
เร่งรับมือขยะพิษจาก ‘ซากแผงโซลาร์’ พัฒนาข้อเสนอเปลี่ยนผ่านพลังงาน เข้าสู่มติ ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 18’18 มีนาคม 2568
สช. ผนึก ก.พลังงาน เดินหน้าสานพลังภาคีพัฒนานโยบายสาธารณะ “การเข้าถึงและการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์” เตรียมเป็นข้อเสนอเข้าสู่ระเบียบวาระ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18” มุ่งพัฒนานโยบายจัดการพลังงานแสงอาทิตย์ “โซลาร์เซลล์” ครบวงจร ตั้งแต่ส่งเสริมการใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดซากแผงหลังเสื่อมประสิทธิภาพ เล็งเป้าท้องถิ่นร่วมมีมาตรการรับมือ บริหารจัดการขยะพิษ-อันตราย
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะทำงานพัฒนาประเด็น “การเข้าถึงและการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์” ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งมี รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้อํานวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) เป็นประธานคณะทำงานฯ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินงานพัฒนาประเด็นดังกล่าว ก่อนเตรียมบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. 2568 ต่อไป
สำหรับประเด็น “การเข้าถึงและการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์” ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ. 2567-2568 เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะพัฒนาเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานภาคีหลัก ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นในวันที่ 13 ก.พ. 2568 ซึ่งมีองค์ประกอบของตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มาร่วมทำหน้าที่พัฒนาเอกสารร่างระเบียบวาระ และจัดกระบวนการมีส่วนร่วมต่างๆ
รศ.ดร.สุธา เปิดเผยว่า เป้าหมายของประเด็นดังกล่าวในเบื้องต้น จะมุ่งเน้นไปที่ “โซลาร์เซลล์” หรือเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจะกลายเป็นสัดส่วนหลักของการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทย โดยมีประเด็นย่อยที่มองแบบครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมการใช้งาน การเข้าถึงของผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มต่างๆ การติดตั้ง การซ่อมแซม การบำรุงรักษา ไปจนถึงแนวทางการกำจัดภายหลังการใช้งานในแบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ภายใต้การมีมาตรการ กฎหมาย กฎระเบียบ แนวปฏิบัติที่สนับสนุน
ในขณะที่จุดคานงัดของเรื่องนี้ คือการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อทำให้ประชาชนเกิดการเข้าถึงข้อมูลด้านพลังงานที่ตนเองใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เรียกว่า Demand responds ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า โดยชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นหุ้นส่วนในการในการผลิตไฟฟ้าสะอาดที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ พร้อมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Energy transition) และเกิดการเข้าถึงพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ต่อไป
นางมัณลิกา สมพรานนท์ ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เตรียมมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยมีแผนที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานลงให้ได้จาก 244 ล้านตันในปัจจุบัน เหลือ 95.5 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2050 นอกจากนั้นด้วยสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อราคา รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ (NEP) ได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใหม่อีกไม่น้อยกว่า 50%
นางมัณลิกา กล่าวว่า ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผ่านมามีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,910 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2564 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,952 MW ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 9,002 MW ในปี 2566 นอกจากนี้ภายใต้ (ร่าง) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2024) ยังวางเป้าหมายไว้อีกว่าภายในปี 2580 ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตของพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งสิ้นถึง 38,974 MW โดยมีมาตรการและนโยบายสนับสนุนต่างๆ เช่น สิทธิทางภาษี การรับซื้อไฟฟ้า ฯลฯ
นางมัณลิกา กล่าวอีกว่า มี 3 องค์ประกอบหลัก ที่จะช่วยให้การจัดการกับซากแผงโซลาร์เซลล์เป็นไปได้อย่างถูกต้อง คือ 1. ระบบติดตาม การลงทะเบียน การเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งาน ซึ่งภาคท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมดำเนินการ 2. กฎหมาย ที่กำหนดบทบาทให้แต่ละภาคส่วนร่วมมีอำนาจในการกำกับ ติดตาม และจัดการกับซากแผงโซลาร์เซลล์ได้อย่างถูกต้อง 3. กองทุน ที่ตั้งขึ้นเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการกับซากแผงโซลาร์เซลล์
ขณะที่ นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังมีปริมาณโซลาร์เซลล์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยที่ไม่มีระบบการจัดการอย่างถูกต้อง ย่อมสร้างให้เกิดความอันตรายจากขยะพิษจำนวนมหาศาลที่รอจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นในกระบวนการตลอดเส้นทางนับตั้งแต่การผลิต การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัด จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาพูดคุยเพื่อร่วมกันหาทางออก และยกระดับให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกคนจะมีความเข้าใจและรับรู้ร่วมกัน
“เรามีตัวอย่างของการจัดการขยะที่ดีในหลายพื้นที่ การนำขยะไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งในส่วนของซากโซลาร์เซลล์หากจัดการอย่างไม่ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากเราสามารถสร้างให้เกิดมูลค่า เป็นประโยชน์ที่ชุมชนสามารถจับต้องได้ ก็น่าจะมีส่วนช่วยในการจัดการได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงหากเราสามารถเชื่อมเรื่องของการพัฒนาพลังงานสะอาด ไปสู่มิติของการพัฒนาคุณภาพชีวิต การทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เช่น นำไปสู่การมีน้ำสะอาด การทำสมาร์ทฟาร์ม พัฒนาแหล่งอาหาร ฯลฯ ก็น่าจะเป็นส่วนที่ช่วยสร้างคุณค่าให้กับการดำเนินงานในประเด็นนี้ได้” นพ.อภิชาติ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนร่วมกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะความสำคัญกับการวางเป้าหมายระยะยาวในการวางระบบการจัดการกับ “โซลาร์รูฟท็อป” ที่ติดตั้งตามหลังคาครัวเรือน ซึ่งในระยะต่อไปจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น และมีความกระจัดกระจายทำให้จัดการได้ยากกว่ารูปแบบของ “โซลาร์ฟาร์ม” ที่ติดตั้งบนพื้นดินขนาดใหญ่ ซึ่งมีการส่งเสริมมาระยะหนึ่งแล้ว สถานะปัจจุบันจึงเข้าสู่ระยะที่จะต้องวางมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการขยะอันตรายจากแผงวงจรที่เริ่มจะหมดอายุการใช้งาน โดยส่วนใหญ่ได้เห็นพ้องร่วมกันถึงบทบาทความสำคัญของท้องถิ่น ในการทำหน้าที่รวบรวมและจัดการกับขยะอันตราย และควรจะต้องมีมาตรการหรือแนวทางที่ชัดเจนให้ท้องถิ่นสามารถจัดการกับซากแผงได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนการผลักดันให้เกิดเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
ด้าน ดร.นาตยา พรหมทอง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายสาธารณะภาคกลาง สช. กล่าวว่า การหารือของคณะทำงานฯ ได้ทำให้เห็นถึงกรอบทิศทางการทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ทางคณะทำงานฯ จะมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล ทบทวนสถานการณ์ รวมถึงช่องว่างต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อร่างข้อเสนอ และจัดทำเป็นเอกสารที่จะนำเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยคาดว่าน่าจะได้เอกสารร่างมติออกมาในช่วงเดือน มิ.ย. ก่อนที่จะมีการนำเข้าสู่เวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับประเทศ ช่วงเดือน ส.ค. ต่อไป ขณะเดียวกันก็ จะเดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่คู่ขนานไปพร้อมกัน