ถอดเนื้อหาธรรมนูญสุขภาพฯไทย 'ป้องกันโรค' อย่างไรใน 5 ปี
เป้าหมายของการป้องกัน-ควบคุมโรค และปัจจัยที่คุกคามสุขภาพในระยะ 5 ปีตาม "ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3" ที่จะมุ่งไปสู่ "ความเป็นธรรม ตอบสนอง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
สถานการณ์/ความท้าทาย ด้านสุขภาพของคนไทยในระยะ 5 ปี
▪️ สาเหตุการตายที่สำคัญอย่างอุบัติเหตุทางถนน โรคเรื้อรัง มีแนวโน้มสูงขึ้น
▪️ โรคติดต่ออุบัติใหม่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น โควิด-19
▪️ ปัญหาสุขภาพจิต การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงในสังคมเพิ่มสูงขึ้น
▪️ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้น
▪️ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ปัญหามลพิษจากการพัฒนาเศรษฐกิจ
▪️ ความเลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
"จุดคานงัด" ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย
▪️ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
กระจายอำนาจในการจัดการระบบสุขภาพให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถออกแบบระบบและดำเนินการได้เอง โดยมีกลไกเชื่อมโยงจากระบบของชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ
▪️ กระจายทรัพยากรให้เป็นธรรม
จัดการโครงสร้าง กลไก และกระบวนการบริหารจัดการ การจัดหาและกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมกับทุกคน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในทุกระดับอย่างแท้จริง
▪️ ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
สร้างพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบสุขภาพทุกระดับอย่างกว้างขวาง เช่น สภาสุขภาพชุมชน กำหนดให้ทุกคนมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของตน ครอบครัว ชุมชนให้ชัดเจน
▪️ พัฒนาระบบปฐมภูมิที่มีคุณภาพ
พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงกับระบบหลักประกันสุขภาพ
▪️ ใช้ HIA ในการกำหนดนโยบาย
นำกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ที่ใช้ข้อมูลหรือองค์ความรู้ มากำหนดนโยบายสาธารณะ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
*โควิด-19 ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่รุนแรงเพิ่มขึ้นตามมา เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สุขภาพจิต ดังนั้นยังจำเป็นต้องสร้างระบบสุขภาพ ที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วไปพร้อมๆ กับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในทุกช่วงวัยและทุกระดับ สู่ความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีส่วนร่วมรับผิดรับชอบต่อสังคม