ปัญหา ‘สิ่งแวดล้อม-ภูมิอากาศ’ ภัยคุกคามสำคัญต่อสุขภาพ ‘เด็ก’ ดันรัฐบาลทั่วโลกพัฒนามาตรการ ใช้ตัวชี้วัด ‘อนามัยสิ่งแวดล้อม’
27 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

“ภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม” นับเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตกว่า 1 ใน 4 ของประชากรบนโลก ซึ่งตัวเลขนี้ยังถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ขยายความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างร้ายแรง เช่นเดียวกับปัญหามลพิษทางอากาศ การขาดแคลนน้ำและสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอ การใช้สารเคมี ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในทุกพื้นที่ ด้วยความหนักเบาของผลกระทบที่ไม่เท่ากันในสังคม

 

แดเนียล แคส รองประธานอาวุโสฝ่ายสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และสุขภาพเขตเมืองของ Vital Strategies ซึ่งเป็นองค์กรด้านสุขภาพระดับโลก ระบุว่า ผู้ที่ต้องแบกรับภาระจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด คือกลุ่ม “เด็ก” ซึ่งพบว่าในทุกๆ ปี มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มากกว่า 1.7 ล้านคน ต้องเสียชีวิตอันเนื่องมาจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม

 

แต่หากเรามีการลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมลงไปได้ ก็จะสามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตในเด็กได้ลดลงถึง 1 ใน 4 ของทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมดูจะเป็นสาเหตุหลักต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของกลุ่มเด็กในภูมิภาคเอเชียอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาได้ดีขึ้น ก็จำเป็นจะต้องมีข้อมูลเฉพาะของแต่ละประเทศ รวมทั้งในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างแนวทางในการยกระดับสุขภาพของเด็ก ผ่านการสร้างระบบติดตามแบบบูรณาการ เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง ผลลัพธ์ทางสุขภาพ และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับอนามัยสิ่งแวดล้อมในเด็ก เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถจัดลำดับความสำคัญในการลงทุน ติดตามประเมิน ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมกับสาธารณชน เพื่อทำความเข้าใจและจัดการกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี

 

ทั้งนี้ Vital Strategies และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) ได้ร่วมกันสร้าง “ตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของเด็ก” หรือ Children's Environmental Health Indicators ขึ้น เป็นเครื่องมือเพื่อให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ รวมถึงหน่วยงาน มหาวิทยาลัย ไปจนถึงภาคประชาสังคม สามารถนำไปใช้วิเคราะห์และติดตามภัยคุกคามทางสุขภาพในเด็ก ที่มีสาเหตุจากด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมสนองตอบด้วยการใช้ทรัพยากรที่จำเป็น และมาตรการทางนโยบายเพื่อสนับสนุนสุขภาพที่ดีของเด็กภายในประเทศ

 

ซอนมี ชอย ที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของยูนิเซฟ กล่าวว่า แม้บริบทของรัฐบาล ประชากร รวมถึงภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่ไม่ว่าอย่างไรตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของเด็กนี้ สามารถปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสภาพการเมืองของแต่ละประเทศได้ไม่ยาก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ในแต่ละพื้นที่ ด้วยความรวดเร็วและใช้งบประมาณที่ไม่มาก

 

“เราได้ใช้ข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดที่สามารถปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศหรือภูมิภาค และสามารถนำไปร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย เราจึงหวังว่าประเทศต่างๆ จะยินดีนำตัวชี้วัดเหล่านี้ไปพัฒนาต่อ ให้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมต่อเด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กที่เผชิญความเสี่ยงต่อปัญหาด้านสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมในระดับสูง” ชอย ระบุ

 

สำหรับงานที่ Vital Strategies และยูนิเซฟ ได้ร่วมกันทำขึ้นมาชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคย่อย และผนวกเข้ากับข้อมูลหลักฐานในระดับโลก เพื่อสร้างตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของเด็ก เป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการติดตาม ประเมิน รายงานสถานะและผลกระทบของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพของเด็ก ตลอดจนใช้ในการประเมินมาตรการและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำร่องตัวชี้วัดนี้ในประเทศจีน และเมียนมา

 

ขณะเดียวกัน งานชิ้นนี้ก็ได้รับการคัดเลือกให้ชนะรางวัล “นวัตกรรมเพื่อการสาธารณสุขในอนาคต” ระดับภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในหมวด “Healthy Environments and Populations” ซึ่งเป็นการค้นหาทางออกด้านสุขภาพที่เหมาะกับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นไปที่งานออกแบบเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี การเลือกอาหารที่ดี การสร้างความปลอดภัย และบริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุม ภายใต้เป้าหมายในการทำให้เด็กเกิดใหม่ทุกคนมีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาว

 

ด้าน ดร.สิทธี อารยัล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Vital Strategies กล่าวว่า ต้องขอบคุณที่ WHO ยอมรับตัวชี้วัดนี้ และหวังว่าจะถูกนำไปใช้เพื่อช่วยให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เสริมสร้างความสามารถในการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของเด็กในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกหลายล้านคน ที่จะยังคงตกอยู่ในอันตรายจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม

 

อนึ่ง สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของ ตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของเด็ก (Children's Environmental Health Indicators) ได้ทาง https://www.vitalstrategies.org/resources/promoting-healthy-environments-for-children-by-using-indicators/