ทำความเข้าใจ 'ธรรมนูญฯฉบับ 3' ทิศทางระบบสุขภาพไทยในอีก 5 ปี Soft Power ที่ได้ผล-มีประสิทธิภาพ บนสัญญาการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
23 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เลขาฯ สช. ให้ภาพ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” บนพันธะสัญญาการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ย้ำเป็น “Soft Power” ที่ช่วยขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย นำไปใช้ได้ในทุกระดับ บนเป้าหมายหลักของการสร้างความเป็นธรรม-ลดเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19


นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยในรายการ “เคลียร์คัด ชัดเจน” ทางสถานีโทรทัศน์ NBT2HD ในหัวข้อ “ทุกคนบนแผ่นดินไทยจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน แค่คำพูดสวยหรู หรือเป็นจริง!” เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 ตอนหนึ่งว่า หากเราอยากรู้ว่าระบบสุขภาพของไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน การเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งหมดสามารถดูได้จากเนื้อหาในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายกำลังเดินหน้าจัดทำอยู่ในขณะนี้

 

นพ.ประทีป กล่าวว่า ทุกคนอาจคุ้นเคยกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจัดทำมาตั้งแต่ปี 2504 เรื่อยมาจนถึงฉบับที่ 13 ในขณะนี้ เป็นกรอบทิศทางการทำงานให้กับหน่วยงานราชการ รวมไปถึงภาคเอกชน โดยมุ่งเน้นไปที่มิติทางเศรษฐกิจและสังคม หากแต่ธรรมนูญระบบสุขภาพฯ จะเป็นตัวช่วยเสริมในการเป็นกรอบแนวทางการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งเมื่อได้รับฉันทมติจากภาคีสมาชิกและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐสภาแล้ว ก็จะถูกประกาศใช้และมีผลผูกพันกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานด้านสุขภาพต่อไป

 

“กระบวนการของธรรมนูญสุขภาพฯ จะแตกต่างจากกฎหมาย ตรงที่เป็นอำนาจอ่อน หรือ Soft Power ที่ใช้การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ เอกชน ประชาสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมกำหนดอนาคตว่าอยากเห็นระบบสุขภาพของไทยเป็นอย่างไร พัฒนาไปทางใด เพื่อให้เดินไปสู่เป้าหมายในการที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบสุขภาพด้วยความเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไร” นพ.ประทีป กล่าว

 

สำหรับธรรมนูญระบบสุขภาพฯ จะไม่ได้ให้ความสำคัญในมิติของการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว หากแต่เรื่องของสุขภาพนั้นมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกด้วย ดังนั้นธรรมนูญระบบสุขภาพฯ จึงต้องรองรับความสัมพันธ์เหล่านี้ โดยธรรมนูญระบบสุขภาพฯ เอง ยังมีการไปประยุกต์ใช้เป็นธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ ไม่ว่าเป็นจังหวัด ตำบล หรือธรรมนูญสุขภาพเฉพาะประเด็นอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ได้มีตัวอย่างของการประยุกต์ใช้กระบวนการธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ ในการเป็นกติกาหรือข้อตกลงร่วมของชุมชน เพื่อรับมือการระบาดของโรคในแต่ละระลอก ช่วยให้เกิดความเข้าใจของชุมชนในการรับมือ การจัดการดูแล รวมไปถึงการเกิดขึ้นของศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อ ซึ่งต่อมาได้กลายไปเป็นนโยบายการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการดูแลตนเองในระบบชุมชน (Community Isolation) ที่ใช้ในทั่วประเทศ

 

นพ.ประทีป กล่าวว่า ในส่วนของธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ที่ผ่านมาแล้ว 2 ฉบับ ได้ทำให้เกิดบริการทางเลือกใหม่ๆ กระจายอำนาจต่างๆ ซึ่งในฉบับที่ 3 นี้ได้วางเป้าหมายหลัก นอกจากที่จะสร้างความเป็นธรรม และการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับทุกคนแล้ว สิ่งสำคัญยังต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตโควิด-19 และอุดช่องว่างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนหลักประกันสุขภาพ การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบปฐมภูมิ รวมทั้งดูแลกลุ่มเปราะบางทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัย คนชายขอบ แรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

