
รับมือ‘สังคมสูงวัย’โลกผันผวนไทยทำแบบเดิมไม่ได้ ฐานข้อมูลต้องพร้อม-ดึงชุมชนมีส่วนร่วม22 เมษายน 2568
รับมือ‘สังคมสูงวัย’โลกผันผวนไทยทำแบบเดิมไม่ได้
ฐานข้อมูลต้องพร้อม-ดึงชุมชนมีส่วนร่วม
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
(สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ
ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม จัดเวที “สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน
(Smart Aging Society : Together , We can)” เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568
ณโรงแรมแกรนด์ริชมอนต์ จ.นนทบุรี เพื่อระดมสมองรับมือสังคมสูงวัย
ในมิติสังคมและสุขภาพ

นพ.อำพล
จินดาวัฒนะ ผู้ทรงคุณวุฒิ , อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) , อดีตประธานกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า
การเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องผู้สูงอายุ
และหากมองเฉพาะเรื่องผู้สูงอายุก็อาจช้าเกินไปสำหรับอนาคต การเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับต่างๆ
จะมีเกณฑ์ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนด สถานการณ์ “สังคมสูงวัย” ต้องมองทั้งสังคม (Society) ไม่ใช่ ผู้สูงอายุ (Elderly) ที่ผ่านมาในเวทีที่ระดมสมองเรื่องนี้
ไม่น้อยพยายามชวนคุยโดยขยายออกมาจากประเด็นผู้สูงอายุ แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อคุยแล้วมักตกร่องความคิดอยู่พอสมควร
กล่าวคือจะเน้นไปที่เรื่องผู้สูงอายุอยู่ตลอด และไม่ใช่เฉพาะวงพูดคุยในประเทศไทย แม้แต่ในระดับสากลเป็นแบบนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ผู้สูงอายุคือ
ผลพวงจากอดีต ในขณะที่คนทำงาน คือผลพวงปัจจุบัน
ส่วนเด็กรุ่นใหม่และที่กำลังจะเติบโตคืออนาคต ดังนั้นหากเราสนใจแต่อดีตจะไม่มีเวลาสำหรับการคิดและการลงมือทำเพื่ออนาคต
ทำให้แก้ปัญหาได้ช้าเกินไป เช่น
ประชากรวัยทำงานที่ต้องแบกภาระดูแลผู้สูงอายุจนไม่อยากมีลูก
หากไม่ช่วยคลี่คลายในอนาคตปัญหาก็จะยิ่งหนักขึ้น ขณะที่เมื่อดูตัวอย่างจากต่างประเทศ
ญี่ปุ่นที่เป็นประเทศร่ำรวย
เมื่อเจอสังคมสูงวัยเข้าไปยังต้องยอมเปิดประเทศมากขึ้นเพื่อดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
แต่ก็เจอปัญหาสังคมที่ปั่นป่วนไม่เหมือนเดิม
“ต้องบอกว่าตอนนี้เราอยู่ในยุค Perfect Storm (พายุที่สมบูรณ์)
เจอสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในโลกโกลาหล แล้วเราเจอภาวะสังคมสูงวัย
เจอกับดักรายได้ปานกลาง นั่งดูวิเคราะห์ตัวเลขทั้งหลายและทิศทางต่างๆ
บอกได้ว่าเรากำลังอับจน
กำลังไม่มีทางออกจากกับดักรายได้ปานกลางเลยและจะลำบากมากกว่านั้น
ไม่ว่าทางด้านการเมือง และอีกหลายเรื่องสารดัด ผมพูดแบบนี้อย่าท้อใจนะ เราต้องเห็นสภาพจริงก่อน แต่จะบอกว่าเราจะแก้ปัญหา แบบเดิมไม่ได้ ปัญหาต่างๆ
ยากกว่าเดิมเยอะในการที่จะฟันฝ่าไปข้างหน้า” นพ.อำพล กล่าว



กนกวรรณ
มาป้อง รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บ้านเรามีประเด็นที่ต้องใส่ใจเรื่อง “ระบบข้อมูล”
ซึ่งผู้ป่วยมีปัญหาเรื่อง “การรับยาเดิม” ผู้สูงอายุต้องรับยาก และแต่ละโรงพยาบาลก็ไม่เหมือนกัน (Routine)
