เสียงสะท้อน 'อสส.' ถึง 'ผู้ว่าฯ' วอนเพิ่มสวัสดิการให้เท่า 'อสม.' สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่สมัคร หนุนเป็นกำลังดูแลสุขภาพคน กทม.

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าที่ทำหน้าดูแลให้คำแนะนำคนในหมู่บ้านหรือชุมชนอย่างใกล้ชิด ไม่ได้มีเฉพาะบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เราคุ้นเคยดีเท่านั้น หากแต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังมีกลุ่มของอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่ต้องดูแลผู้คนที่มีจำนวนและหลากหลายด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ หากนับจากจำนวน อสส. ซึ่งขณะนี้มีอยู่ราว 8,000 คน ต้องดูแลผู้คนใน กทม. อันหมายรวมทั้งประชากรต่างด้าว ผู้อพยพระหว่างเมือง และอื่นๆ ที่เรารู้จักกันในนาม “ประชากรแฝง” รวมทั้งสิ้นเกือบ 17-18 ล้านคน โดยเมื่อเทียบกับอัตราส่วนที่ อสม. ต้องดูแลประชากรในต่างจังหวัดแล้ว พบว่ามีความแตกต่างกันชนิดเทียบไม่ติด

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจาก อสส. กลับระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับสวัสดิการเฉกเช่นเดียวกันกับ อสม. นอกจากนั้นยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นอย่าง “กทม.” มากเท่าที่ควร

ก่อนจะถึงเวลาที่ต้องเข้าคูหาเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเร็วๆ นี้ “Health Station” ร่วมพูดคุยกับ วิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เพื่อบอกเล่าถึงข้อเสนอที่อยากให้ผู้ว่าราชการ กทม. คนต่อไปใส่ใจและแก้ปัญหา โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของ อสส. ในด้านต่างๆ ทั้งสวัสดิการ ทรัพยากร งบประมาณ ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาสมัครเป็น อสส. มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบทบาทเหล่านี้อาจขาดหายไปจากหน้าที่ของ กทม.




ประธาน อสส. รายนี้เริ่มต้นอธิบายถึงหน้าที่ของ อสส. ซึ่งจะทำงานตามปฏิทินประจำปีที่มีการส่งมาให้ โดยจะดูแลครอบคลุมทุกกลุ่มโรค ตั้งแต่ตั้งครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ด้วยการลงพื้นที่สัปดาห์ละ 1 ครั้งต่อ 1 หมู่บ้าน บนหลักการที่ อสส. 1 คน จะดูแลประชาชน 30 ครัวเรือน

อย่างไรก็ตามเธอระบุว่า ในหน้างานจริงบางครั้ง อสส. แต่ละคน อาจต้องดูแลคนทั้งชุมชน ทั้งการสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพ สภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ ส่วนกรณีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา อสส. ก็ยังจะต้องทำหน้าที่ประสานข้อมูลไปยังพี่เลี้ยง ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.

ขณะเดียวกัน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ยังทำให้ภาระงานที่ อสส. ต้องรับผิดชอบเมื่อลงพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งการตรวจวัดหาดัชนีมวลร่างกาย (BMI) ตรวจคัดกรองประชาชนด้วย Antigen-Test Kit (ATK) ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้สูงอายุให้มาฉีดวัคซีน ฯลฯ โดยที่ไม่ได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่มเหมือนกับ อสม. ในต่างจังหวัด

นอกจากนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยังมีเจ้าหน้าที่ อสส. ถูกคร่าชีวิตไปกว่า 100 คน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดการเรื่องฌาปนกิจ เป็นการบริจาคกันเองของ อสม. ทั่วประเทศรวมกับ อสส. จากเงินค่าป่วยการที่ได้รับ ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงสมาชิก อสส. ที่เดิมมีกว่า 1 หมื่นคน แต่ในช่วงโควิดมีการเสียชีวิตและลาออกอีกจำนวนมาก จนขณะนี้เหลือเพียงประมาณ 8,000-9,000 คน

