บทเรียนจากทั่วโลก เมื่อชีวิตบั้นปลายและการตายดี ‘มีราคาที่ต้องจ่าย’
20 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับ การตายดี (Good Death) ซึ่งเป็นความปรารถนาสูงสุดของผู้คนจำนวนมาก ทว่าการตายดีนั้นไม่ใช่ของถูก ในหลายประเทศมีราคาที่ต้องจ่าย ไม่น้อย คนจำนวนหนึ่งจึงไม่อาจเข้าถึงการตายดีได้

แม้ว่าความตายจะมีความเสมอภาค แต่ การตายดี กลับกลายเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย



ตายดี ในมุมมองสากล

ตามคำนิยามของ National Academy of Medicine (NAM) การตายดีคือ “การเป็นอิสระจากความเครียดและความเจ็บปวดทรมานของผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแล โดยให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องการ แต่จะต้องถูกต้องตามมาตรฐานทางการแพทย์ วัฒนธรรม และจริยธรรม”

การที่คนๆ หนึ่งจะตายดีได้นั้น ย่อมสัมพันธ์กับอีกหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกระบวนการหรือวิธีการตายที่ต้องการ การมีองค์ประกอบทางศาสนาและจิตวิญญาณมาสนับสนุน การมีสุขภาพจิตที่ดี การได้รับการรักษาแบบที่ต้องการ การมีชีวิตอยู่และจากไปอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี การมีครอบครัวอยู่เคียงข้างในวาระสุดท้ายของชีวิต การมีคุณภาพชีวิตที่ดี การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ดูแล ฯลฯ

ว่ากันตามจริง การตายดีคือการผสมองค์ประกอบต่างๆ เพื่อเติมเต็มผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตให้มีความสมบูรณ์ในทุกแง่มุม ซึ่งนอกจากผู้ที่จะออกเดินทางไกลแล้ว ครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังก็ต้องได้รับการดูแลด้วย

แน่นอนว่า สิ่งที่ขัดขวางหนทางไปสู่การตายดีในหลายประเทศก็คือ “ค่าใช้จ่าย” เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้ที่กำลังจะจากไป ซึ่งมีหลายกรณีที่ผู้ที่อยู่ข้างหลังกลับทุกข์ระดม เพราะต้องเผชิญกับหนี้สินก้อนโต

อย่างไรก็ดี ในบางประเทศ-บางรัฐ ได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการตายดี และสนับสนุนการตายดีในฐานะส่วนหนึ่งของสวัสดิการอันพึงมีของประชาชน มากไปกว่านั้นในประเทศที่ก้าวหน้า เช่น ประเทศไทย ได้กำหนดให้ การตายดี เป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน

 

สนนราคาที่นานาประเทศต้องจ่าย

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำจำกัดความของการดูแลรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) ว่าเป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษาไม่หาย โดยให้การป้องกัน บรรเทาอาการ ตลอดจนการบรรเทาความทุกข์ทรมานด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เป็นการดูแลแบบองค์รวมครอบคลุมทุกมิติของสุขภาพ อันได้แก่ กาย ใจ ปัญญา และสังคมของผู้ป่วย

การดูแลในช่วงท้ายสุดของชีวิต-การดูแลแบบประคับประคอง (Elderly Care / Palliative Care) ของให้ผู้บริการชื่อดังใน สหราชอาณาจักร อย่าง Helping Hands ที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 1989 สนนราคาการดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุ อยู่ที่สัปดาห์ละ 1,325 ปอนด์ หรือประมาณ 58,300 บาท

กรณีต้องการเรียกผู้ดูแลไปดูแลที่บ้านจะต้องจ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง เฉลี่ยอยู่ที่ชั่วโมงละ 20 ปอนด์ หรือประมาณ 880 บาท นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเสริมอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าล่วงเวลา ค่าบริการพิเศษ ที่ต้อง on top ขึ้นไปอีก

ใน สหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลแบบประคับประคองโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 95 400 เหรียญสหรัฐ หรือราว 3,080 12,900 บาท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับบริการ-แพคเกจที่ผู้ป่วยและครอบครัวเลือก

การดูแลที่บ้านจะมีค่าใช้จ่ายภาพรวมถูกกว่าการดูแลในโรงพยาบาล และสำหรับบริการบ้านพักคนชราที่ดูแลครอบคลุมจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต คิดค่าใช้จ่ายรายปีของห้องเดี่ยวอยู่ที่ 105,850 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3.4 ล้านบาท

ที่ สิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักดีถึงภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จึงได้เริ่มผลักดันเรื่องของ Elderly Care / Palliative Care มาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 โดยเน้น 3 หลักการสำคัญ ได้แก่ 1.จัดการดูแลอาการป่วย 2. การดูแลระยะสุดท้าย 3. การช่วยเหลือด้านสภาพจิตใจและความเศร้าโศก