ขณะที่บางแห่งสร้างแนวปฏิบัติจนเป็นมาตรฐาน
เช่น ติดต่อผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือการให้ญาติไป
รพ. แล้วแจ้งว่ามารับยาเดิม มีขั้นตอนเพื่อให้ญาติไปรับได้อย่างสบายใจ หรือระบบ “หมอพร้อม”
พยายามทำให้เกิดข้อมูลที่เรียกว่า
Personal Health Record (PHR) หรือนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องในระดับตัวบุคคลมาประมวลผล
อย่างในทางการตลาดดิจิทัล มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประมวลผลและเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบเป็นรายบุคคล อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการทำระบบข้อมูล คือการที่ข้อมูลไม่เชื่อมโยงกัน
และยากมากขึ้นเมื่อมีกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่มีมุมดีที่กฎหมายนี้ช่วยให้กรอบการทำงานชัดเจนขึ้นว่าทำอะไรได้
และทำอะไรไม่ได้
นอกจากนี้ มนต์กวี
เลียงผา นักพัฒนาชุมชน อบต. บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี มานำเสนอการรับมือสังคมสูงวัยของท้องถิ่น
ว่า อบต.บ่อพลอย เริ่มมาทำงานขับเคลื่อนเรื่องสังคมสูงวัยที่ ต.บ่อพลอย ตั้งแต่ปี 2564 จากนั้นในปี 2565
มีการทำบันทึกความตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่
ในการทำงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตใน 4 มิติของคนทุกวัย มีการจัดตั้งคณะทำงานในการขับเคลื่อน และเมื่อปี 2566
จึงจัดตั้งศูนย์การเรียนรู่สังคมสูงวัยขึ้นอย่างเป็นทางการและครอบคลุมทุกช่วงวัย
“ผู้บริหารของ อบต.บ่อพลอยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
และเราร่วมกับทุกหน่วยงานในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต อย่างเราทำงานกับเด็กๆ ในโรงเรียน เรื่องการออม การสร้างงานสร้างอาชีพ กรณีเด็กไม่เรียนต่อ เขาต้องมีงานและรายได้ในการเลี้ยงตัวเอง ไม่เป็นภาระของใคร การพัฒนาฝีมือแรงงานของคนวัยทำงาน การรวมกลุ่มสร้างสุขภาพ จนปัจจุบันนี้
อบต.บ่อพลอยเป็นศูนย์เรียนรู้รองรับสังคมสูงวัย ที่มีหลายๆ
หน่วยงานมาเรียนรู้ดูงาน ” มนต์กวีกล่าว
ขณะที่ อธิราช
อิงประสาร ประธานกลุ่มสาธุ เล่าว่า กลุ่มสาธุเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนในชุมชน
ข้าราชการเกษียณ บุคลากรทางการแพทย์ ที่พบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาล
แต่จำเป็นต้องรับการฟื้นฟู เช่น เตียงพยาบาล
เครื่องผลิตออกซิเจน รวมถึงขาดแคลนสถานที่จัดเก็บและองค์ความรู้ด้านการซ่อมบำรุง
ทำให้ในปี 2560 เริ่มผลักดันบทบาทของชุมชนขึ้นมาทำหน้าที่เหมือนคลังสำรองอุปกรณ์
ในขณะที่ระบบหลักยังเป็นโรงพยาบาล แต่เราทำงานร่วมกัน จนปัจจุบันแก้ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ได้
100%
เมื่อชุมชนเข้ามาสนับสนุนได้มากขึ้น
“ปัจจุบันเราไม่ได้ทำแค่จังหวัดตราดเท่านั้น แต่ขยายไปยัง ชลบุรี จันทบุรี สระแก้ว
มันมีความพัฒนาขึ้นมาอีกขั้น คือเราได้เชื่อมโยงกลับไปทางกองทุนฟื้นฟูซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
และองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ทำให้งานก้าวหน้าไปมาก และมีคนไข้ได้ใช้อุปกรณ์อย่างเพียงพอ” อธิราช กล่าว