พลังพลเมืองตื่นรู้และกัมมันตะ ทำให้ประเทศไทย ติดปีกบินได้อย่างมหัศจรรย์

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส

ปาฐกถาพิเศษ “พลังพลเมืองหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ กู้วิกฤตโควิด 19

ภายในกิจกรรม “ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด 19” เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564


 


นพ.ประเวศ เริ่มต้นปาฐกถาพิเศษด้วยการให้หลักคิดว่า ไม่ว่าจะมีเรื่องเลวร้ายอะไรเกิดขึ้น เราจะต้องหาทางเอากำไรจากมันเสมอ ซึ่ง ณ วันนี้คือการหาทางเอากำไรจากการระบาดของโควิด-19

 

สำหรับกำไรที่สูงสุดนั้นคือ “ปัญญา” คือการทำให้เราฉลาดขึ้น ซึ่งไม่ว่าอะไรจะเกิดกับเรา หากทำให้เราฉลาดขึ้นย่อมเป็นกำไรที่สำคัญ เช่นเดียวกับโควิด-19 ที่ไม่ว่าความเลวร้ายอันตรายของมันจะใหญ่หลวงเท่าไรก็ตาม แต่ก็ได้นำมาซึ่งสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย นั่นคือการกระตุ้นจิตสำนึกที่อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน

 

“จิตสำนึกที่อยู่ในตัวมนุษย์เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เหมือนพลังนิวเคลียร์ที่ซ่อนอยู่ข้างในตัวเรา ดังที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงใช้คำว่าระเบิดออกจากข้างใน เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในความเป็นมนุษย์”

 

นพ.ประเวศ กล่าวว่า ประเทศไทยเรามีทรัพยากรต่างๆ มากมาย ทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ ทรัพยากรทางวัฒนธรรม หรือทรัพยากรมนุษย์ต่างๆ หากแต่ประเทศไทยกลับติดอยู่ในสภาวะวิกฤตอย่างเรื้อรัง ที่ทำอย่างไรก็ยังก้าวข้ามไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น “วิกฤตการเมือง” ที่ผ่านมาเกือบร้อยปีแต่ยังพัฒนาประชาธิปไตยไม่สำเร็จ และยังไม่เห็นเค้าลางที่จะนำไปสู่จุดลงตัวได้อย่างไร

 

เช่นเดียวกับ “วิกฤตเศรษฐกิจ” ที่เรามีความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก แม้เราจะมีทรัพยากร หรือองค์ความรู้เพียงพอที่จะทำให้คนไทยทุกคนอยู่ดีกินดี แต่ก็ทำไม่สำเร็จ สุดท้ายคือ “วิกฤตศีลธรรม” แม้ไทยจะมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่กลับเต็มไปด้วยความเสื่อมเสียทางศีลธรรม อัตราการฆ่ากันตายในสังคมสูงกว่าในหลายประเทศ หรือการลักขโมย การคอรัปชั่นต่างๆ

 

“เราแก้ไขปัญหา 3 อย่างนี้ไม่สำเร็จ เพราะเราไม่เข้าใจประเด็นสำคัญว่าอะไรที่จะทำให้ดีขึ้น เศรษฐกิจ เราทุ่มลงเงินไปเท่าไรก็ไม่สำเร็จ การเมือง เราทำรัฐธรรมนูญไปกว่า 20 ฉบับแล้วก็ไม่สำเร็จ หรือศีลธรรม เรามีพระสอนเท่าไรก็ไม่สำเร็จ”

 

นพ.ประเวศ จึงระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ชาติหลุดพ้นออกจากวิกฤต นั่นคือ “พลังพลเมืองที่ตื่นรู้” ซึ่งประเทศไทยเรามีคนที่หวังดี อยากให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นกับบ้านเมืองอยู่มาก ฉะนั้นถ้าเราจับประเด็นและขับเคลื่อนจุดนี้ได้ เราจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศไทยได้ทั้งหมด ไม่เพียงเฉพาะโควิด-19 แต่ยังรวมถึงปัญหาเรื่องอื่นๆ โดยเราต้องถือโอกาสที่โควิด-19 นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ

 

ราษฎรอาวุโสรายนี้มองว่า เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ในพื้นที่จำเพาะ อากาศไม่หนาวจัด ไม่มีภัยพิบัติ แผ่นดินไหว หรือพายุรุนแรง สภาพแบบนี้ทำให้คนไทยเป็นคนใจดี สบายๆ แต่ขณะเดียวกันด้วยความสบายเพราะไม่มีอันตรายอะไร ทำให้ไม่ต้องคิด ไม่ต้องวางแผน ไม่ต้องเตรียมอะไรล่วงหน้า ก็ทำให้คนไทยตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ตื่นรู้ ไม่ตื่นตัว ซึ่งนี่เป็นทวิลักษณ์ หรือลักษณะสองด้านของสรรพสิ่ง ที่มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย

