WHO นำร่องโปรแกรม 'ICOPE' การดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ ชูแนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชน รองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยทั่วโลก
27 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

WHO เผยความคืบหน้าเฟสแรกโครงการนำร่อง "ดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ" ย้ำหลักการเน้นบุคคลเป็นศูนย์กลาง การบูรณาการ-มีส่วนร่วมของชุมชน หวังหนุนรัฐบาลประเทศสมาชิกเห็นความจำเป็นของแนวทางรองรับสังคมสูงวัย พร้อมผนวกการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ


เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานความคืบหน้าในเฟสแรกภายใต้โครงการนำร่อง "การดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ" หรือ integrated care for older people (ICOPE) ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ของ WHO ที่แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 เฟส โดยมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนประเทศสมาชิกทั่วโลก ปรับตัวให้เข้ากับการดูแลแบบบูรณาการ รองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

สำหรับแนวทาง ICOPE จะมุ่งเน้นไปที่ความต่อเนื่องของการดูแล ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนสุขภาพและบริการทางสังคมไปสู่รูปแบบการดูแลที่เน้นบุคคลเป็นศูนย์กลาง และมีการประสานงานที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการทำงานระดับชุมชนเพื่อจัดการกับความสามารถของผู้สูงอายุที่ลดลง แนวทางการจัดการอาการปวดหลังเรื้อรังในผู้ใหญ่ แนวทางการดูแลตนเอง (Self-Care) เป็นต้น

ทั้งนี้ ตามรายงานของ WHO ระบุว่า ในระยะแรกของโครงการนำร่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความพร้อมและความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแนวทาง ICOPE โดยสิ่งที่ได้รับคือประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่ได้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงตัวช่วย อุปสรรค และจุดแข็งสำหรับการดำเนินการตามแนวทางของ ICOPE และการเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมการและการปรับตัวที่จำเป็นในการนำ ICOPE ไปใช้

ข้อมูลตามรายงานนี้ เป็นผลการสำรวจจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ดูแลรวม 260 คน จาก 29 ประเทศสมาชิก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับนโยบายจำนวน 259 คน จาก 35 ประเทศสมาชิก ซึ่งรวมทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันยังเป็นการรวบรวมประสบการณ์ของทีมวิจัยที่นำร่อง ICOPE ใน 4 ประเทศ ได้แก่ อันดอร์รา จีน ฝรั่งเศส และอินเดีย

ในส่วนของข้อค้นพบที่สำคัญคือ ผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและการดูแลมีทัศนคติเชิงบวกต่อหลักการดูแลแบบบูรณาการ และมีความมุ่งมั่นในระดับสูงที่จะปรับใช้และนำ ICOPE ไปปฏิบัติ ด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการส่งมอบการให้บริการดูแล

ขณะเดียวกัน อีกปัจจัยที่ถูกสะท้อนจากผู้สูงอายุที่เข้าร่วม รวมถึงผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและการดูแล คือการมีส่วนร่วมเชิงรุกของผู้สูงอายุและชุมชน นับเป็นปัจจัยสำคัญในทุกขั้นตอนของเส้นทางการดูแลตามแนวทาง ICOPE

รายงานนี้ยังระบุอีกด้วยว่า แนวทาง ICOPE นี้สามารถที่จะนำไปใช้ได้ในบริบทที่แตกต่างกัน ดังที่แสดงให้เห็นจากกรณีศึกษาอันมีที่มาจากหลายประเทศที่แตกต่างกัน สะท้อนถึงคุณค่าของกระบวนการออกแบบร่วมกันในท้องถิ่น และการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่น

WHO ย้ำว่าข้อค้นพบเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นของการระดมทรัพยากร เพื่อนำ ICOPE ไปปฏิบัติ และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ดร.อันชู บาเนอร์จี ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพและการเจริญพันธุ์แม่และเด็ก WHO ระบุว่า การนำแนวทาง ICOPE ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาล ผนวกกับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมในระดับสูงจากผู้สูงอายุ ชุมชน และพันธมิตรอื่นๆ จะช่วยให้เราสามารถคาดหวังถึงอนาคตที่สดใสสำหรับผู้สูงอายุทั่วโลก

อนึ่ง สามารถดูผลรายงานการนำร่องตามแนวทาง ICOPE ฉบับเต็มได้ทาง https://www.who.int/publications/i/item/9789240048355