สะท้อนข้อเสนอต่อว่าที่ 'ผู้ว่าฯ' พัฒนา 'ระบบบริการสุขภาพ' กทม. เน้นดึงเอกชน-ชุมชน ร่วมยกระดับ มีสายให้คำปรึกษาสุขภาพคนเมือง
3 พฤษภาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

นับเป็นเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งนอกจากบรรยากาศการหาเสียงของผู้สมัครแล้ว ยังเป็นเวลาเดียวกันกับที่หลายภาคส่วนต่างใช้จังหวะนี้ ร่วมกันสะท้อนสภาพปัญหาที่ไหลเวียนอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้หลากหลายด้าน ซึ่งที่ผ่านมาอาจยังค้างคาหรือไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไขอย่างตรงจุด


หนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงกันมากขึ้น นั่นคือ สุขภาพของคนเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งขับเน้นให้เห็นสภาพปัญหาของระบบสาธารณสุขเมืองกรุง ที่ต้องมีการบูรณาการเป็นอย่างมาก ทว่าเรื่องนี้กลับเป็นประเด็นที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ น้อยคนนักจะรับรู้ถึงเบื้องลึกของปัญหาดังกล่าว อันประเมินได้จากนโยบายที่ถูกนำเสนอผ่านผู้สมัครแต่ละราย


เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐ วิชาการ เอกชน และภาคประชาสังคม จึงได้ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ ฟังเสียงคนกรุง เมืองสุขภาพ เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา พร้อมกับที่จะมีการยกระดับเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและคำถามสำคัญเสนอต่อผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป


หนึ่งในช่วงสำคัญของเวทีนี้ คือกระบวนการแบ่งกลุ่มเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงโยบายทั้งหมด 4 ด้าน อันประกอบด้วย 1.กฎหมาย ระเบียบ นโยบายและยุทธศาสตร์ ด้านสุขภาพ (รูปแบบการกระจายอำนาจ, ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร) 2.ระบบบริการด้านสุขภาพ (ปฐมภูมิ ข้อมูล การจัดการ ทรัพยากร) 3.เครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน (อาสาสมัคร นักบริบาล แกนนำชุมน ประชาสังคม) 4.สภาพแวดล้อมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (พื้นที่ออกกำลังกาย อาหารปลอดภัย) โดยมีตัวแทนจากบุคลากรที่ทำงานด้านสาธารณสุขหลายภาคส่วน อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) สำนักงานพัฒนาระบบสุขภาพ คลินิกเวชกรรม ฯลฯ ร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยน


จากข้อเสนอทั้งหมดนี้ ประเด็นว่าด้วยเรื่องของ “ระบบบริการด้านสุขภาพ” เป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ใน กทม. ได้สัมผัสรับรู้ตลอดมา จากสายตาของประชากรที่ต้องพึ่งพิงกับระบบสุขภาพในพื้นที่นี้ ซึ่งอาจมีจำนวนมากถึง 10 ล้านคน เมื่อนับรวมผู้คนทั้งหมดที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอาศัยหรือทำงาน


พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน สะท้อนประเด็นจากการแลกเปลี่ยนในเรื่องระบบบริการด้านสุขภาพของ กทม. เริ่มด้วยเรื่องของจำนวนศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ที่มีอยู่ 69 แห่ง รวมกับศูนย์สุขภาพสาขาอีก 77 แห่ง นับเป็นทั้งหมด 146 แห่ง หากคำนวณจำนวนหน่วยบริการต่อประชากร 5.7 ล้านคน พบว่าหน่วยบริการ 1 แห่งจะต้องรองรับประชากรกว่า 4 หมื่นคนโดยประมาณ แสดงให้เห็นถึงภาระความยากลำบากของหน่วยบริการในการดูแลผู้คน


แม้ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการตั้งทีมหมอครอบครัว โดยกำหนดให้ 1 ทีมจะดูแลประชากรประมาณ 1-2 พันคน ซึ่งขณะนี้มีทีมดังกล่าวจำนวนราว 310 ทีม แต่จากการร่วมกันแลกเปลี่ยนของหลายภาคส่วน ได้เห็นตรงกันว่าควรมีจำนวนเพิ่มเป็น 570 ทีม จึงเท่ากับขาดอีก 260 ทีม และการเพิ่มทีมนี้ก็ต้องประกอบด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันทั้งภาครัฐและเอกชน


