ภาคีความปลอดภัยทางถนน หนุนลดการเจ็บตายบนท้องถนน ตั้งเป้าลดตายในกลุ่ม “เยาวชน”3 ธันวาคม 2567
ภาคีความปลอดภัยทางถนน
หนุนลดการเจ็บตายบนท้องถนน ตั้งเป้าลดตายในกลุ่ม “เยาวชน”
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน แพทย์ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา จัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 16 ภายใต้แนวคิด “สานพลังเข้มข้น สร้างกลไกเข้มแข็ง เพื่อถนนไทยปลอดภัย : Road Safety Stronger Together” เมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์การประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็ค
ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในห้องย่อยที่ 1 ระบบนิเวศความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กและเยาวชน : Road
Safety Ecosystem for Youthด้วยว่า “กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
มีแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวทางรถรับส่งนักเรียนหรือแนวทางการจัดทัศนศึกษาที่ปลอดภัย
แต่ปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติของบุคลากรทางการศึกษา ที่จะทำอย่างไรให้เป็นการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กนักเรียนเมื่อมีการเดินทาง
แต่อย่างไรก็แล้วแต่เรื่องความปลอดภัยทางถนนควรเป็นวาระที่สำคัญที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับครอบครัว
ซึ่งก็คือการที่พ่อแม่มีวินัยจราจรให้บุตรหลานได้เห็นเป็นแบบอย่างและสถานศึกษา
มาเน้นย้ำในสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่ออยู่บนท้องถนน
น่าสนใจว่าประชาชนยังขาดจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน
หากย้อนไปเมื่อ 4-5
ปีก่อนประเทศไทยมีความพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการห้ามนั่งท้ายกระบะ
แต่เกิดเสียงตำหนิรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างมาก
ที่ไม่เห็นอกเห็นใจผู้มีรายได้น้อยที่จำเป็นต้องโดยสารท้ายรถกระบะเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเรายังคำนึงถึงเรื่องค่าใช้จ่ายก่อนเรื่องความปลอดภัยทางถนน
จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายระบบการศึกษาของไทยและกลไกของครอบครัวว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก
เมื่อมีการเดินทางสัญจรเกิดขึ้น ทั้งนี้สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่
การเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างเสริมระบบนิเวศที่ปลอดภัย (Ecosystem) ในกลุ่มเด็กและเยาวชน
คือการจัดให้มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยทางถนนหรือจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน
รวมถึงจัดให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนในชั้นเรียนนั้น
ทาง ศธ. ยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาและดำเนินการต่อไป”
ด้านนายธนันท์ เมฆประเสริฐวนิช
ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการ “เด็กเริ่ม
ผู้ใหญ่ร่วม”เป็นภารกิจของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 2563 โดยมีเป้าหมายและจุดเน้นคือการสร้างเยาวชนต้นแบบและผู้ริเริ่ม “รักษ์วินัยจราจร” ที่จะเป็นกำลังสำคัญของกรุงเทพมหานคร
โดยเริ่มพฤติกรรมรักษ์วินัยจราจรจากตนเองส่งต่อไปยังกลุ่มเพื่อน
และผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง สมาชิกอื่น ๆ บนท้องถนน รวมถึงโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
437 โรงเรียน ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่าหากเราไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้แนวโน้มปี 2564 – 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีเด็กเสียชีวิตเพิ่มอีก 30,204 คน
แต่ถ้าเราลงมือเริ่มแก้ไขปัญหานี้ เริ่มจากเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้ามีการลดการตายได้ปีละ
5% ใน 10 ปีจะช่วยชีวิตเด็กและเยาวชนได้ สูงถึง 9,675 คน
ด้านนายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์
รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.
มีบทเรียนสำคัญที่ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ได้จัดให้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ
5 สถาบันอาชีวศึกษาจังหวัดระยอง ซึ่งดำเนินงาน 5 มาตรการอย่างเข้มงวด ได้แก่ 1.
ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย 2.ประกาศนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย
3.พัฒนาองค์ความรู้ด้านการขับขี่และทักษะการขับขี่
4.ส่งเสริมการทำใบอนุญาตขับขี่ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก 5.สนับสนุนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมส่งผลทำให้จำนวนของการบาดเจ็บลดลง
และสามารถลดผู้เสียชีวิตให้เป็นศูนย์ได้ภายในปี 2565 ความสำเร็จดังกล่าว ยท. และ
สสส. จึงได้สานต่อความสำเร็จในครั้งนี้เพื่อเป้าหมายการใช้หมวกนิรภัยให้ได้ 100%
ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงสร้างนิสัยความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
โดยเฉพาะการดื่มไม่ขับ เคารพกฎจราจร โดยในปี 2567 ได้ขยายความร่วมมือไปยังจังหวัดขอนแก่นและเมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี
และนำ 5 มาตรการดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อหนุนเสริมความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกอนุกรรมการด้านเด็กและเยาวชน
ในศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชลบุรี”