ย้ำชวนทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ 'ธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ฉบับที่ 3' เข้าเวทีสมัชชาสุขภาพฯ 25 เม.ย.นี้ ร่วมสร้าง-นำไปใช้อ้างอิงได้ทุกระดับ
21 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

รองประธานฯจัดทำ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” ชวนทุกคนเข้าร่วมกระบวนการร่าง “เข็มทิศสุขภาพ” ของประเทศ ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น 25 เม.ย.นี้ ร่วมให้ความเห็นอย่างถี่ถ้วนก่อนเห็นพ้องเป็น “ฉันทมติ” เดินหน้าสู่การนำไปใช้อ้างอิงได้ในการปฏิบัติงาน ออกแบบแผนงาน-นโยบายทุกระดับ


นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ และประธานอนุกรรมการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นธรรมนูญฯ เปิดเผยในหัวข้อ “เข็มทิศสุขภาพไทย ไม่ไกลเกินรอ” ทางสถานีวิทยุคลื่นความคิด 96.5 F.M. เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ตอนหนึ่งว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เป็นการจัดทำตามกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้มีขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการอ้างอิง เป็นเสมือนเข็มทิศที่บอกทิศทางหรือเป้าหมายด้านสุขภาพของประเทศไทย ว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด

 

“เข็มทิศนี้จะชี้ว่าระบบสุขภาพของไทยควรจะไปทางไหน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือยุทธศาสตร์การทำงานด้านสุขภาพ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะคุ้มครองคนไทยอย่างไร มีการไปเสริมสร้างสุขภาพมากน้อยเพียงใด หรือหลังสถานการณ์โควิด-19 จะมีทิศทางป้องกันควบคุมโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ได้อย่างไร ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการออกแบบนโยบายของรัฐ หน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงประชาชน ที่สามารถนำไปใช้ในการอ้างอิง” นายชาญเชาวน์ ระบุ

 

สำหรับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ จะมีการทบทวนใหม่ทุกๆ 5 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ด้วยกระบวนการทำงานเชิงวิชาการตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา และกระบวนการมีส่วนร่วมพูดคุยรับฟังความคิดเห็นจากภาคีทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน กลุ่มคนนอกวงการสุขภาพ กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคีที่ทำงานด้านยุทธศาสตร์ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นต้น

 

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ในส่วนของกระบวนการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ขณะนี้กำลังจะดำเนินการเสร็จสิ้นอีกไม่นานเกินรอ โดยเตรียมที่จะมีการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 09.00-16.00 น. ณ กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อพูดคุยและรับฟังความเห็นต่อร่างธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 จากทุกภาคส่วนอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง ก่อนที่ทุกฝ่ายจะให้ฉันทมติรับรองร่วมกัน หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนทุกคนรับรู้ร่วมกัน

 

“ที่ผ่านมาเราเชิญทุกภาคส่วนมาคุยกันว่ากรอบ นโยบาย ยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของไทยควรจะเป็นอย่างไร แต่ละคนมองเห็นความหมายของสุขภาพอย่างไร เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของการไปหาหมอ แต่อะไรก็ตามล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าสิ่งแวดล้อม การศึกษา ปัญหาปากท้อง การทำมาหากิน หรือการเมืองการปกครอง ฉะนั้นเรื่องนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานทุกกระทรวง และทุกคน ที่ไม่ว่าจะดำเนินการอะไรเกี่ยวข้องกับสุขภาพ ต้องรู้ว่ามีกรอบ นโยบาย ยุทธศาสตร์นี้อยู่” นายชาญเชาวน์ ระบุ

 

นายชาญเชาวน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนความแตกต่างของธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 กับฉบับที่ผ่านมานั้น เนื้อหาสาระหลักๆ เช่น การสร้างเสริมสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพ ยังคงมีอยู่ แต่ในรายละเอียดได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ซึ่งในฉบับที่ 3 นี้ได้ใช้จุดเน้นว่า “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” เนื่องด้วยบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องมองไปถึงอนาคตว่าหากมีโรคอุบัติใหม่แบบนี้ขึ้นมาอีก จะมีการดูแลป้องกันประชาชนทุกคนอย่างไร ให้ได้รับการคุ้มครองโดยเท่าเทียมกัน

 

“ธรรมนูญฯ นี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และมีอยู่ในกฎหมายมาแล้ว 15 ปี จึงอยากฝากถึงทุกคนว่าการจัดทำธรรมนูญฯ นี้เป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน ที่จะเข้ามาร่วมกันร่างขึ้นและใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นธรรมนูญฯ ของทุกคนที่สามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน หรือคนที่อยู่ในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดใด ก็สามารถหยิบยกธรรมนูญฯ ฉบับนี้ขึ้นมาใช้อ้างอิงเป็นกติกาเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นกระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ วันที่ 25 เม.ย.นี้ ทุกคนจึงสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ในทั้งรูปแบบออนไซต์และทางออนไลน์” นายชาญเชาวน์ ระบุ