กขป.เขต9 เชื่อมกับสมัชชาฯ ชัยภูมิ จัดเวทีระดมข้อเสนอเชิงนโยบายขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิภาคชุมชน15 ธันวาคม 2567
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 9 ร่วมกับเครือข่ายสมัชชาจังหวัดชัยภูมิ จัดเวทีนโยบายสาธารณะสมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิ เชื่อมกับระบบสุขภาพปฐมภูมิภาคชุมชน 4 จังหวัด “นครชัยบุรินทร์” ณ โรงแรมภูมิราชภัฏฮิลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ
เวทีกขป.เขต 9 สัญจรครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพปฐมภูมิภาคชุมชนของ กขป.เขตพื้นที่ 9 ประกอบด้วยภาคีเครือข่ายเข้าร่วม ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 9 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 9 นครราชสีมา ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 คณะกรรมการ กขป. สมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ,ศูนย์วิชาการเขตสุขภาพที่ 9 องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หอการค้าจังหวัดชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ สื่อมวลชน ฯลฯ ผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เพื่อนำข้อเสนอเข้าสู่วาระเพื่อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 9 (กขป.) ครั้งที่ 1 ปี 2568 และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)
เริ่มต้นเปิดเวทีฯ ได้รับเกียรติจากนายสมศักดิ์ กาญจนวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวชื่นชมถึงการมีส่วนร่วมให้เกิดการพัฒนาข้อเสนอของคนจังหวัดชัยภูมิ โดยให้ความสำคัญและตระหนักถึงการบูรณาการแนวทาง แผนงาน ทรัพยากร กลไกและกระบวนการที่เกี่ยวของกับการให้ความรู้และป้องกันโรคและสุขภาพของประชาชนที่ต่อเนื่อง ยั่งยืน มีประสิทธิผล และเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เน้นย้ำนโยบาย”สร้างนำซ่อม” และการดูแลสุขภาพของชุมชนที่ทุกคนร่วมมือกัน การสร้างพื้นที่กลางในการบูรณาการการมีส่วนร่วมในทุกมิติ จะทำให้การดูแลสุขภาพประชาชนเกิดความสมดุล จากความร่วมมือระหว่าง อสม. , รพ.สต. หน่วยงานในระดับพื้นที่จะเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนงานและสร้างให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะการสร้าวเยาวชนและผู้นำรุ่นใหม่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อการแก้ไขปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญในระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการสิ่งปฏิกูลป้องกันปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ,บุหรี่ไฟฟ้า ผู้ป่วยจิตเวช ,โรค NCDs ,การควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม หรือฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของจังหวัด และวาระร่วมของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก กรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา การจัดการความรู้ กล่าวถึงการเสริมพลังการบูรณาการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กระบวนการสำคัญที่ทำให้ระบบการบริการสาธารณสุขไทยมีคุณภาพติดอันดับโลกประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดความสำเร็จด้านการดูแลสุขภาพประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ภายใต้เครื่องมือนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 4 ระดับ คือ 1.ระดับประชาชน : เกิดการวางแผนงานร่วม การ ตระหนักถึงความรู้ด้านสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
2.ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดการบูรณาการด้านงบประมาณ บุคลากร ทรัพยากรในท้องถิ่น 3.กรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) เกิดเชื่อมโยงกับงานยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด และ 4.ระดับนโยบายกระทรวง และรัฐบาล
จากนั้น ภาคีเครือข่ายร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระการประชุมคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 9 ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพปฐมภูมิภาคชุมชน รวม 3 ประเด็น ได้แก่ 1. การจัดการสิ่งปฏิกูลป้องกันปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี
2. บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สุรา ยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวช และ 3. การดูแลสุขภาพ ลดเสี่ยง ลดโรค NCDs (ชุมชนลดเสี่ยงเลี่ยงเบาหวาน)
ในช่วงบ่าย นพ.สำเริง แหยงกระโทก ประธาน กขป. เขตพื้นที่ 9 กล่าวต้อนรับและแนะนำกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ผศ.วลัญช์ชยา เขตบำรุง มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และนส.กฤษณียา ศังขจันทรานนท์ วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ โดยในปี 2568 กขป.เขตพื้นที่ 9 ยังคงเน้นการขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ “การจัดระบบปฐมภูมิภาคชุมชน” ภายใต้โครงการโรงเรียนเบาหวานหายได้ ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด เชื่อมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบาย “คนไทยห่างไกล NCDs” ในระดับจังหวัดและประเทศ ตั้งเป้าให้เกิดการบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระดับพื้นที่ รวมถึงความคืบหน้าของแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ “ชุมชนลดเสี่ยงเลี่ยงเบาหวานนครชัยบุรินทร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานต่อเนื่อง 5 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนางานวิจัยเชิงคุณภาพคู่ขนานกับการดำเนินงานขยายผลในพื้นที่
ทั้งนี้ ในวาระเพื่อพิจารณา ที่ประชุมนำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ 1) ประเด็นการมีส่วนร่วมจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อป้องกันปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับ และโรคมะเร็งท่อน้ำดี มีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ ให้มีการจัดการอย่างมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งปฏิกูลที่ที่ได้ดำเนินการฯแล้ว และถอดบทเรียนพื้นที่ที่ดำเนินการนำสู่การพัฒนาการจัดการต้นแบบทั้งระบบจัดการขยะ น้ำเสีย สิ่งปฏิกูล การประมาณการงบประมาณที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
2) ประเด็น บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า สุรา ยาเสพติดและผู้ป่วยจิตเวช มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ได้แก่ การสร้างความร่วมมือหน่วยงานทั้ง พมจ. สสธ. ฯลฯ จัดทำแผนระดับท้องถิ่น ชุมชน รพ.สต. ในการขับเคลื่อนครอบครัวอบอุ่น หมู่บ้านจัดการยาเสพติด ฯลฯ
และ 3) การดูแลสุขภาพ ลดเสี่ยง ลดโรค NCDs (ชุมชนลดเสี่ยงเลี่ยงเบาหวาน) มีข้อเสนอที่น่าสนใจ ได้แก่ การพัฒนาแอพลิเคชั่นควบคุมการนับคาร์บการเปิดโรงเรียนเบาหวาน กับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถม มัธยม และระดับอุดมศึกษา รวมถึงชมรมผู้สูงอายุจะเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรมออกกำลังกาย ฯลฯ ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวจะมีการทบทวนโดยคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดชัยภูมิ จะมีการทบทวนข้อเสนอเพื่อจัดทำมติสมัชขาสุขภาพจังหวัดเและนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในลำดับต่อไป