นับว่าสิงคโปร์มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่กระนั้นก็ยังไม่ได้สนับสนุนทางการเงินมากเท่าใดนัก นั่นทำให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ยังสูงอยู่ โดยค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยที่ดูและรักษาในโรงพยาบาลจะอยู่ที่วันละ 75311 สิงคโปร์ดอลลาร์ (1,8007,500 บาทโดยประมาณ) ส่วนการดูแลที่บ้านจะอยู่ที่วันละ 200 สิงคโปร์ดอลลาร์ (4,800 บาทโดยประมาณ)

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลระยะสุดท้ายของชีวิตอันจะส่งผลถึงการตายดีมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และแน่นอนว่าจะกลายเป็นปัญหาที่ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเช่นครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดต้องเผชิญ

 

การตายดี สวัสดิการที่รัฐพึงจัดหาให้

ในบางแห่งของโลก การดูแลในช่วงบั้นปลายของชีวิตถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการที่ประชาชนพึงได้รับ

ออสเตรเลียประเทศที่มีระบบสวัสดิการและมีหลักประกันสุขภาพที่เข้มแข็งอย่าง Medicare การรักษาแบบประคับประคองนั้นรวมอยู่ในสิทธิ Medicare เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ประชาชนในระบบนั้นไม่ต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งต่อตนเองและครอบครัว เพียงแต่อาจต้องจ่ายเพิ่มเติมเมื่อต้องการเครื่องมือพิเศษ บุคลากรพิเศษ หรือยาที่นอกเหนือจากบัญชีของ Medicare แต่ท้ายที่สุดก็จะมีสิทธิสวัสดิการหรือหลักประกันส่วนอื่นมาสนับสนุน

 “สวีเดนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้ที่กำลังเข้าสู่บั้นปลายของชีวิตได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อจากไปอย่างมีความสุขที่สุด รัฐบาลสวีเดนเชื่อว่ายิ่งดูแลผู้สูงอายุดีเท่าไหร่ พวกเขาก็จะสุขภาพดี มีความสุข และจะจากไปอย่างสงบที่สุด

นั่นจะเป็นผลดีต่อประเทศโดยภาพรวม จึงมีการตรา “พ.ร.บ.การบริการทางสังคม” (Social Service Act) ได้กำหนดให้แต่ละพื้นที่การปกครองต้องรับผิดชอบในการดูแลผู้สูงอายุ สนับสนุนด้านงบประมาณโดยภาษีของพื้นที่และรัฐบาล โดยในปี 2020 งบประมาณส่วนนี้สูงถึง 1.35 แสนล้านโครนา (ประมาณ 4.64 แสนล้านบาท)

ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุนั้นถูกกำหนดโดยหน่วยงานปกครองในพื้นที่ต่างๆ คำนวณจากเหตุและองค์ประกอบตามลักษณะของพื้นที่ แต่โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 2,200 โครนา (7,500 บาทโดยประมาณ) ต่อเดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับเงินบำนาญผู้สูงอายุที่ได้รับตามสิทธิสวัสดิการประมาณ 13,300 โครนา (45,600 บาทโดยประมาณ) ต่อเดือน รวมเข้ากับการอุดหนุนต่างๆ ของรัฐบาลและกองทุนสวัสดิการอื่นๆ ก็นับได้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ของผู้สูงอายุในสวีเดนถือว่า “ถูก” มาก

ทั้งออสเตรเลียและสวีเดน เป็นไม่กี่ประเทศที่ให้การสนับสนุนการดูแลในช่วงบั้นปลายของชีวิตและมุ่งหวังให้ทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจนถึงวันสุดท้าย รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดปัญหาภาระทางการเงินให้กับครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดอีกด้วย นี่เป็นส่วนสำคัญของการก่อให้เกิด “การตายดี” อย่างมาก เพราะทุกข์จากภาระทางการเงินเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาและขัดขวางการตายดีได้



ประเทศไทยการตายดี ฟรีตามสิทธิ

สำหรับประเทศไทยการตายตามธรรมชาติ หรือ การตายดี เป็นสิทธิของประชาชนที่มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ให้การรับรองไว้ โดยมี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นองค์กรสานพลังภาคีเพื่อขับเคลื่อนให้มาตรา 12 เป็นที่รู้จัก

สำหรับสาระสำคัญของมาตรา 12 คือการให้ สิทธิ ทุกคนสามารถ ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตได้

กรณีนี้ถือว่าเป็นการใช้สิทธิเลือกตายอย่างสงบ โดยปราศจากการเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การเร่งตายแบบการุณยฆาต และกฎหมายยังรับรองว่าแพทย์ที่ทำตามหนังสือแสดงเจตนาฯ ของผู้ป่วยไม่มีความผิดใดๆ

ผู้ป่วยสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน โดยส่งสำเนาเก็บในเวชระเบียนหรือมอบให้แพทย์ผู้รักษาไว้

 

เมื่อเลือกที่จะใช้สิทธิการตายตามธรรมชาติ ผู้ป่วย ครอบครัว และแพทย์ จำเป็นต้องวางแผนร่วมกันที่จะดูแลแบบประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยในวาระสุดท้ายมีความสะดวกสบายและพ้นจากความทรมานมากที่สุด

