ทุกภาคส่วนเอาด้วย! ‘การท่องเที่ยวแนวใหม่’ เน้นประโยชน์ ‘ชุมชน-ท้องถิ่น’ ควบคู่อนุรักษ์ ชงสมัชชาฯ รับรองเป็นทิศทางหลักประเทศ8 พฤศจิกายน 2567
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” โดยสมาชิกสมัชชาสุขภาพกว่า 300 ชีวิต ที่เข้าร่วมผ่านทาง on-site และ online ได้ร่วมกันพิจารณากรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) ของระเบียบวาระ “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” ก่อนจะให้ความเห็นชอบอย่างเป็นฉันทมติโดยพร้อมเพรียง ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีการนำ Policy Statement เข้าสู่การรับรอง และการกล่าวถ้อยแถลงของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) คือ “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” เพื่อขับเคลื่อนในประเด็นนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นทิศทางนโยบายหลักของประเทศต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของ Policy Statement ระเบียบวาระ “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” ที่ผ่านความเห็นชอบ ระบุว่า ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยร่วมมือกันในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ท่องเที่ยวมีคุณค่า มีความปลอดภัยมุ่งเน้นการสร้างสมดุลใน 5 มิติ “เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และ สุขภาวะ” พร้อมร่วมกันบูรณาการสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน อันจะนําไปสู่การพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนและประชาชน
ทั้งนี้ มีทิศทางการดำเนินการ ได้แก่ 1. พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพและยั่งยืน 2. ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ บริการ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของนักท่องเที่ยวและประชาชนในชุมชน รวมทั้งเป็นมิตรและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3. พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความตระหนักรู้วัฒนธรรมท่องเที่ยวแนวใหม่ สำหรับผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และนักท่องเที่ยว 4. เสนอมาตรการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เชื่อมโยงทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน 5. สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแนวใหม่ โดยเฉพาะข้อจํากัดของกฎหมาย นโยบายและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับด้านอุปสงค์ อุปทาน และการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยวแนวใหม่
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17-18 พ.ศ. 2567 - 2568 เปิดเผยว่า สิ่งที่คณะทำงานพัฒนาประเด็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน ร่วมกันดำเนินการมาคือ 1. การสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เป็นรายได้ที่มุ่งไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นให้มากที่สุด 2. ความภาคภูมิใจและความเข้มแข็งของชุมชน การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่จะต้องเสริมสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชน 3. คือการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน
“เชื่อว่าหลายคนอยากเห็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และเชิงสุขภาพเกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องการเห็นทุกการมาเยือนของนักท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังจะมาช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วย ฉะนั้นระเบียบวาระนี้ต้องการที่จะให้การท่องเที่ยวประสานกับความยั่งยืน มีธรรมชาติ มีวัฒนธรรม และมีชุมชน เติบโตไปพร้อมๆ กัน” ดร.สัมพันธ์ กล่าว
นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา และผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายปี ภาครัฐจะเน้นย้ำเรื่องการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โดยสิ่งที่ประเทศไทยสร้างภาพจดจำให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติคือความสวยงามของธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติต่างๆ แต่ข้อเท็จจริงในมุมกลับ คือ สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ทั้งนี้ จากบทบาทของการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา และที่ปรึกษาสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.กระบี่ ซึ่งมีชุมชนอยู่ในสมาคมถึง 23 ชุมชน กระจายอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัดกระบี่ จึงทำให้มองเห็นมุมมองของการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันระหว่างกระแสหลักที่มาจากภาคธุรกิจ นักลงทุน และมุมของการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ชาวบ้านลุกขึ้นทำการท่องเที่ยวด้วยตนเอง
“ชาวบ้านบอกว่า หลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว พอมีนักลงทุนเข้าทำเรื่องท่องเที่ยว ชุมชนได้แต่เป็นผู้ดู เวลาผ่านไป แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม ทำให้ยอดจำนวนนักเที่ยวลดลง ผู้มาลงทุนก็หายไป ชุมชนก็ขาดโอกาส แต่เมื่อชาวกระบี่ทุกขึ้นมาจัดทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมุ่งเน้นการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ทำให้ในวันนี้ จ.กระบี่ เริ่มปรับสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวโดยชุมชน กับการท่องเที่ยวกระแสหลัก” นายธีพจน์ กล่าว
ในเวทีเดียวกันนี้ มีผู้แทนจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเยาวชน (Youth National Health Assembly 2024) จำนวน 6 ราย ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยสาระสำคัญตอนหนึ่ง ระบุว่า เยาวชนและคนรุ่นใหม่คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากผลลัพธ์ของนโยบายสุขภาพอย่างยาวนานที่สุด ในขณะเดียวเยาวชนคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบและเป็นผู้สานต่อในการพัฒนาระบบสุขภาพในอนาคตต่อไป สิ่งเหล่านี้คือความสำคัญ ที่จะต้องมีกระบวนการในการรับฟังเสียงสะท้อนจากเยาวชนและคนรุ่นใหม่ และเป็นที่มาของการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเยาวชนครั้งที่ 1 (YNHA) ขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดยมีผู้แทนองค์กรนักเรียน นิสิต และนักศึกษา จากหลากหลายหน่วยงาน โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เขาร่วมการประชุมเพื่อนำเสนอและร่วมอภิปราย
ทั้งนี้ ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเยาวชน ครั้งที่ 1 (YNHA) ได้มีการสะท้อนความเห็นเพื่อนำมาประกอบกรอบทิศทางนโยบาย (policy statement) ที่จะมีการรับรองภายในงานเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 นี้ โดยเยาวชนได้สะท้อนออกมา 3 สาระสำคัญ
ทั้งนี้ประกอบด้วย 1. นำเสนอผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อผู้คนในชุมชนและแนวทางรับมือ เช่น ควรมีกลไกทางกฎหมายหรือนโยบายเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
2. การสะท้อนถึงผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อสิ่งแวดล้อมและแนวทางรับมือ เช่น บังคับใช้กฎหมายหรือระเบียบอย่างเข้มงวดให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามมาตรการทางสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสาธารณะ
3. นำเสนอถึงผลลัพธ์ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ เช่น กำหนดนโยบายที่อนุญาตให้ผู้ป่วยในประเทศใช้สิทธิ์การรักษาจากประกันสุขภาพถ้วนหน้าในคลินิกเอกชนเพื่อสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงการรักษา