‘WHO’ ยกย่อง ‘ประเทศไทย’ เป็นต้นแบบจัดการ ‘โควิด-19’ เตรียมเผยแพร่ประสบการณ์ บนเวทีสมัชชาอนามัยโลกปีนี้
6 พฤษภาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

WHO ชื่นชมประเทศไทยยกย่องเป็นต้นแบบ 1 ใน 3 รับมือกับโควิด-19 เตรียมเป็นประเทศนำร่องเผยแพร่ประสบการณ์สู่สาธารณะที่ประชุมสมัชชาอนามัยปี 2565


ดร.สมิลา อัสมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า WHO ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบ 1 ใน 3 ที่มีการบริหารจัดการ และรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญนโยบายของรัฐบาลและการวางแผนอย่างรัดกุมจากคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

พร้อมกันนั้น ยังให้ไทยเป็นประเทศนำร่องที่จะได้เผยแพร่ประสบการณ์สู่สาธารณะในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2565 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิก และเพื่อให้เกิดการพัฒนาเครื่องมือและกลไกใหม่รองรับวิกฤติด้านสาธารณสุขสำหรับใช้งานทั่วโลกในอนาคต

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนไม่ก้าวกระโดด และไม่พบกลุ่มแพร่ระบาดหรือการเกิดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดทั้งก่อนและหลังการเดินทาง เครือข่ายสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ร่วมสนับสนุนการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่คืนความสุขและสร้างรอยยิ้มให้กับประชาชนได้อีกครั้ง ภายหลังจากที่หลายคนต้องห่างเหินจากครอบครัวเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุให้ไม่สามารถเดินทางได้

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจาก WHO นั้น สอดคล้องกับสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยในขณะนี้ ที่พบว่าดีขึ้นกว่าช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 เป็นอย่างมาก ซึ่งจากการสำรวจผ่านระบบ Mental Health Check In พบว่าประชาชนมีความเข้มแข็งทางใจเพิ่มขึ้น 

ขณะเดียวกันอัตราความเครียดลดลงจาก 4.74% เหลือเพียง 2.55% อัตราเสี่ยงซึมเศร้าลดลงจาก 5.74% เหลือเพียง 3.12% และเสี่ยงฆ่าตัวตายลดลงจาก 3.14% เหลือเพียง 1.54% โดยผลจากการสำรวจดังกล่าว กรมสุขภาพจิตมีแผนที่จะพัฒนาข้อมูลเพื่อให้ความรู้ในการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ผ่านทางระบบ Mental Health Check In รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้สุขภาพจิตเข้าไปอยู่ในระบบหมอพร้อม (D-Mind MorPromt) อีกด้วย

นอกจากนี้ สธ. และทุกภาคส่วน ยังจะเร่งสร้างและพัฒนากลไก รวมไปถึงจัดทำองค์ความรู้ในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพกายและจิตอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้ประชาชนให้การสนับสนุนมาตรการต่างๆ เช่นนี้ต่อไป เพื่อทำให้คนไทยได้กลับมามีรอยยิ้มและพบกับความสุขเหมือนเดิมอีกครั้ง