การเพิ่มจำนวนทีมนี้ ไม่จำเป็นที่ กทม.จะต้องจัดสรรเองทั้งหมด แต่ควรทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ สร้างเครือข่าย โดยประสานและบริหารจัดการให้ภาคเอกชนรวมถึงชุมชนเข้ามาร่วมด้วยพญ.สุพัตรา แจงหลักการ


สำหรับประโยชน์สำคัญของการเพิ่มทีมนี้ คือการลดจำนวนงบประมาณที่ต้องใช้ลงไปอย่างมาก โดยหากนำภาคเอกชนเข้ามาร่วมสร้างหน่วยบริการ จะใช้ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาทต่อหนึ่งหน่วย แต่หากรัฐสร้างศูนย์บริการเองจะต้องใช้งบสูงถึงประมาณ 100 ล้านบาท ดังนั้นหากคิดในฐานของการสร้างศูนย์บริการเอง 10 แห่งเท่ากับ 1,000 ล้านบาท ถ้านำงบประมาณส่วนนี้มาร่วมกับภาคเอกชนจะมีหน่วยบริการได้ถึง 300 แห่ง ซึ่งในมุมนี้หลายภาคส่วนมองว่าสามารถดำเนินการได้ทันที




ส่วนข้อเสนอถัดมา คือการตั้งบริการ On call / Call Center เป็นบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ครอบคลุมทั้งอาการทั่วไปและภาวะฉุกเฉิน โดยวงประชุมไม่ได้เลือกที่จะเสนอบริการรักษาแบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เนื่องจากมองว่ายังมีช่องว่างในเรื่องของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและการใช้งานในผู้สูงอายุบางราย


ทั้งนี้ หากมีบริการ On call เกิดขึ้น เชื่อว่าจะช่วยลดความแออัดในระบบบริการ และช่วยให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น เนื่องจากอาการเจ็บป่วยทั่วไปกว่า 70-80% ประชาชนสามารถดูแลรักษาตนเองได้ เพียงแต่อาจไม่รู้เกี่ยวอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น และปัจจุบันมีหลายกรณีที่ไปหน่วยบริการเพียงเพราะต้องการสอบถามหรือปรึกษาอาการ


อย่างไรก็ดี ผู้ที่มารับสายให้คำปรึกษาจำเป็นจะต้องมีความรู้ในระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันการต้องผลักสายไปหาผู้ที่ชำนาญกว่า อีกทั้งควรมีการเชื่อมต่อกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมบูรณาการระบบเชื่อมต่อ-ส่งต่อข้อมูล เพื่อให้หลายส่วนเชื่อมเข้าหากันและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น


พญ.สุพัตรา ยังให้ข้อมูลเพิ่มถึงอีกประเด็นที่ทางกลุ่มมองว่ามีความสำคัญ นั่นคือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน หรือที่เรียกว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ซึ่งมองว่าควรจะมีหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ และต้องทำอย่างจริงจัง โดยงานประเภทนี้ทางภาคเอกชนอาจมีศักยภาพที่สอดคล้องกับภาระหน้าที่มากกว่า และจะช่วยคลี่คลายปัญหาของหน่วยบริการได้ค่อนข้างมาก


นอกจากนี้ยังรวมถึงบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ที่อาจแยกออกจากบริการด้านการรักษาพยาบาลได้ รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ เนื่องจากลักษณะการใช้ชีวิตของผู้คนใน กทม. มักมีการเดินทางเคลื่อนย้ายไปหลายพื้นที่ ฉะนั้นการรักษาอาจจะใช้บริการในที่หนึ่ง แต่การสร้างเสริมสุขภาพอาจต้องจัดการอีกแบบหนึ่ง โดยอาจจะจัดการเป็นขอบเขตพื้นที่หรือดูเป็นกลุ่มที่ชัดเจนในการให้บริการ


ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอในการพัฒนา ระบบบริการด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ส่งตรงไปถึงผู้ว่าราชการ กทม. คนต่อไป ภายใต้ความคาดหวังในการเข้ามามีบทบาทคลี่คลายปัญหา พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในด้านสุขภาพของคนกรุง ได้ยกระดับไปสู่จุดที่ควรจะเป็นต่อไป