สานพลังภาคีเครือข่าย เกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รับมือ ลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ท่ามกลางสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
14 พฤศจิกายน 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

วันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2567  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดย นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ลงพื้นที่ อ.สันติสุข จ.น่าน ในงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์วิถีคนต้นน้ำน่าน  ณ วัดโป่งคำ ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน ร่วมกับ คณะทำงานสมัชชาสุขภาพ จ.น่าน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีคนต้นน้ำน่าน มูลนิธิ 9 บวร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์   สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สมาคมสถาบันทิวา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และเครือข่ายขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจากทั่วประเทศ 

 พระครูสุจิณนันทกิจ หรือ พระสมคิด จรณธมฺโม เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน พระนักอนุรักษ์ นักพัฒนา ได้บอกเล่า ประสบการณ์การทำงานตลอดระยะเวลา 37 ปี  โป่งคำโมเดล กับการพัฒนาชุมชนและสังคม  ต้นไม้ กับความผูกพันระหว่างชีวิตของคนกับธรรมชาติ  โดย มีป่า มีต้นไม้ เป็นฐานความรู้และภูมิปัญญา ซึ่งผลักดันพัฒนาให้ “วัดโป่งคำ” เป็นศูนย์เรียนรู้และเป็นองค์ความรู้ไปปลูกฝังให้คนสำนึกเห็นคุณค่าของต้นไม้ เป็นทั้งยา เป็นทั้งตำรา เป็นพื้นที่เรียนรู้ขนาดใหญ่

ท่านเล่าว่า ‘สันติสุข’ พื้นที่ต้นน้ำครั้งหนึ่งเคยเป็นอำเภอมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงของข้าวโพด ป่าถูกบุกรุก ทำลายกลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น มีความพยายามปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเพื่อฟื้นฟูป่าเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว  ณ บ้านโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ และถือเป็นต้นแบบของปฏิบัติการการแก้ไข และฟื้นฟูที่รับประกันความยั่งยืน 

พระครูสมคิด  ซึ่งเป็นผู้ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติด้วยความเป็นห่วง กล่าวว่า เมื่อป่าหายไป ดินก็เสื่อม น้ำก็หาย อาหารก็หดหาย และ เกิดดินถล่ม หรือโคลนถล่ม หลังจากฝนตกหนัก หรือหลังน้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ ก็เลยคิดว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้ ถ้าไม่ฟื้น มันก็จะมีปัญหาและจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ผลกระทบต่อคนจะอยู่ในหมู่บ้านชุมชนลำบาก  โดยเริ่มจากการฟื้นฟูป่าเพื่อเติมน้ำให้แหล่งน้ำธรรมชาติ คืนทรัพยากรต้นทุนให้ชุมชน จากนั้นจึงพัฒนาคน เพื่อให้คนมาจัดการน้ำจัดการป่า แต่กว่าจะไปถึงปลายทางได้ ต้องผ่านบันไดขั้นแรก นั่นคือ การเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดให้เป็นป่า เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู พัฒนา บูรณาการภาคีเครือข่าย ยกระดับเกษตรกรคนต้นน้ำน่านให้ยั่งยืนและพึ่งตนเองได้ โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนา และแก้ปัญหา โดยฐานชุมชนเข้มแข็ง  ภายใต้โครงการสวมหมวกให้ภูเขา ใส่ร้องเท้าให้ตีนดอย ณ วัดโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน และผลักดันแนวคิดนี้อย่างจริงจังในช่วงปี 2551-2552“และ พัฒนาให้ “วัดโป่งคำ” เป็นศูนย์เรียนรู้ หลักคิด เช่น การทำแนวกันชนเพื่อเป็นเขตไม่ให้คนลุกล้ำเข้าไปในป่า พร้อมกับการมีกฎระเบียบและข้อตกลง  ให้ชาวบ้านรักษาป่า โดยใช้องค์ประกอบ คือ ดินดี น้ำดี คนดี สู่สังคมดี ดินดี คือจะต้องมีที่ดินทำกินที่แน่นอน ปรับพื้นที่ให้เหมาะกับการทำเกษตร ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก น้ำดี คือการมีน้ำใช้อย่างพอเพียง มีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ และต้องสร้างป่าด้วย คนดี คือการสร้างคนให้เป็นคนดี มีเป้าหมายชีวิต ซึ่งจะช่วยแก้ไขในหลายปัญหา และจำเป็นจะต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเสริมสร้างให้เกิดพลัง  ขับเคลื่อนสัมมาอาชีวะ เน้นอาชีพ เกษตร ขายอาหาร ขายสุขภาพ ขายท่องเที่ยว

ภายในงาน ผู้เข้าร่วมตัวแทนจากหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายต่างๆยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน เสวนาแนวคิด  ภูเขาแห่งอนาคต mountain future แนวคิด ทิศทางการพัฒนาพื้นที่เขาหัวโล้น สันติสุขโมเดล  โป่งคำโมเดล กับความท้าทายสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลง สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลง แนวคิดทิศทางการพัฒนาเขาหัวโล้น และการพัฒนาชุมชนและสังคม ของพื้นที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน เพื่อสร้างการตระหนักในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมพัฒนา การเสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในช่วงท้ายของกิจกรรมยังมี พิธีแสดงเจตนารมณ์  เสริมสร้างความเข้มแข็งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการรับมือภัยพิบัติ 

ในช่วงหนึ่ง นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์ ประธานคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจ.น่าน  ได้นำเสนอ ถึงทิศทางการขับเคลื่อนของสมัชชาจังหวัดเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ ทำดีเพื่อพ่อ หมอบุญยงค์  ในการมีมุทิตาจิตทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ในการส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ จ.น่าน รับมือภัยพิบัติ  ใน 3 มิติ มิติที่ 1 น้ำกับสุขภาพและคุณภาพชีวิต มิติที่ 2 น้ำกับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และมิติที่ 3 น้ำเพื่อการเกษตรกรรม โดยพร้อมที่จะเป็นพันธมิตร ร่วมผนึกกำลังกับเครือข่ายอื่นๆให้เกิดพื้นที่ถกแถลงทางทางนโยบายและนำโป่งคำโมเดลไปผลักดันในพื้นที่อื่นๆ