รพ.สต.ถ่ายโอน อบจ.ลำปาง ใช้ Telemedicine ยกระดับบริการ ช่วยผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางพื้นที่ห่างไกลได้จริง
25 ตุลาคม 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช. ผนึก อบจ.ลำปาง และภาคีเครือข่าย จัดเวทีถอดบทเรียนโครงการวิจัยปรับใช้นวัตกรรมโทรเวชกรรม ยกระดับบริการสุขภาพของ รพ.สต.ถ่ายโอน ด้านตัวแทน รพ. - รพ.สต. - อสม. – สสจ. - สสอ. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมสะท้อนความคิดเห็น-ข้อเสนอ วอนปลดล็อกการเชื่อมโยงข้อมูลและบริการระหว่างหน่วยงาน ลดขั้นตอน-เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อประโยชน์ประชาชน

 

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียน โครงการการปรับใช้นวัตกรรมผสมผสานระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) สู่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เพื่อคืนข้อมูล สรุปบทเรียน และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปรับใช้นวัตกรรมผสมผสานระบบ Telemedicine ในพื้นที่ จ.ลำปาง ต่อไป

นพ.ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการถอดบทเรียนในโครงการวิจัย ที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สช. กับ อบจ.ลำปาง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง (วพบ.นครลำปาง) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง (สสจ.ลำปาง) และภาคีเครือข่ายอีกหลายภาคส่วน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนข้อมูลแก่คณะวิจัย

สำหรับโครงการวิจัยดังกล่าว ทางคณะวิจัยและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดำเนินการเก็บข้อมูลมาเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ถึงบทเรียนการใช้งานระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นำร่อง จำนวน 10 แห่งที่มีการถ่ายโอนภารกิจมาอยู่กับ อบจ.ลำปาง และอีก 1 แห่งที่อยู่กับสังกัดเดิมคือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อที่จะนำมาสู่การสร้างรูปแบบการให้บริการทางสุขภาพทางไกล ที่จะตอบสนองต่อชีวิตของพี่น้องประชาชนในทุกระดับต่อไปในอนาคต

นพ.ไชยนันท์ กล่าวว่า อบจ.ลำปาง มีความมุ่งหวังที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาทางไกล
ได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าประชาชนจะอยู่ที่ไหนในพื้นที่ จ.ลำปาง ซึ่งขณะนี้ความก้าวหน้าของกระบวนการในโครงการวิจัย ได้พัฒนามาสู่ขั้นตอนของการส่งคืนข้อมูลเพื่อสรุปบทเรียนการทำงาน อันจะนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการนำระบบ
Telemedicine มาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแม้ในวันนี้อาจจะยังมีข้อจำกัดเรื่องของระบบการเบิกจ่าย ที่อาจยังไม่ได้สนับสนุนระบบ Telemedicine ได้อย่างเต็มที่ แต่ อบจ.ลำปาง จะยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าต่อไปจนกว่าระบบต่างๆ จะมีความพร้อมและทำได้ครบถ้วนในทุกขั้นตอน

เราคาดหวังว่าจะสามารถนำระบบ Telemedicine มาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่เฉพาะแค่ใช้เพื่อการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ทาง อบจ.ลำปาง ยังมองไปถึงเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ การปรึกษาเรื่องเภสัชกรรม กายภาพบำบัด หรือเพื่อสนับสนุนระบบ Long–term care ฯลฯ เพราะเรามองว่าระบบ Telemedicine คือสิ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการเดินทางและลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ระบบนี้จึงเป็นสิ่งที่จะเป็นความหวังในการให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพในอนาคต” นพ.ไชยนันท์ กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา ที่ปรึกษาโครงการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในตอนนี้ สปสช. มีระบบการเบิกจ่ายที่จะสนับสนุนระบบ Telemedicine เบื้องต้น โดยมีหลักการคือต้องมีการลงทะเบียนผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เพื่อที่จะสามารถดำเนินการติดตามอาการของผู้ป่วยได้ผ่านระบบ Telemedicine แต่ทั้งนี้จะต้องดำเนินการผ่านหน่วยบริการสุขภาพ ที่มีการลงทะเบียนกับ สปสช. เช่นกัน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ประเด็นถัดมาคือเรื่องการจ่ายตามรายการบริการที่กำหนด (Fee Schedule) ที่กำหนดให้ รพ.สต. สามารถเบิกค่าบริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) จาก สปสช. ได้โดยตรง เหล่านี้คือสิ่งที่จะทำให้ รพ.สต. มีเงินงบประมาณเข้ามาสนับสนุนการทำงานได้มากยิ่งขึ้น และประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของค่าจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ให้แก่ผู้ป่วยโรค NCDs ด้วยระบบบริการส่งด่วนให้แก่ผู้ป่วยที่บ้าน โดย Health Rider ทั้งที่เป็น อสม. หรือบุคคลอื่น โดย สปสช. จะสนับสนุนในอัตรา 50 บาทต่อครั้ง ซึ่งจะจัดสรรงบประมาณไปยัง รพ.สต. ให้บริหารจัดการต่อไป

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูล สช. กล่าวว่า จากประสบการณ์ใช้งาน Telemedicine พบปัญหาเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลและการแบ่งปันการใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกัน ถึงแม้ระบบ Telemedicine จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการการรักษากับแพทย์ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล แต่จากการหารือร่วมกันพบว่า ข้อมูลการคัดกรองและการตรวจรักษาที่มีการบันทึกผ่านระบบ Telemedicine นั้น ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับโปรแกรมJHCIS ของ รพ.สต.

