระบุถึงการมุ่งพัฒนากําลังคนเพื่อสุขภาพแนวใหม่ โดยสร้างศักยภาพประชาชน พร้อมจัดการกําลังคนทั้งวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ ให้มีศักยภาพที่เพียงพอและเหมาะสม โดยมีสาระสำคัญประกอบกรอบทิศทางนโยบาย ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนาศักยภาพประชาชนอย่างจริงจัง สร้างบทบาทของประชาชนในทุกช่วงวัย ให้เกิดความเข้าใจ รอบรู้ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลสุขภาพตนเองและคนรอบตัวในเบื้องต้นได้ ลดการพึ่งพาระบบบริการสุขภาพ

2. ยกระดับการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ ให้ตอบโจทย์ระบบสุขภาพปฐมภูมิรวมถึงความท้าทายใหม่ได้ ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลายและบูรณาการการเรียนรู้และการทำงาน โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ในระหว่างการผลิตกำลังคน 3. ส่งเสริมระบบการทำงานและการจ้างงานกําลังคนเพื่อสุขภาพที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ โดยส่งเสริมให้มีรูปแบบการจ้างงานกําลังคนด้านสุขภาพที่หลากหลายและเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการจ้างงานผู้สูงอายุและกลุ่มประชากรเปราะบาง รวมถึงการจ้างงานกำลังคนนอกภาคการสาธารณสุขที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ 4. เชื่อมโยงสุขภาวะและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล ส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะและเพิ่มผลิตภาพประชากร โดยการพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ส่งเสริมสนับสนุนระบบการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีทางสุขภาพ

ศ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นบุคลากรสุขภาพแนวใหม่สู่เศรษฐกิจและสุขภาพไทยยั่งยืน เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของ กำลังคนด้านสุขภาพ คือภาพการทำงานร่วมกันเป็นทีมของคนใน 3 กลุ่ม ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ได้แก่ กลุ่มบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ ซึ่งหลายปัจจัยที่ผ่านมาไม่ว่าด้วยสังคมสูงวัย หรือสถานการณ์ปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ทำให้เราเห็นแล้วว่าต้องนำคนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มคนที่ไม่ใช่วิชาชีพ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ดูแลผู้สูงอายุ Caregiver นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เข้ามาร่วมหนุนเสริมการดูแลด้วย ไม่เช่นนั้นกำลังบุคลากรสุขภาพก็จะไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ นโยบายสาธารณะประเด็นนี้ยังมองไปถึงกลุ่มที่สาม คือกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ต้องเข้ามาเป็นกำลังคนด้านสุขภาพ ด้วยการมีความรอบรู้ ความเข้าใจ ที่สามารถดูแลตนเองรวมทั้งคนรอบข้าง และสามารถขยายต่อไปยังชุมชน สังคมได้ ดังนั้นกำลังคนด้านสุขภาพจึงยังมีมิติใหม่ๆ ที่สามารถมาช่วยกันคิดและหาทางทำให้เกิดเป็นสังคมสุขภาวะ ภายใต้ฐานของการพัฒนา System Based Health Professional Development

“ในการสร้างสังคมสุขภาวะ เราจึงกำลังมองในแง่ที่ทุกคนจะเข้ามามีส่วนเป็นกำลังคนด้านสุขภาพ ด้วยหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับบุคลากรวิชาชีพก็อาจไปพัฒนาเรื่องของการผลิต การกระจาย การจ้างงานที่เหมาะสม บุคลากรนอกวิชาชีพก็มีการไปเพิ่มมาตรฐาน เสริมทักษะที่จำเป็น ส่วนประชาชนทั่วไปอย่างน้อยคืออาจไม่เป็นส่วนที่ร่วมสร้างปัจจัยลบทางสุขภาพ โดยมีการดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหาร จัดการอารมณ์ ฯลฯ เท่านี้ก็จะมีส่วนช่วยได้มาก” ศ.วิจารณ์ กล่าว

นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า ในวันนี้นิยามของกำลังคนด้านสุขภาพกว้างขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการที่ทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมดูแลสุขภาพ บนพื้นฐานสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่จะช่วยให้บริการสุขภาพสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว

สำหรับการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องนี้ ได้ผ่านกระบวนการคิดและพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 5-6 เดือน ก่อนที่จะได้ออกเป็นข้อเสนอที่ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพให้ฉันทมติร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งหลังจากนี้จะนำเอาทุกความคิดเห็นและข้อเสนอที่ได้จากภาคส่วนต่างๆ เข้าไปปรับเนื้อหาสาระให้มีความชัดเจนและกระชับมากขึ้น ก่อนที่จะนำไปรับรองร่วมกันในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ต่อไป

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมภายในเวทีได้มีการแลกเปลี่ยน รวมถึงให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดึงบทบาทจากบุคลากรวิชาชีพที่เกษียณไปแล้ว กลับมามีส่วนร่วมในการดูแลระบบสุขภาพ, การสร้างให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กับสถาบันการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพที่มีความจำเป็น เข้ามาหนุนเสริมเติมเต็มการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตลอดจนการกล่าวถึงบทบาทของอาชีพอื่นๆ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพได้ เช่น ศิลปิน ที่ใช้ศิลปะบำบัดหรือสร้างงานศิลปะภายในโรงพยาบาล เป็นต้น

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นกลไกการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 17 ปี ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกัน โดยปีนี้ได้มีประเด็นสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาวะ หรือการเดินหน้า Wealth กับ Health ที่ควบคู่ไปด้วยกัน เพราะสิ่งที่ประเทศชาติกำลังต้องการตอนนี้คือการทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจที่ดีได้ด้วย

นพ.สุเทพ กล่าวว่า การให้ฉันทมติสมัชชาสุขภาพร่วมกันนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอหรือตัวหนังสือเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญยังเป็นการคิดต่อไปถึงการขับเคลื่อนให้บรรลุผลออกมาได้เป็นรูปธรรม หรือเรียกว่าเป็นนโยบายที่กินได้ ซึ่งกระบวนการสมัชชาสุขภาพนั้นได้สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมาตั้งแต่ต้น บนการสังเคราะห์ความรู้ทางวิชาการ จนออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุม คสช. ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้ความเห็นชอบ ก่อนที่เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อมีผลผูกพันไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินการต่อไป