 

“แต่ขณะนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนเดิม สังคมมีความซับซ้อน เกิดความโกลาหล เกิดวิกฤตได้เป็นประจำ และสังคมที่ซับซ้อนนี้ก็ยิ่งจัดการยาก การใช้เครื่องมือเก่าๆ อย่างอำนาจ เงิน หรือความรู้สำเร็จรูปที่ตายตัวแบบเดิมก็ไม่ได้ผลอีกต่อไป”

 

นพ.ประเวศ ให้นิยามว่า คลื่นวิกฤตลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นคลื่นวิกฤตที่ยากที่สุด เพราะไม่มีใครเข้าใจมัน ซึ่งหากเรารู้ว่าศัตรูคือใครเรายังกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะได้ หากแต่ในสังคมปัจจุบันเราไม่รู้ว่าศัตรูคือใคร เพราะสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นซับซ้อนมาก และดีหรือไม่ดีศัตรูอาจเป็น “ตัวเราเอง” คือความอ่อนแอของเราเอง

 

ดังนั้นการจับจุดเหล่านี้ให้ได้ เพื่อใช้โควิด-19 มาช่วยเรา นั่นก็คือผลพวงจากการระบาดที่ทำให้ผู้คนล้มตาย ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก ซึ่งได้ไปกระตุ้น “เมล็ดพันธุ์แห่งความดี” ที่มีอยู่ในหัวใจของมนุษย์ทุกคน

 

นพ.ประเวศ อธิบายว่า มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ นั่นคือมนุษย์มีโครงสร้างในสมองที่เรียกว่า Social Brain เมื่อเห็นใครมีความทุกข์ยาก ก็จะเกิดความเห็นใจ (empathy) อยากช่วยเหลือ อยากทำความดี (altruism) ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวทุกคน หากแต่ที่ผ่านมาอาจซ่อนอยู่ลึก และโดนสิ่งต่างๆ มาบังเอาไว้ ไม่ว่าจะเรื่องวิชาการ กฎหมาย กฎระเบียบ หรือมายาคติต่างๆ มาบดบังจนมองไม่เห็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีนี้

 

“อย่างระบบราชการเป็นระบบอำนาจควบคุม มีกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆ กว่า 1.3 แสนฉบับ ที่มัดตัวจนทำให้คนกระดิกไม่ได้ เพราะไม่กล้าทำผิดระเบียบราชการ ทุกคนก็จะตั้งอยู่ในที่ของตัวเอง ไม่กล้าออกจากกรอบ แต่เมื่อโควิดมาระบาดคราวนี้ได้ทำให้เกิดบิกแบง หรือการระเบิดตูมใหญ่ของจิตสำนึก เมื่อเห็นเพื่อนมนุษย์เกิดความทุกข์ยาก และกฎหมายกฎระเบียบอะไรก็ไม่สำคัญเท่าชีวิตเพื่อนมนุษย์ ฉะนั้นคนจึงออกนอกกรอบเพื่อช่วยเหลือกัน”

 

ราษฎรอาวุโส ยังยกตัวอย่างถึงสิ่งที่เราได้เห็นผู้คนปรับตัว เช่น แพทย์เฉพาะทางที่กล้าออกจากกรอบเดิมของตัวเองแล้วมาร่วมบริการปฐมภูมิ หรือนักธุรกิจ ข้าราชการ มาทำเรื่องกองทุน ซื้ออาหารแจกคน และอีกสารพัดอย่าง เหล่านี้เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นจากโควิด คือการเกิดบิ๊กแบงของคนไทยหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์

 

“มันทำให้เราก้าวข้ามกรอบ รวมถึงอุปสรรคทุกชนิดที่ป้องกันคนไทยไม่ให้มีศักยภาพ เหมือนกับติดคุกที่มองไม่เห็น แต่พอเรากระตุ้นจิตสำนึกนี้แล้วเหมือนได้ออกจากคุก ถูกปล่อยเป็นอิสระ ดังนั้นพลังพลเมืองที่ตื่นรู้นี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้เรารู้ว่ามายาคติต่างๆ ไม่ใช่ความจริง แต่ความจริงคือเรามีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ ทุกคนมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า แล้วเราก็อยากทำอะไรดีๆ ให้เกิดขึ้น”

 

