เสนอ ‘บริษัทประกันเอกชน’ เพิ่มทางเลือกให้ ‘ผู้ป่วยระยะท้าย’ ผู้ปฏิเสธการรักษาที่เพียงยื้อเวลา ควรได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ
คงไม่เกินความเป็นจริงสักเท่าใดนัก หากจะพูดว่า การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือถนนที่ทอดยาวไปสู่ “การตายดี” อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
การดูแลแบบประคับประคอง สัมพันธ์กับการใช้สิทธิ “ปฏิเสธการรักษาที่เป็นไปเพื่อยื้อชีวิต” ตามมาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็น “ทางเลือก” ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ต้องออกเดินทางไกลไปพร้อมกับสายระโยงระยาง หรือในสถานที่ที่ตัวเองไม่คุ้นชินอย่างโรงพยาบาล
การกลับมาดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน อยู่ท่ามกลางคนที่รักอย่างอบอุ่น ปลดเปลื้องความทุกข์และสิ่งค้างคาใจ นั่นคือการดูแลแบบประคับประคอง
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้มาเป็นเวลาราว 15 ปี ประเด็นเรื่องการตายดีและสิทธิมาตรา 12 ยังคงมุ่งเน้นไปที่การสร้างรับรู้และการรณรงค์เป็นหลัก
หากแต่ในมุมมองของ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงษ์ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เล็งเห็นว่า “บริษัทประกันเอกชน” จะเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อยกระดับการรับรู้และการใช้สิทธิในเรื่องนี้
“สมมติถ้าหมอบอกผมเป็นมะเร็ง มีเวลาเหลืออยู่ได้อีกไม่กี่เดือน ถึงรักษาไปก็อาจต้องใช้ค่าใช้จ่ายเต็มวงเงินประกันโดยที่โรคอาจไม่หายอยู่ดี จะมีสิทธิที่ให้ผมนำเอาโควต้าค่ารักษาพยาบาลนั้นไปทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น ให้ผมเอาไปเที่ยวต่างประเทศได้หรือไม่”
“แต่ถ้าเกิดว่าผมซื้อประกันรักษามะเร็งวงเงิน 50 ล้านบาท หากถึงคราวจำเป็นแล้ว จะเป็นไปได้ไหมถ้าผมจะขอไม่รับการรักษา แต่ขอโควต้ามาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเอ็นเตอร์เทนให้ผมสัก 10 ล้านพอ ผมก็ไปทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น ท่องเที่ยว ไปต่างประเทศ ที่เป็นการใช้ชีวิตในบั้นปลาย แต่ไม่ได้หมายถึงให้ทำได้ทุกอย่าง จะเอาเงินไปใช้เพื่อกินเหล้าเมายาอะไรก็ได้ แต่คงต้องเป็นอะไรที่แพทย์รองรับว่าไปได้ และก็ไม่แน่เช่นกันว่าเมื่อสภาพจิตใจดีขึ้น การเจ็บป่วยทางกายก็อาจดีขึ้นไปได้”
กองบรรณาธิการนิตยสารสานพลัง ขอเชิญชวนทุกท่านอ่านบทสัมภาษณ์บรรทัดถัดจากนี้ เพื่อขยายมุมมองและร่วมขับเคลื่อนสิทธิตามมาตรา 12 ไปพร้อมกัน
ต้องสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้ง ‘แพทย์-ผู้ป่วย’
ศ.พิเศษ กิติพงศ์ บอกว่า การรณรงค์ในเรื่องของหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือ Living Will นั้นยังถือว่าไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร ด้วยความรับรู้ของประชาชนที่ยังมีน้อย ประกอบกับความเข้าใจของแพทย์ส่วนใหญ่ที่อาจยังไม่ค่อยมีแนวคิดสนับสนุนเท่าไรนัก
