โควิด-19 กับ 'หนังสือแสดงเจตนา' เกี่ยวกับการรักษา ใน 'ระยะสุดท้าย'
26 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

โควิด-19 เข้ามาปรับเปลี่ยนสังคมของพวกเราหลายประการ ไม่ว่าจะด้านสุขอนามัย การเรียนการสอน การรักษาพยาบาลแบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือแม้แต่เรื่องความตาย


จากสถิติทั่วโลก ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน แต่อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เรื่องการวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองล่วงหน้า (Advance Care Planning) และ การทำหนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาในระยะสุดท้าย (Living Will) ถูกพูดถึงมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศอเมริกา

 

สังคมอเมริกาไม่ต่างจากสังคมไทยเมื่อพูดถึงเรื่องความตาย เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามที่มักไม่พูดคุยกันในสังคม จากสถิติพบว่าคนอเมริกันเกือบ 7 ใน 10 คนยังมีความคิดเช่นนั้น

 

แม้ว่าคนอเมริกัน 92% เห็นว่าการพูดคุยกับคนรักเรื่องการรักษาในระยะสุดท้ายเป็นเรื่องสำคัญก็ตาม แต่การพูดคุยกับคนรักจริงๆ มีประมาณ 32% และพูดคุยกับแพทย์ยิ่งน้อยลงไปอีก ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันถึง 63% ยังไม่ได้วางแผนเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเองล่วงหน้า

 

การวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองล่วงหน้า และการทำหนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาในระยะสุดท้าย นอกจากช่วยทำให้ความปรารถนาสุดท้ายของผู้ป่วยบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ยังทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สบายใจในการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากมีกระบวนการวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์

 

สถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องการ และไม่ต้องการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือบางขณะที่จำนวนเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย การวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองล่วงหน้า และการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ทำให้สถานการ์ณตึงเครียดเช่นนี้คลี่คลายลงได้อย่างนุ่มนวล

 

โควิด-19 จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะพูดถึงและขยายผลเรื่องการวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองล่วงหน้า และการทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ในวงกว้างมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งอาจใช้เทคโนโลยี เช่น VDO Conference มาช่วยให้การวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองล่วงหน้าสะดวกขึ้น หรือให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับความตายและการสูญเสีย (Death Education) กับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาสาขาอื่นๆ หรือลงไปถึงนักเรียนระดับมัธยมก็ได้ และที่สำคัญ ควรให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องความตายและการสูญเสียกับประชาชนทั่วไปด้วย


แหล่งข้อมูล

·      Colette A. McAfee et al, (2022) COVID-19 brings a new urgency for advance care planning: Implications of death education, Death Studies, 46:1, 91-96, DOI:10.1080/07481187.2020.1821262

·      Katherine Harmon Courag (2020), Planning For End-Of-Life Care Is More Crucial Than Ever. Here's How, National Public Radio of USA www.npr.org

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนมีนาคม 2565