นพ.ประเวศ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีค่ายิ่ง เราจึงต้องเห็นคุณค่าและนำมาขยายผล ซึ่งหากเรามีพลังพลเมืองที่ตื่นรู้ และแฝงด้วยกัมมันตะ หรือ Active Citizen เกิดขึ้นทั่วประเทศ ก็จะเป็นคำตอบที่ทำให้เราก้าวข้ามวิกฤตทุกอย่าง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และศีลธรรม

 

นพ.ประเวศ ขยายความต่อว่า พลังพลเมืองที่ตื่นรู้และกัมมันตะ คือการที่คนไทยทุกคนไม่หลับใหล มีสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทั้งของตนเองและของเพื่อนมนุษย์ทุกคน เมื่อมีสำนึกนี้ก็จะทำให้เราสามารถทำอะไรดีๆ เพื่อเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้คำนึงถึงฐานะ การศึกษา ตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่มีอิสระ มีความสุข รวมถึงรู้สึกมีศักยภาพในตัวที่จะทำอะไรดีๆ เพื่อผู้อื่น เมื่อรวมคนไทยทุกคนก็จะมีพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำอะไรก็ได้

 

ขณะเดียวกันยังต้องมีการรวมตัวเป็นกลุ่ม เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ซึ่งตรงกับหลักธรรมะ “อปริหานิยธรรม” โดยร่วมกันเรียนรู้และการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ไม่ใช่การเรียนโดยการท่องหนังสือ ที่ระบบการศึกษาไทยทำมากว่าร้อยปี หรือความรู้ที่เป็นวิชาสำเร็จรูป ที่ไม่มีพลังและใช้ไม่ได้ผลในสังคมที่ซับซ้อน

 

นพ.ประเวศ ยกงานวิจัยอังกฤษของ โรเบิร์ต แชมเบอร์ ที่หาคำตอบว่าทำไมการพัฒนาบนโลกนี้จึงไม่ได้ผล ซึ่งเขาสรุปว่าเป็นเพราะมีการ “ใช้ความรู้ โดยไม่เรียนรู้” นั่นคือการใช้ความรู้สำเร็จรูป เนื่องจากสิ่งต่างๆ มีความซับซ้อนและยาก จึงต้องเรียนรู้เข้าไปในสถานการณ์จริง และการเรียนรู้คนเดียวก็จะไม่สำเร็จ เพราะยังมีคนหรือองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จและความล้มเหลวที่จะต้องมาร่วมเรียนรู้ด้วย เป็นการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หรือ Interactive Learning Through Action

 

“ถ้าคนเราอยู่เดี่ยวๆ จะไม่รู้เรื่องอะไร เหมือนกับคนโง่ แต่ถ้ามารวมตัวเป็นกลุ่ม มีการเรียนรู้ร่วมกัน มันจะเกิดอัจฉริยภาพขึ้น หรือเรียกว่า Group Genius ฉะนั้นการมาเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ จะทำให้ทุกคนกลายเป็นคนเก่งร่วมกัน เกิดนวัตกรรม อัจฉริยภาพกลุ่ม หรือ Collective Wisdom ที่จะกลายเป็นพลังมหาศาลและฝ่าความยากทุกชนิดให้ไปสู่ความสำเร็จได้ แล้วสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นคือทุกคนมีความสุข ประดุจบรรลุนิพพาน”

 

นพ.ประเวศ ยังมองอีกว่า ปัจจุบันเรามีเครื่องมืออยู่เยอะ ทั้งจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอื่นๆ ที่ช่วยกันสร้างขึ้นมา ซึ่งหากร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมกับทำความเข้าใจเรื่องพลังพลเมืองตื่นรู้และกัมมันตะ เราจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ทำให้ไทยเป็นประเทศที่งดงาม ประสบความสำเร็จ มีสมรรถนะสูง หรือเจริญไปสู่สังคมศรีอารยะได้

 

“คนไทยเป็นคนดี อย่าไปเข้าใจผิดว่าเป็นคนไม่ดี หลายเรื่องเราดีกว่าชาติตะวันตก แต่สิ่งที่เราขาดคือการคิดเชิงระบบและการจัดการ ซึ่งจะทำให้เรามีพลังที่จะขับเคลื่อน โดยถ้าเราออกแบบระบบประเทศไทยให้ดี และประกอบโครงสร้างให้ครบ ก็จะทำให้ประเทศไทยติดปีกบินได้อย่างมหัศจรรย์ ฉะนั้นเราอย่าได้ท้อถอย ถึงแม้มีวิกฤตอย่างไรอย่าหมดหวัง อย่าไปเกลียดประเทศไทย แต่เราจับประเด็นให้ได้ มาช่วยกันนำพาประเทศไทยไปข้างหน้าให้ได้” นพ.ประเวศ ทิ้งท้าย

 3 ธันวาคม 2564