ศ.พิเศษ กิติพงศ์ ระบุว่า แม้ในช่วงระยะ 4-5 ปีหลัง ที่ชีวามิตรได้มีโอกาสเข้ามาขับเคลื่อนประเด็นในเรื่องนี้ จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น เช่น การมี Living Will ให้ผู้ป่วยกรอกได้ในโรงพยาบาลเกือบทุกแห่ง แต่ก็ยังเป็นกรณีเฉพาะที่ผู้ป่วยร้องขอเท่านั้น หากผู้ป่วยไม่ร้องขอ ทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้บอกกล่าวในเรื่องนี้
“ความจริงแล้ว Living Will ควรแนบอยู่ในเวชระเบียนประวัติผู้ป่วยทุกคน ไม่ใช่ต้องรอให้ป่วยเป็นโรคหนักก่อน ฉะนั้นแม้การทำงานจะรู้สึกว่าคืบหน้าไปเยอะ แต่เรายังไม่เคยมีการสำรวจว่าจริงๆ แล้วมีอัตราส่วนคนทำ Living Will เท่าไรกันแน่” เขาระบุ
ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่ “ศ.พิเศษ กิติพงศ์” อยากให้มีการเดินหน้าต่อ คือการเดินหน้าสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ให้เรื่องการวางแผนในวาระสุดท้ายของชีวิตกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถหยิบยกขึ้นมาพูดถึงได้อย่างเป็นปกติ เพราะไม่ว่าใครก็ตามสักวันก็ต้องจากไป หากแต่ในช่วงวาระสุดท้ายที่ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้แล้วจะมีการจัดการในมิติต่างๆ ให้เป็นไปอย่างไร
สำหรับประเด็นการรับรู้ “ศ.พิเศษ กิติพงศ์” เชื่อว่า สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร หรือแม้แต่การสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรจะต้องสื่อในเรื่องการเตรียมตัวจากไปของคนที่เรารักให้กลายเป็นภาพปกติ และไม่ใช่เพียงแค่การปฏิเสธการรักษาที่เป็นไปเพื่อยื้อชีวิต หากแต่ยังเป็นการจัดการเรื่องที่ยังค้างคาใจ การบริจาคอวัยวะ หรือการจัดการงานศพต่างๆ โดยที่ให้คนยอมรับการทำ Living Will ไว้ให้มากขึ้น
ในอีกด้านหนึ่งคือฝั่งของสถาบันการศึกษา หรือโรงเรียนแพทย์ ที่จะต้องมีหลักสูตรเหล่านี้ให้แพทย์ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ มีสมดุลความพอดีระหว่างการรักษาที่ต้องการให้ผู้ป่วยรอดชีวิต กับการรักษาที่เกินความจำเป็น เพราะแพทย์จะเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญในการที่จะทำให้ผู้ป่วยหรือญาติตัดสินใจ
“เคยได้ยินว่า KPI บางโรงพยาบาล นำการเสียชีวิตของคนไข้เข้ามาเป็นตัวชี้วัด ถ้าเอาระบบการดูแลแบบประคับประคองมาใช้ก็อาจทำให้ KPI ดูแย่ลง เพราะคนไข้ตายเยอะขึ้น ฉะนั้นการบูรณาการให้ความรู้เรื่องนี้จึงสำคัญ ทั้งความรู้ของแพทย์ บุคลากร เจ้าหน้าที่ รวมทั้งภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ที่จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ลุ่มลึกด้วยเช่นกัน” เขาอธิบาย
ขณะเดียวกันยังมีบทบาทจากภาคประชาสังคม ที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ควบคู่กับบทบาทภาคประชาชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนสถาบันศาสนา ที่ทางพุทธศาสนาเองก็มีการพูดถึงการตายที่เป็นเรื่องปกติ จึงเชื่อว่าถ้าบูรณาการความรู้เรื่องเหล่านี้มากขึ้น จะไม่มีใครปฏิเสธถึงความจำเป็นของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) การไม่รับการรักษาที่้เกินสมควร
เช่นเดียวกับความสำคัญของงานวิจัย ที่จะศึกษาเพื่อให้เรามีข้อมูลได้ว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยติดเตียงกี่ราย เป็นลักษณะใด มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการดูแลเท่าไร ซึ่งหากมีการรวบรวมข้อมูลออกมาแล้ว ก็จะทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น
