ฉลุย! เข็มทิศนโยบายสุขภาพไทย ‘ธรรมนูญระบบสุขภาพฯ ฉบับ 3’ ภาคีสมัชชาฯ เห็นชอบเป็นฉันทมติ สช.เตรียมชง ‘ครม.-สภา’ พิจารณา
26 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ภาคีสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศร่วมให้ “ฉันทมติ” เห็นชอบ “(ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” ให้เป็นกรอบ-แนวทางการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ สู่เป้าหมายระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ด้าน สช.เปิดรวบรวมความเห็น-ข้อเสนอต่อถึง 30 เม.ย.นี้ ก่อนปรับเนื้อหาส่งเข้า คสช.-ครม.-สภาฯ ให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป


 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมประชาสัมพันธ์ พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิกสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศ ต่อ (ร่าง) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 โดยที่ประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ได้ร่วมกันมีฉันทมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม”

 

ทั้งนี้ สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ได้ร่วมกันให้ความเห็นและข้อเสนอแนะที่หลากหลายต่อ (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นการให้มุมมองต่อระบบสุขภาพที่เป็นธรรมของแต่ละฝ่าย การสะท้อนถึงข้อกังวลในประเด็นของกลุ่มเปราะบาง แรงงานข้ามชาติ ความขัดแย้งในสังคม ค่ารักษาพยาบาลภาคเอกชน ปัญหาสภาพภูมิอากาศ พื้นที่สาธารณะ ผลกระทบสุขภาพจากการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนข้อเสนอต่อการส่งเสริมสุขภาพ การค้นคว้าวิจัย การจัดสรรงบประมาณ การใช้กลไกขับเคลื่อนในระดับต่างๆ เป็นต้น

 

สำหรับความคิดเห็นของสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้ จะถูกส่งให้คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญฯ นำไปประกอบการปรับแก้ไขตามความเหมาะสม ก่อนนำ (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 เสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ก่อนรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารับทราบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ทุกหน่วยงาน องค์กร รวมถึงชุมชน ท้องถิ่น ทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันนำกรอบและเป้าหมายนี้ไปใช้ขับเคลื่อนหรืออ้างอิง ตามบทบาทหน้าที่และอำนาจของตนต่อไป

 

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เปิดเผยว่า การจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ในครั้งนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการสร้างการรับรู้ รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ขณะเดียวกันยังจะมีการเปิดรับความเห็นและข้อเสนอต่อไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย. 2565 เพื่อให้เกิดข้อตกลงในการขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ภายใต้ความเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายของธรรมนูญฯ ในระยะ 5 ปี ที่ระบุไว้ว่า “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”


 


“บทเรียนของโควิด-19 ทำให้พวกเราเห็นชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่จริง และหากไม่จัดการแล้วก็จะยิ่งมีช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันสุขภาพก็ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องของทุกคนและของสังคมโลกด้วย หรือที่เราเรียกว่า one world one destiny มีสุขก็สุขด้วยกัน มีทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน ดังนั้นธรรมนูญฯ ฉบับนี้ จึงมีแนวคิดสำคัญที่การมองระบบสุขภาพแบบองค์รวม ให้ความสำคัญกับปัจจัยแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพคน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ดร.สุวิทย์ กล่าว

 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากการรับฟังความเห็น สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมแล้ว สมัชชาสุขภาพฯ ในครั้งนี้ยังเป็นเวทีของการสร้างพันธสัญญาในการขับเคลื่อนร่วมกัน ของแต่ละหน่วยงาน องค์กร หรือแม้แต่ในระดับชุมชน บุคคล ที่สามารถนำเนื้อหาของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ไปปรับใช้ได้ตามบทบาทและหน้าที่ของตน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของระบบสุขภาพที่เป็นธรรม

 

นพ.ประทีป กล่าวว่า หลังจากเวทีในวันนี้ ทาง สช. ยังจะมีการเดินหน้าทำความเข้าใจเพื่อการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ทั้ง 13 เขตสุขภาพ ผ่านกลไกของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ควบคู่กันไป พร้อมจัดทำแผนสนับสนุนการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วนตามเจตจำนงและเป้าหมายสู่ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในระยะ 5 ปี ของ (ร่าง) ธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 นี้ และจะรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ต่อไป

 

ด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เปรียบเสมือนเป็นภาพอนาคตของระบบสุขภาพไทย ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการทำงานได้ โดยฉบับที่ 3 นี้ได้ปรับให้มีความสอดคล้องมากขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเทคโนโลยี โรคระบาดใหญ่ การก้าวสู่สังคมสูงวัย

 

“เราจะเห็นได้ว่าสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่กว้างมาก และไม่ได้เป็นแค่เรื่องของ สธ.เท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หน่วยงาน องค์กร กลไกต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ รวมถึงคนในชุมชน ที่ล้วนมีบทบาทในการร่วมกำหนดสุขภาพของเราและของประเทศ ผ่านการสร้างธรรมนูญฯ ในวันนี้ ที่จะถูกนำไปขับเคลื่อนได้จริงต่อไป” ดร.สาธิต กล่าว

 

อนึ่ง มาตรการสำคัญเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของระบบสุขภาพพึงประสงค์ตามธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ประกอบด้วย 1. กระบวนการนโยบายสาธารณะที่ดีและมีส่วนร่วมภาคีทุกภาคส่วนภายใต้บริบทด้านเศรษฐกิจและสังคม 2. การสร้างเสริมสุขภาพอย่างสมดุลทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม รวมถึงปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพด้วย การทำสภาพแวดล้อมสนับสนุนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี มีการพัฒนาศักยภาพบุคคลและชุมชน 3. การจัดการระบบบริการสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับกาย จิต ปัญญา และสังคมอย่างสมดุลอย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นระบบบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ เท่าเทียม และเป็นธรรมกับทุกคนในสังคม รวมทั้งการมีแผนสนับสนุนการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกภาคส่วนตามเจตจำนงและเป้าหมายของธรรมนูญฯ นี้