เปิดฉาก ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17’ ลุ้นเคาะ 2 นโยบายสาธารณะฯ ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจ-สุขภาวะ’ แบบมีส่วนร่วม
27 พฤศจิกายน 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เริ่มแล้ว! “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17” กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับชาติ ท่ามกลางความสนใจของสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ และประชาชนทั่วประเทศอย่างล้นหลาม เพื่อแสวงหาฉันทมติ 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคน – ท่องเที่ยวแนวใหม่” หวังสร้างสมดุลเศรษฐกิจยุคใหม่ควบคู่สุขภาวะไทยยั่งยืน “เดชอิศม์” เปิด 8 ประเด็นรัฐบาลฝ่าความท้าทาย ขอทุกภาคส่วนร่วมมือผลักดัน ขณะที่ภาคีเครือข่ายฯ พร้อมใจประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี  ตามมติสมัชชาอนามัยโลก

 

งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันแรก โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด ท่ามกลางผู้ที่เข้าร่วมทั้งทางระบบ online และ on-site อย่างเนืองแน่น

 

สำหรับกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ให้การรับรอง และให้จัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยในปี 2567 มีระเบียบวาระที่จะมีการพิจารณารับรองในงาน 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ ซึ่งมีสาระสำคัญในการสร้างศักยภาพประชาชนให้เกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและจัดการกำลังคน ทั้งวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ เข้ามาหนุนเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2. การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน ที่มีสาระสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นการท่องเที่ยวคุณภาพสูง มีสุขภาวะทั้งนักท่องเที่ยวและพื้นที่ท่องเที่ยว พร้อมร่วมกันบูรณาการสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน

 

2

 

นายเดชอิศม์ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจกับสุขภาพสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย: ความท้าทายคืออะไร?” ตอนหนึ่งว่า เศรษฐกิจกับสุขภาพถือเป็นประเด็นสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์ความท้าทายที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น และประเทศยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างในแง่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะส่งผลกระทบในหลายมิติ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนว่า การบูรณาการระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน รวมถึงแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One health และแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ Health in All Policies มีความสำคัญมาก

สำหรับระเบียบวาระที่จะให้การรับรองเพื่อเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 2 ระเบียบวาระ ได้แก่ “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” และ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” จะมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงเรื่องของสุขภาพกับเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาควบคู่กันไปได้อย่างสมดุล โดยการพัฒนาเศรษฐกิจต้องไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเรื่องระบบสุขภาพของประเทศ ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และนำไปสู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

3

 

นายเดชอิศม์ กล่าวต่อไปว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนจากทุกภาคส่วนของสังคม เข้ามาร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ด้วยกัน ฉะนั้นในฐานะรัฐบาลจึงอยากใช้โอกาสนี้ขอร่วมมือทุกภาคส่วนให้ความมุ่งมั่นในนโยบายสำคัญๆ อันได้แก่ 1. การมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยพิบัติ 2. การใช้ศักยภาพของเครือข่ายสุขภาพในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรค 3. การรับมือกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 4. การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านโครงสร้างประชากร 5. ให้ความสำคัญกับข้อมูลของระบบสุขภาพ ดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ 6. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบสุขภาพท้องถิ่น 7. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน 8. ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนเพื่อสุขภาพ โดยใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นฐาน

นอกจากนี้ ในส่วนของรัฐบาลและ สธ. จะทำงานเชิงรุกเพื่อดูแลและส่งเสริมอนามัยให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีสุขภาพที่ดีลดอาการเจ็บป่วย ลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยมีหลักการที่สำคัญคือ “การกู้เอกราชทางสิ่งแวดล้อม” ด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษคือต้นเหตุสำคัญของการเจ็บป่วย

“ในระดับกระทรวงมีนโยบายที่จะทำ MOU ร่วมกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมดูแลสภาพอากาศ ป้องกันการเกิดน้ำท่วม ควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากโรงงาน หรือการควบคุมคุณภาพน้ำดื่ม ตลอดจนการพัฒนาสมุนไพรเพื่อลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะสำเร็จบรรลุผลได้จำเป็นต้องอาศัยการสานพลังการทำงานและกระบวนการมีส่วนร่วม” นายเดชอิศม์ กล่าว

 

ภายในงานวันเดียวกันนี้ ยังมีการประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายนานาชาติ Social Participation ในการร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาอนามัยโลก เรื่อง การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อสุขภาวะ ซึ่งเป็นมติที่ประเทศไทยได้ร่วมพัฒนากับประเทศสโลวีเนีย และถูกรับรองโดยประเทศสมาชิกในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 77 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2567 โดยมีสาระสำคัญในการเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

 

5

 

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17-18 กล่าวว่า การจัดเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ นอกจากกิจกรรมหลักของการพิจารณาระเบียบวาระ รวมถึงเวทีเสวนา ประชุมวิชาการ (Mini-Symposium) และการปาฐกถาในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญคือ “ตลาดนัดนโยบายสาธารณะ” (Policy Market) ที่จะนำเสนอประเด็นนโยบายทางสังคมต่างๆ รวมถึงพื้นที่กลางเพื่อให้เกิดการหารือและแลกเปลี่ยนประเด็นที่อาจพัฒนาในสมัชชาสุขภาพฯ ปีถัดๆ ไปได้ด้วย

ทั้งนี้ ภายในตลาดนัดนโยบายสาธารณะที่จัดขึ้นตลอด 2 วัน จะมีกิจกรรมย่อย อาทิ “เสวนานโยบาย” ในหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น นวัตกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง (Living Will), แนวคิดการประเมินเพื่อพัฒนา (DE), การปรับสภาวะแวดล้อมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs), นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ, ถอดรหัสภัยพิบัติ ฯลฯ “สภากาแฟ” พูดคุยประเด็นต่างๆ เช่น นักสื่อสารรุ่นใหม่กับการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม, สมัชชาสุขภาพกับการจัดการภัยพิบัติ และ “พื้นที่สร้างสรรค์” การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร, การระดมสมองคนรุ่นใหม่แก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปาก พร้อมทั้ง Workshop ต่างๆ อีกมากมาย

 

4

 

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ระเบียบวาระทั้ง 2 เรื่องที่ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะพิจารณารับรอง หากได้รับฉันทมติเป็นที่เรียบร้อย ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นกรอบหรือทิศทางหลักในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายสาธารณะนั้นๆ ต่อไป ซึ่งนับตั้งแต่มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาแล้วจำนวน 16 ครั้ง มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ภาคีเครือข่ายได้มีฉันทมติร่วมกันรวมจำนวน 96 มติ