‘ประกันเอกชน’ จุดเปลี่ยนการตายดี
เมื่อพูดถึงภาคส่วนต่างๆ “ศ.พิเศษ กิติพงศ์” มองต่อไปถึงบทบาทของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของบริษัทประกันสุขภาพและประกันชีวิต ที่ปัจจุบันยังครอบคลุมเฉพาะการดูแลรักษาในโรงพยาบาลตามระบบปกติ หากแต่กำลังมองถึงความเป็นไปได้ที่จะทำให้การเบิกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ครอบคลุมไปถึงการดูแลแบบประคับประคอง การที่ผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ด้วย
“หากทำได้นี่จะก่อคุณูปการให้กับประเทศ เพราะการให้คนไข้กลับไปดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน ก็สามารถคืนเตียงโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่จ่ายเงินซื้อประกัน ก็มั่นใจได้ว่าถ้าเขาซื้อประกันสุขภาพแล้ว เขาจะมีค่าใช้จ่ายมาใช้ในการดูแลแบบประคับประคองที่บ้านด้วย” ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตรฯ ระบุ
ฉะนั้นแทนที่จะจ่ายให้เฉพาะการอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล ประกันก็ควรให้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลที่บ้าน เช่น ค่ายา กายภาพบำบัด ตลอดจนแพทย์หรือพยาบาลที่มาดูแล โดยมีวงเงินเหมือนอยู่ในโรงพยาบาลว่าได้ไม่เกินวันละเท่าไร ซึ่งนี่เองจะเป็นอีกหนึ่งทางออกให้กับสังคมสูงอายุของไทย ที่จำนวนผู้สูงวัยที่ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงจะมีเยอะมากขึ้น
เขาสะท้อนว่า ในยุคปัจจุบันที่นอกจากจะเป็นสังคมสูงอายุแล้ว ยังมีแนวโน้มเป็นสังคมเดี่ยว ไม่มีครอบครัวกันมากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีประกันที่ให้ความคุ้มครองแบบนี้ ผู้ซื้อก็มั่นใจได้ว่าหากวันใดวันหนึ่งที่เขาล้มป่วย ชรา หรือกลายเป็นคนไร้ความสามารถ ไม่มีลูกหลานที่คอยดูแล อย่างน้อยเขามีประกันที่จะคุ้มครองและดูแลต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังมีการจ่ายเบี้ยประกันอยู่ ซึ่งก็สามารถจัดสรรเอาไว้แล้วล่วงหน้าได้
แนวคิดดังกล่าวไม่ได้หยุดอยู่ที่เพียงการดูแลแบบ Palliative Care เท่านั้น หากแต่ ศ.พิเศษ กิติพงศ์ ยังคิดไกลไปถึงประกันชีวิตในกลุ่มของการรักษาโรคร้ายแรง ซึ่งมองว่ากรมธรรม์เหล่านี้ให้วงเงินในจำนวนที่สูงเพื่อรักษาโรค เช่น มะเร็ง แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราไม่นำวงเงินนี้ไปใช้ในการรักษา หากแต่นำไปใช้ชีวิตในวาระสุดท้ายแทน
“สมมติถ้าหมอบอกผมเป็นมะเร็ง มีเวลาเหลืออยู่ได้อีกไม่กี่เดือน ถึงรักษาไปก็อาจต้องใช้ค่าใช้จ่ายเต็มวงเงินประกันโดยที่โรคอาจไม่หายอยู่ดี จะมีสิทธิที่ให้ผมนำเอาโควต้าค่ารักษาพยาบาลนั้นไปทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น ให้ผมเอาไปเที่ยวต่างประเทศได้หรือไม่” เขาอธิบายถึงภาพที่กำลังมอง