นอกจากนั้น แพทย์ผู้ตรวจจากโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งมีการบันทึกข้อมูลการตรวจรักษาผ่านโปรแกรม HOSXP ของโรงพยาบาลแม่ข่าย ทำให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ต้องมาบันทึกข้อมูลผู้ป่วยซ้ำอีกครั้งในโปรแกรม JHCIS ของ รพ.สต.

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภญ.เนตรนภิสเสนอให้ทีมวิจัยฝ่ายเทคโนโลยีนำข้อมูลของผู้ป่วยที่อยู่ในระบบ Telemedicine กับข้อมูลที่ส่งมาจากโปรแกรม JHCIS เข้าสู่ระบบคลาวด์ของ อบจ.และทำการเชื่อมต่อข้อมูลทั้ง 2 ส่วนเพื่อลดภาระการคีย์ข้อมูลซ้ำ จากนั้นให้เชื่อมโยงกลับมาปรับปรุงโปรแกรม JHCIS ที่ รพ.สต.อีกครั้งหนึ่ง โดยมีการกำหนดรอบของการทำงานของการเชื่อมโยงที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านการใช้งาน Telemedicine ไประยะหนึ่ง ฐานข้อมูลที่มีอยู่ในระบบคลาวด์จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้ทาง อบจ.ลำปาง ตระเตรียมการเช่าพื้นที่คลาวน์สำหรับระบบงานดังกล่าวให้เพียงพอและเสนอให้ทำหนังสือเพื่ออนุญาตการเข้าถึงข้อมูลการให้บริการและใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันในการจัดบริการอย่างมีประสิทธิภาพระหว่าง รพ.สต.ถ่ายโอน ซึ่งอยู่ในสังกัดของ อบจ. กับโรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของ สธ.

ในอนาคต หากมีการขยายงานไปยัง รพ.สต. แห่งอื่น ควรทบทวนเรื่องมาตรฐานข้อมูลการให้บริการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เกิดการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบข้อมูลที่ดีและเกิดฐานข้อมูลที่มีคุณภาพ สามารถนำไปพัฒนารายงาน Dashboard สำหรับผู้บริหารอย่างต่อเนื่องต่อไป

ขณะที่ นายธวัช เสียงดี ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านวังใหม่ กล่าวว่า รพ.สต.บ้านวังใหม่ มีความสนใจที่จะสมัครเข้าร่วมเป็นพื้นที่นำร่องของโครงการวิจัยฯ เพราะประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประสบปัญหาความยากจน คนรุ่นใหม่มักออกไปประกอบอาชีพนอกชุมชน ส่งผลให้ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต้องอาศัยอยู่ในครัวเรือนเพียงลำพัง บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยไม่ไปพบแพทย์ตามนัดหมาย เพระไม่มีเงินค่าเดินทาง อีกทั้งลักษณะโครงสร้างประชากรในพื้นที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จึงส่งผลให้มีผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาใดๆ

นายธวัช กล่าวว่า เมื่อทางคณะวิจัยได้นำระบบ Telemedicine เข้ามาทดลองใช้งานในพื้นที่ พบว่าประชากรกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs รู้สึกพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะช่วยลดภาระในการเดินทาง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปเพราะไม่ได้ไปทำงานรับจ้างรายวัน อย่างไรก็ตามแม้ระบบ Telemedicine จะยังไม่สามารถใช้ได้กับหลายบริการ แต่อย่างน้อยผู้ป่วยก็ยังมีโอกาสในการขอรับคำปรึกษาการดูแลสุขภาพตนเองในเบื้องต้น โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลด้วยตนเอง

“ส่วนตัวมองว่าระบบ Telemedicine มีประโยชน์อย่างมากต่อประชาชน และควรจะมีการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs รวมไปถึงการนำไปปรับใช้กับงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ซึ่งทาง รพ.สต. เราจะผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชนต่อไป แม้ว่าโครงการวิจัยฯ จะสิ้นสุดลง แต่ระบบบริการที่ได้วางรากฐานไว้แล้วจะต้องดำเนินการต่อไป” นายธวัช กล่าว

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และที่ปรึกษาศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ สช. กล่าวว่า ระบบ Telemedicine ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้ ถือว่าเป็นผลงานของทุกคนที่ได้ร่วมกันสานพลังสร้างระบบดังกล่าวขึ้นมา และช่วยกันเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนระบบ ให้ยั่งยืน โดยทางคณะทำงานโครงการฯ จะนำประเด็นเหล่านี้เสนอไปยังนายก อบจ.ลำปาง และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องต่อไป

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโปรแกรม เพื่อที่จะลดความซ้ำซ้อนในการทำงานของเจ้าหน้าที่ รพ.สต. รวมไปถึงการขยายผล ไปยัง รพ.สต. อื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง รวมไปถึงการขยายกลุ่มเป้าหมาย จากผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs ไปยังผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ตลอดจนการจัดบริการให้ความรู้ การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้มากขึ้น           ส่วนข้อจำกัดต่างๆ รวมไปถึงการเพิ่มฟังก์ชันในการใช้งานต่างๆ ในตัวระบบ Telemedicine ทางคณะผู้วิจัยจะรับไปดำเนินการพัฒนาต่อไป

ท่ามกลางโลกที่หมุนไปและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าระบบเทคโนโลยีจะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนารูปแบบใหม่ๆ อย่างมีนัยสำคัญในแง่ใดอีกบ้าง แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราได้เรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาระบบ Telemedicine ขึ้นมานี้ จะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เรารับมือกับระบบหรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่ใช้ในการดูแลประชาชนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นในอนาคตนพ.ปรีดา กล่าวทิ้งท้าย