การดูแลแบบประคับประคอง กับสิทธิการรักษาพยาบาล 3 กองทุน และการประกันสุขภาพภาคเอกชน
27 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้รับรองสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการในการสื่อสารในขั้นตอนของการวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance care planning) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)

 

หากพิจารณาสิทธิในการรักษาพยาบาล 3 กองทุนที่รัฐจัดให้แก่ประชาชนซึ่งได้แก่ สิทธิสวัสดิการค่าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วพบว่าทั้ง 3 กองทุนได้กล่าวถึงสิทธิในการดูแลแบบประคับประคองที่แตกต่างกัน โดยสามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

 

 

เปรียบเทียบรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองใน 3 กองทุน

 

สิทธิราชการ

สิทธิประกันสังคม

สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

กฎหมายกำหนดสิทธิให้แก่ประชาชน

พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

บุคคลผู้ได้รับสิทธิ

ข้าราชการและครอบครัวกว่า 4.9 ล้านคน

สมาชิกกองทุนประกันสังคมกว่า 11 ล้านคน

ประชาชนไทยที่ไม่มีสิทธิการรักษาใดๆ จำนวนกว่า 47 ล้านคน

รูปแบบการดูแลและ

รายละเอียดการดูแลแบบประคับประคอง

1.การดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาล

1.การดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาล

1.การดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาล

2.การดูแลในชุมชนผ่านกองทุนส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยมุ้งเน้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทในการบริหารจัดการกองทุน เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการฟื้นฟูสมรรถภาพ และการ รักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุกในพื้นที่ โดยสนับสนุนให้องค์กรหรือกลุ่มประชาชน ร่วมดำเนินกิจกรรมการจัดบริการ สาธารณสุขในท้องถิ่น

๓.การดูแลที่บ้าน ผ่านหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยครอบคลุมผู้ป่วยทุกกลุ่มโรค ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย  ตามเกณฑ์แนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด  ในลักษณะของการเหมาจ่ายต่อราย ตามระยะเวลาที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลที่บ้าน โดยประมวลผลจากวันที่เริ่มให้บริการที่บ้านครั้งแรก จนถึงวันที่ผู้ป่วยเสียชีวิตเมื่อตรวจสอบกับฐานทะเบียนราษฎร์

   3.1 เป็นการเหมาจ่ายตามระยะเวลาที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลที่บ้านก่อนเสียชีวิตโดยครอบคลุมผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกกลุ่มโรคที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตามเกณฑ์แนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด

   3.2 เป็นการเหมาจ่ายต่อรายตามระยะเวลาที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลที่บ้าน โดยประมวลผลจากวันที่เริ่มให้บริการที่บ้านครั้งแรก จนถึงวันที่ผู้ป่วยเสียชีวิต

   3.3 จ่ายแบบเหมาจ่ายตามอัตราและระยะเวลาการให้บริการที่กำหนด

 

 

จากตารางดังกล่าวสรุปได้ว่าสิทธิในการดูแลแบบประคับประคองของทั้ง 3 ยังมีความเหลื่อมล้ำกันมากเพราะสิทธิราชการและสิทธิประกันสังคมนั้นมีเฉพาะการดูแลแบบประคับประคองในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองทั้งในโรงพยาบาล ในชุมชนและที่บ้าน

 

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ในเรื่องสิทธิการดูแลเป็นเช่นนี้จึงเป็นที่มาของความจำเป็นในการสร้างระบบการดูแลแบบประคับประคองในภาคเอกชนผ่านระบบประกันสุขภาพภาคสมัครใจขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เป็นทางเลือกกับผู้ป่วยและครอบครัวในการวางแผนการดูแลตนเอง

 

ในต่างประเทศมีการจัดทำกรมธรรม์สุขภาพการดูแลแบบประคับประคองเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนที่ต้องการรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองที่นอกเหนือจากการดูแลที่รัฐจัดหาให้ โดยหลักการคือ จะต้องมีการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกรมธรรม์ทั้งนี้เพื่อจะแจ้งถึงแนวทางในการเลือกการรักษาพยาบาลที่ตนเองต้องการและไม่ต้องการ รวมทั้งกำหนดผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจแทนตนเองในกรณีที่ตนเองไม่สามารถตัดสินใจได้แล้ว

 

ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีการขายกรมธรรม์ที่เป็นกรมธรรม์การดูแลแบบประคับประคองแล้ว แต่รูปแบบของกรมธรรม์ยังไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขและยังไม่มีการกำหนดผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจแทนผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้แล้ว ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนากรมธรรม์การดูแลแบบประคับประคองเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเหมาะสมกับบริบทของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนมีนาคม 2565