“อยู่ดี มีสุข” รวมพลังคนเหนือ! เตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ห่างไกล NCDs สร้างสุขภาวะ โดยพลังชุมชน
28 มิถุนายน 2568

“อยู่ดี มีสุข” รวมพลังคนเหนือ! เตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ห่างไกล NCDs สร้างสุขภาวะ โดยพลังชุมชน28 มิถุนายน 2568
สช. จับมือภาคีเครือข่ายพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เอาจริง! ขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะ รองรับสังคมสูงวัย ห่างไกล NCDs เสริมสร้างสุขภาวะ โดยพลังชุมชน พร้อมทุกหน่วยงานขานรับ
บูรณาการปี 2569
บูรณาการปี 2569

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างร่วมจัดงานมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สานพลังการขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะ ภายใต้หัวข้อ “อยู่ดี มีสุข คนเหนือล่างเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย สร้างสุขภาวะ โดยพลังชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน” ณ เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี จังหวัดสุโขทัย โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน นักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง กว่า 350 คน โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุมและการจัดงานครั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ
• การแสดงพื้นที่เจ้าภาพของผู้สูงอายุเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุและผู้พิการ Age-Friendly Communities” และดำเนินการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพในการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
• คนเหนือล่างร่วมการประกาศเจตนารมณ์และส่งข้อเสนอวาระคนเหนือล่าง “เตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย สร้างสุขภาวะ โดย พลังชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน”
• การเสวนาแบบรู้เขารู้เรา “ข้อเสนอที่อยากเห็น จังหวะก้าวที่อยากไป การเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย โดยพลังชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน”



ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นการรวมพลังของ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 2 และ 3 สมัชชาสุขภาพจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)/ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหน่วยงานในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี และชัยนาท


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานฯ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 21% ของประชากรรวม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต สังคมสูงวัยจึงเป็นความท้าทายด้านสุขภาพ ซึ่งพวกเราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ ซึ่งเป็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะของเขตสุขภาพที่ 2 และ 3 ทางภาคเหนือตอนล่าง โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนพื้นที่กลาง เพื่อนำไปสู่การ “อยู่ดี มีสุข” ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ร่วมปฏิบัติการ (2) ร่วมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย (3) ร่วมเรียนรู้กันและกัน และ (4) ร่วมสร้างพื้นที่กลาง ซึ่งการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ การเมือง ภาควิชาการ วิชาชีพ ภาคประชาชน และประชาสังคม จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาในระดับพื้นที่ ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน
การจัดงานฯ ครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้นำชุมชน ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม มุ่งหวังขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง โดยยึดหลัก ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมเปิดโอกาสให้ ทุกช่วงวัยมีส่วนร่วม ต่อยอดแนวทางสู่ ระดับตำบล จังหวัด อย่างเป็นรูปธรรม นายสมศักดิ์ กล่าว

นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่าความสำคัญของการเสริมสร้างศักยภาพของพื้นที่ คือจัดระบบสุขภาวะที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เปิดกว้างและให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือล่างนับว่ามีศักยภาพสามารถเรียนรู้และนำการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะมาสู่การปฏิบัติในหลายพื้นที่ เช่น เกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย การเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย และการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs Ecosystem) พร้อมทั้งส่งเสริมพลังพลเมืองในการร่วมสร้างสุขภาวะของสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการว่า “นโยบายสาธารณะที่ดี ต้องมาจากฉันทามติของสังคม” ซึ่งสะท้อนผ่านแนวคิดสำคัญ “พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนมีพลัง นโยบายมีชีวิต” อันเป็นแนวทางสำคัญในการรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในอนาคตอย่างเป็นระบบ
การรวมพลังครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม และความเปราะบางด้านเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการวิชาชีพ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน ได้ร่วมกันสานพลังขับเคลื่อนสุขภาวะในรูปแบบ “พื้นที่กลาง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. สานพลังเครือข่ายในการขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานในระดับพื้นที่ 2. ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาวะ ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ทั้ง 10 จังหวัด นพ.สุเทพ กล่าว
