หนุนภารกิจ 'ถ่ายโอน รพ.สต.' สช.จ่อประสานภาคีรัฐ-วิชาการ พัฒนาหลักสูตรเตรียมตัว 'อบจ.' มอบพื้นที่ต้นแบบสร้างความมั่นใจ
12 พฤษภาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

หนึ่งในวาระใหญ่ของระบบสุขภาพ ณ ช่วงเวลานี้ คือประเด็นของการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์และขั้นตอนของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ต.ค. 2564 เป็นต้นมา

 

ตลอดระยะเวลาราว 7 เดือนที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งแม้จะมีความคืบหน้าที่ดำเนินมาเป็นลำดับ แต่อีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงข้อติดขัดจำนวนไม่น้อย ที่เกิดขึ้นทั้งในแง่ทางความคิด ไปจนถึงการปฏิบัติจริง ที่อาจยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายหรือความต้องการของแต่ละฝ่ายได้อย่างลงตัว

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อีกหนึ่งผู้ที่มั่นหมายจะเข้ามามีบทบาทเป็นแกนกลาง เชื่อมร้อยประสานการเปลี่ยนผ่านในช่วงเวลานี้ให้เป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด คือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องสุขภาพ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

 

ในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน คสช. เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบการสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ.

 

ความหมายตามมติดังกล่าว คือนับจากนี้เป็นต้นไป “สช.” กำลังจะเข้ามาเป็นอีกส่วนในการทำหน้าที่ประสานหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมวางแผนการดำเนินการในหลากหลายด้าน เพื่อรองรับการถ่ายโอน รพ.สต. ที่จะเริ่มภายในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บนแนวคิดของกระบวนการ “นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม”

 

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการ คสช. อธิบายถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ว่า สช. จะร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ สื่อสารมวลชน ตลอดจนท้องถิ่น จัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสำหรับยกระดับการทำงานด้านสุขภาพของ อบจ. รวมทั้งสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิกับการถ่ายโอน รพ.สต.

 



สำหรับหน่วยงานภาคีที่จะร่วมลงนาม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ไทยพีบีเอส รวมไปถึง อบจ. บางแห่ง

ทั้งนี้ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ประกอบไปด้วย “การพัฒนาหลักสูตร” ด้วยการจัดอบรมหลักสูตรทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้กับผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบจ. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่

 

ในส่วนถัดมาคือการจัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำ “แผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่” พร้อมสนับสนุนการจัดตั้ง “กองทุนระดับจังหวัด” โดย สช. จะประสานเพื่อดูแนวทางว่ากองทุนในระดับพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ เช่น สปสช. หรือ สสส. ที่มีอยู่ จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับภาพรวมของการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพร่วมกันในระดับจังหวัด

 

พร้อมกันนี้ จะมีการสนับสนุน อบจ. หลายแห่งที่มีความตื่นตัวและมีความพร้อม เช่น สุพรรณบุรี นครสวรรค์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี ฯลฯ เป็น “จังหวัดนำร่องถ่ายโอน รพ.สต.” เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรและประชาชนในพื้นที่

 

ขณะเดียวกันยังจะมีการเตรียมความพร้อมด้านวิชาการ เช่น การจัดทำ “คู่มือการถ่ายโอนฉบับปฏิบัติการระดับพื้นที่” เป็นแนวทางให้กับ อบจ. สอน. และ รพ.สต. ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา พร้อมกับการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องกระบวนการถ่ายโอน โดยจะจัดเวทีสาธารณะต่างๆ ในหลายพื้นที่

 

“แผนดำเนินการหลังจากนี้ คือการจัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร บุคลากรกองสาธารณสุข อบจ. และ รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนฯ รวมถึงพัฒนาพื้นที่นำร่อง อบจ. เพื่อยกระดับศักยภาพของบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ สามารถทำหน้าที่รับผิดชอบงานปฐมภูมิและดูแลประชาชนในพื้นที่มีสุขภาวะที่ดี” รองเลขาธิการ คสช. ระบุถึงแผนการ

 

ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหาร สช. ย้ำว่า ภารกิจการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ไปยัง อบจ. นี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ และจะมีผลกระทบในหลายด้านต่อประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ สช. จะต้องให้ความสนใจและร่วมในกระบวนการขับเคลื่อน เพื่อที่จะทำให้การถ่ายโอนนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น

 

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีความหลากหลาย และแต่ละพื้นก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นคำถามใหญ่ของกรณีการถ่ายโอนฯ ในครั้งนี้จะอยู่ที่ว่าประชาชนได้อะไร ส่วนเจ้าหน้าที่จะได้รับผลกระทบอะไร แล้วเราต้องเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่เกิดผลกระทบกับแต่ละฝ่ายให้น้อยที่สุด” นพ.วิชัย ระบุหลักการ