 

นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้สนับสนุนการดูแลแบบประคับประคอง โดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดการดูแลที่บ้านสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินของครอบครัวที่ต้องมาดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาล และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล

 

จึงมีการบรรจุชุดสิทธิประโยชน์สำคัญอย่างน้อย 3 รายการ เพื่อเบิกจ่ายที่ครอบคลุมผู้ป่วยทุกกลุ่มโรคที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามหลักเกณฑ์ที่กรมการแพทย์กำหนด คือ 1. ยามอร์ฟีนเพื่อบรรเทาอาการปวด 2. ชุดทำความสะอาด 3. ออกซิเจนพร้อมอุปกรณ์ร่วมกับการติดตามอาการตามความเหมาะสม

สำหรับการจัดบริการ หน่วยบริการประจำที่ให้บริการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองทั่วประเทศ จะจัดบริการร่วมกับหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นเครือข่ายคลัสเตอร์บริการปฐมภูมิ (PCC) โดยผู้ที่ต้องการเข้าสู่การดูแลแบบประคับประคอง จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด



ผลักดัน ประกันเอกชน ให้สิทธิประโยชน์คนเลือกตายดี

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะมีการบัญญัติให้สิทธิแก่คนไทยสามารถเลือกที่จะตายดีได้ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หากแต่ทุกวันนี้ก็ยังมีกำแพงขนาดใหญ่ที่ต้องช่วยกันทำลายให้พังครืนลงมา

ปราการขนาดมหึมานั้น เป็นตัวกั้นขวางทัศนคติจนทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร อุปนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย บอกว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องการดูแลแบบประคับประคองคือช่องทางการเข้าถึง เพราะมีความทับซ้อนในช่วงก่อนที่จะเริ่มกระบวนการดูแล เพราะต้องได้รับการส่งไม้ต่อจากแพทย์ที่ทำการรักษาโรคก่อน ขณะเดียวกันแพทย์ด้านการดูแลประคับประคองในประเทศไทยก็ยังมีสัดส่วนที่น้อย

แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือประเด็นเรื่องการรับรู้เรื่อง เพราะแนวทางการดูแลแบบประคับประคองมักจะอยู่ตรงข้ามกับข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม ตัวอย่างเช่น ป้ายโฆษณาที่พยายามส่งกำลังใจด้วยประโยคว่า “ต้องสู้จนหยดสุดท้าย” ที่ทำให้ผู้ป่วย ญาติ หรือคนรอบข้างมีทัศนคติหรือการตัดสินใจที่มุ่งไปสู่การยื้อชีวิตของผู้ป่วยให้นานที่สุด

“อยากขอความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงคนได้จำนวนมาก ใช้ช่องทางเหล่านี้ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพราะเมื่อโรคดำเนินมาถึงระยะสุดท้าย จะทำให้ผู้ป่วยต้องแบกรับความทรมานจากกระบวนการการรักษา” ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าว

ทางด้าน ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงษ์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเสวนาระหว่าง สช. กับบริษัทประกันภัย และองค์กรที่เกี่ยวข้องรวมถึงชีวามิตรด้วย เพื่อที่จะผลักดันประเด็นเรื่องการตายดีผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น ทำให้การดูแลแบบประคับประคอง สามารถทำได้ทั้งที่โรงพยาบาล และที่บ้าน

ในกรณีทำที่บ้านจะให้ทางบริษัทประกันชีวิตเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกให้ผู้ป่วยได้เอาค่าใช้จ่ายที่ประกันรับผิดชอบที่ต้องเป็นค่ารักษา มาใช้ในช่วงสุดท้ายก่อนจากไปอย่างมีความสุข โดยตอนนี้กำลังมีการศึกษามิติทางเศรษฐศาสตร์ว่าประหยัดงบประมาณในการรักษา และประหยัดในทางสังคมเท่าไหร่

อีกเรื่องที่ผลักดันควบคู่กันไป คือพินัยกรรมชีวิต (Living Will) ซึ่งเป็นการเลือกวางแผนได้เลยตั้งแต่ก่อนจะที่ป่วยว่ามีความต้องการที่จะตายดี และต้องไม่มีใครมายื้อความตายนี้ โดยแนวทางวางไว้ว่าบริษัทประกันจะสามารถแนบใบพินัยกรรมชีวิตให้พิจารณาเป็นทางเลือกในขั้นตอนการแนะนำได้เลยหรือไม่ เพื่อให้ทุกคนได้ตัดสินใจตั้งแต่แรก

“ตายดีไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ฉับพลันอย่างเกิดอุบัติเหตุแล้วคนจะห้ามมาช่วยชีวิต แต่หมายถึงเมื่อเกิดเป็นโรคที่มีสัญญาณแน่ชัดว่าจะต้องจากไป ผู้ป่วยก็ควรมีสิทธิที่จะต้องเลือก” ศ.พิเศษ กิติพงศ์ ระบุ

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนมีนาคม 2565