ทั้งนี้ วิศัลย์สิริ ยอมรับว่างานอาสาสมัครสาธารณสุขใน กทม. เป็นพื้นที่ที่ทำงานค่อนข้างยาก เพราะส่วนหนึ่งประชาชนผู้มีสิทธิกลับไม่สามารถเข้าถึงบริการจากหน่วยงานรัฐได้อย่างสะดวก อีกทั้งปริมาณ อสส. ในขณะนี้ยังมีจำนวนจำกัด ซึ่งหากนับจากปริมาณการดูแลแท้จริงแล้วควรมีจำนวน อสส. มากกว่านี้

เธอระบุว่า อัตรากำลังของ อสส. ในขณะนี้ส่วนมากเป็นคนที่ทำงานกันมานานแล้ว ซึ่งหลายคนก็ก้าวเข้าสู่อายุที่เลยวัยเกษียณมาแล้ว ส่วนอุปกรณ์ที่ได้รับเวลาลงพื้นที่ ก็มีเพียงเทอร์โมสแกน (Thermoscan) 1 เครื่อง ปรอทวัดไข้ 1 อัน ขณะที่เครื่องวัดความดันเครื่องหนึ่งก็ต้องใช้ร่วมกันถึง 20 คน

แม้ อสส. จะทำงานใน กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ปกครองพิเศษ ที่มีการจัดเก็บภาษีไม่ได้เข้าคลัง แต่บริหารโดยผู้ว่าฯ กทม. คล้ายการบริหารของเอกชน อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย แต่ทุกวันนี้เงินค่าป่วยการที่เจ้าหน้าที่ อสส. ได้มาจำนวน 1,000 บาทนั้น กลับมาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จัดสรรให้โดยอาศัยกลไกงบประมาณของกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น 76 จังหวัดประธาน อสส. สะท้อนภาพ

เธอขยายความเพิ่มว่า ค่าป่วยการที่ อสส. ได้รับมานั้น จะใช้เป็นเงินสำหรับค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ประสานงาน ฯลฯ ซึ่งในบางครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปเจอสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภค ทางเจ้าหน้าที่ อสส. ในฐานะนักจัดการสุขภาพ ก็จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ โดยอาศัยเงินค่าป่วยการ หรือกระทั่งบางครั้งต้องใช้เงินตนเองในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นให้กับประชาชน

ดังนั้นเธอจึงมีข้อเสนอสำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป ประกอบด้วย 1. ตั้งกองทุนส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับ อสส. เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้วิธีดูแลรักษาให้บริการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 2. สร้างแรงจูงใจและรับสมัคร อสส. รุ่นใหม่เข้ามา ในช่วงอายุตั้งแต่ 18-59 ปี 3. สมทบเงินค่าป่วยการเพิ่มอีก 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน จากเดิมที่ได้ 1,000 บาท

4. เพิ่มสวัสดิการให้เหมือนกับ อสม. เช่น จัดสรรโควต้าให้บุตรธิดาของ อสส. ได้เข้ารับการศึกษาด้านแพทย์และพยาบาลฟรี มีสิทธิเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ฯลฯ 5. จัดตั้งกองทุนสำรองของ กทม. เอง เพื่อสนับสนุนการทำงานของ อสส. เช่น อุปกรณ์ รถสำหรับนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ฯลฯ

คนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีวิสัยทัศน์มองเห็นคนที่ทำงานเพื่อประชาชนบ้าง และควรดูแลคนกลุ่มนี้ให้มีกำลังใจ เพราะมันจะส่งผลต่อให้คนอยากมาสมัครเพิ่มอีกด้วย ซึ่งเราอยากได้แนวร่วมคนหนุ่มสาวจบปริญญาและยังไม่มีงานทำ มาช่วยงาน อสส. ดังนั้นสิ่งที่เสนอออกไปนั้นจึงอยากให้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้เราได้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยงานอีกเยอะวิศัลย์สิริ ทิ้งท้าย

 9 พฤษภาคม 2565