สช. เดินหน้าสานพลังและสนับสนุนการจัดการภัยพิบัติ (อุทกภัย) ลงพื้นที่ปฏิบัติการระดับชุมชนในจังหวัดเชียงราย
11 พฤศจิกายน 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เมื่อวันที่ 9 – 10 พฤศจิกายน 2567 สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ (สนพ.) กลุ่มงานพัฒนาและขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (กปส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงพื้นที่ “ปฏิบัติการการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพระดับชุมชนจากภัยพิบัติ สาธารณภัย พื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย” ในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย และพื้นที่เทศบาลตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย การลงพื้นที่ครั้งนี้ใช้กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับชุมชนแบบรวดเร็ว 

วันแรกลงพื้นที่เทศบาลตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย เป็นพื้นที่เศรษฐกิจมีแหล่งการค้าสำคัญคือตลาดสายลมจอยซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ โดยมีการพูดคุยหารือกับนายธนทรัพย์ เกเย็น รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเวียงพางคำพร้อมคณะผู้บริหารเทศบาลตำบล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่อาสาสมัครในพื้นที่ เครือข่ายจิตอาสา คณะกรรมการหมู่บ้าน และประธานสภาองค์กรชุมชน กว่า 20 ท่าน ร่วมให้ข้อมูล ซึ่งพบว่าอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ต่อพื้นที่ เช่น ด้านเศรษฐกิจชาวบ้านและผู้ประกอบการบางส่วนต้องไปกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน และทรัพย์สินที่เสียหาย ด้านสุขภาพทางกายที่ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นละอองจากดินโคลนหลังน้ำลด รวมถึงสุขภาพจิตที่ผู้ประสบภัยมีความวิตกกังวลและเกิดความหวาดระแวงเมื่อเกิดฝนตก

วันที่สองลงพื้นที่เทศบาลตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำนาข้าว ทำสวนลิ้นจี่ สวนส้มและไร่กาแฟ โดยมีการพูดคุยหารือกับนายฉัตรชัย ชัยศิริ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีดอนชัย พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน แพทย์ประจำตำบลศรีดอนชัย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน กว่า 20 ท่าน ร่วมให้ข้อมูล 

ซึ่งพบว่าอุทกภัยครั้งนี้ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ต่อพื้นที่ เช่น ด้านเศรษฐกิจ - การประกอบอาชีพซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่เกษตรกรรม ประชาชนบางส่วนต้องไปรับจ้างนอกพื้นที่ ด้านสุขภาพจิตที่ผู้ประสบภัยมีภาวะความเครียดจากการขาดรายได้ 

โดยข้อค้นพบสำคัญจากทั้งสองพื้นที่คือ ในระหว่าง และหลังเกิดอุทกภัยมีความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เทศบาลตำบล ผู้นำชุมชน หน่วยราชการในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข สภาองค์กรชุมชน ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ที่ร่วมกันจัดการภัยพิบัติอุทกภัยในครั้งนี้

ทั้งนี้ทีมทำงานที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้จะนำข้อมูลมาประมวลผล และคืนข้อมูลแก่ทั้งสองพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนการจัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติต่อไป