ทั้งนี้ เขาเชื่อว่าการเปิดโอกาสดังกล่าว จะช่วยให้บริษัทประกันเองไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่แพงเกินสมควร เช่น หากเป็นมะเร็งตับอ่อนที่อาจเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือน การรักษาก็ต้องใช้ยาอย่างแพง หรือถ้าใช้เครื่องช่วยชีวิตต่างๆ แล้วผู้ป่วยเกิดโคม่าไม่รู้สึกตัว แต่ยังไม่เสียชีวิต ค่าใช้จ่ายก็จะเบิกต่อไปเพราะให้วงเงินไว้แล้ว ซึ่งบริษัทประกันก็จะสูญเสียให้กับสิ่งเหล่านี้ด้วย
“แต่ถ้าเกิดว่าผมซื้อประกันรักษามะเร็งวงเงิน 50 ล้านบาท หากถึงคราวจำเป็นแล้ว จะเป็นไปได้ไหมถ้าผมจะขอไม่รับการรักษา แต่ขอโควต้ามาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเอ็นเตอร์เทนให้ผมสัก 10 ล้านพอ ผมก็ไปทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น ท่องเที่ยว ไปต่างประเทศ ที่เป็นการใช้ชีวิตในบั้นปลาย แต่ไม่ได้หมายถึงให้ทำได้ทุกอย่าง จะเอาเงินไปใช้เพื่อกินเหล้าเมายาอะไรก็ได้ แต่คงต้องเป็นอะไรที่แพทย์รองรับว่าไปได้ และก็ไม่แน่เช่นกันว่าเมื่อสภาพจิตใจดีขึ้น การเจ็บป่วยทางกายก็อาจดีขึ้นไปได้” เขาอธิบายหลักคิด
ภารกิจ ‘วิน-วิน’ ที่ต้องร่วมกันยกเป็นวาระ
ด้วยสภาพการณ์ของสังคมผู้สูงอายุ และสังคมเลี้ยงเดียว ที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาหนักในอนาคต เขาจึงสรุปว่าดังนั้นในเชิงนโยบายแล้ว การแก้ไขกฎหมาย การเขียนกรมธรรม์ประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิต อาจต้องมีการกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการดูแลระยะสุดท้าย หรือได้รับการดูแลที่บ้าน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อประกันเหล่านี้มากขึ้นตามไปด้วย
ศ.พิเศษ กิติพงศ์ มองว่า การจะผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ สิ่งสำคัญจึงเป็นการที่บริษัทประกันจะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย เนื่องมาจากสามารถที่จะขาย และมีคนจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันให้มากขึ้น เป็นในลักษณะที่วิน-วินด้วยกันทั้งคู่ ขณะที่ผู้ป่วยก็ได้รับประโยชน์ทั้งในแง่การเงิน รวมถึงในด้านจิตใจและครอบครัว ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่สำคัญและอาจคิดเป็นตัวเงินไม่ได้
ขณะเดียวกันทางรัฐบาลเองก็จะต้องยกเอาเรื่องนี้ขึ้นเป็นวาระ และหารือร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ โรงพยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย บริษัทประกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รวมถึงหน่วยงานที่จะขับเคลื่อนได้ดีที่สุด ทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อช่วยกันทำให้สำเร็จ เพราะสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและสังคมส่วนรวมต่อไป
จากการทำงานเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี ศ.พิเศษ กิติพงศ์ สรุปว่าถ้าประชาชนมีความรู้ในเรื่องนี้แล้ว โดยมีการสื่อสารที่ดีระหว่างแพทย์ ผู้ดูแล และผู้ป่วย ก็เชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนการจากไปอย่างมีคุณภาพที่ดีกับทุกคน และ สช. เองก็คือผู้ที่จะมีบทบาทหนึ่งในการเป็นส่วนขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการหารือเพื่อเดินหน้าให้เป็นจริงต่อไป
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนมีนาคม 2565