“การจะทำให้ความฝันเหล่านี้เป็นจริง ต้องเริ่มจากการจัดทำธรรมนูญฯ บนพื้นฐานความเป็นจริงและรองรับการเปลี่ยนแปลงข้างหน้า ในโลกที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคติดต่อต่างๆ โดยผนวกกับการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น พร้อมกระบวนการที่ต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนช่วยกันทำ ภายใต้เนื้อหาของธรรมนูญฯ ที่พูดถึงแนวคิดและเป้าหมายของระบบสุขภาพใน 5 ปีข้างหน้าอย่างครอบคลุม เช่น ระบบริการที่มุ่งเน้นปฐมภูมิ การคุ้มครองผู้บริโภค ความมั่นคงด้านการเงินการคลัง ซึ่งทุกมิติเป็นเนื้อหาที่อยู่ภายใต้ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 นี้” นพ.ประทีป กล่าว

 

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สิ่งที่บรรจุอยู่ในเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ยังมีในเรื่องของการพึ่งพาตัวเองในแง่ของยา วัคซีน และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มากขึ้น การดูแลสุขภาพเด็กเล็กตามพัฒนาการที่สมวัย อันเป็นอนาคตของประเทศ หรือระบบดูแลผู้สูงวัยแบบองค์รวม การจัดระบบดูแลที่บ้านเชิงรุก บทบาทของท้องถิ่นต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน หรือแม้แต่การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในเมือง การใช้พื้นที่รกร้างให้เกิดประโยชน์ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นทิศทางที่ธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ฉบับนี้ออกแบบไว้

 

นพ.ประทีป ยังกล่าวด้วยว่า ความคืบหน้าของธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ฉบับที่ 3 ขณะนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว 80-90% ผ่านกระบวนการทางวิชาการและการมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี และหลังจากนี้กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ในวันที่ 25 เม.ย. 2565 ซึ่งจะเป็นเวทีที่ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมให้ความเห็นเพิ่มเติมเพื่อนำไปปรับปรุงร่างธรรมนูญฯ พร้อมการที่จะร่วมกันสร้างพันธะสัญญาของภาคส่วนต่างๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเหล่านี้ไปพร้อมกัน

 

ด้าน นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า อีกหนึ่งตัวอย่างอันเป็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Soft Power ของธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ฉบับที่ผ่านมา คือภาพฝันของการสนับสนุนระบบการแพทย์แผนไทย ซึ่งในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ได้เกิดโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยตามภูมิภาคขึ้นเป็นจำนวนมาก และเนื้อหาข้อความเหล่านี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นไปขับเคลื่อนต่อในเชิงนโยบายอีกมากมาย รวมไปถึงบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มีการบรรจุยาแผนไทย ยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ดังนั้น Soft Power ของธรรมนูญระบบสุขภาพฯ จึงมีความหมาย แม้กระบวนการนี้จะไม่ได้ไปบังคับใคร แต่เป็นข้อตกลงที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันเป็นฉันทมติ และร่วมกันขับเคลื่อน ขณะเดียวกันถึงแม้ว่าธรรมนูญฯ จะถูกประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลผูกพันกับหน่วยงานต่างๆ แต่ก็อาจไม่ถูกปฏิบัติตามได้ ฉะนั้นการผลักดันกระบวนการนี้ให้สำเร็จ ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมและเกาะติดไปพร้อมกัน

 

“อย่าคิดว่าเราไม่มีพลัง เพราะเราทุกคนนั้นมีอยู่ แต่การจะแปรเปลี่ยนพลังให้เป็นรูปธรรมนั้น ธรรมนูญสุขภาพฯ เป็นตัวอย่างหนึ่ง ตั้งแต่การที่เราได้เข้าไปมีส่วนช่วยกันกำหนดหรือเสนอแนะเนื้อหา และหากได้รับการบรรจุก็เหมือนสำเร็จไปได้ครึ่งทางแล้ว ซึ่งขั้นต่อไปหากขยับเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ หรือ Active Citizen แล้วสามารถลุกขึ้นมาร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ผ่านช่องทางกลุ่มเครือข่าย หรือองค์กรของตัวเองได้แล้ว ภาพฝันเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การขับเคลื่อนจริงได้” นายวีรพงษ์ ระบุ