ยกระดับกลไก 'HIA' ทั่วประเทศ ผ่าน 'ศูนย์วิชาการ HIA' 6 ภาค ผนึกเครือข่ายมหา'ลัยวางงานวิจัย ขยายการประเมินผลกระทบสุขภาพ
13 พฤษภาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

หลายครั้งที่เรามักเห็นว่ากิจกรรมหรือโครงการพัฒนา ไม่ได้มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางสังคมหรือเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากแต่ได้นำมาซึ่งคราบน้ำตาและความสูญเสียให้กับผู้คนบางส่วน ที่ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมา

 

ความหวั่นเกรงต่อผลกระทบที่ว่า จึงกลายเป็นที่มาของความขัดแย้งซึ่งมักเกิดขึ้นได้ในหลายครั้ง ที่นโยบายหรือแผนการพัฒนาใดๆ ไม่ได้มีการวิเคราะห์หรือรับฟังความคิดเห็นแบบครอบคลุมและรอบด้านอย่างแท้จริง ทำให้ที่ผ่านมาจึงเกิดเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ซึ่งตั้งเป้าที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ไขในประเด็นปัญหาเหล่านี้

 

เครื่องมือดังกล่าวเป็นการเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 25 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตามและประเมินผลเกี่ยวกับระบบสุขภาพแห่งชาติ และผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ

 

ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมี “หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ” รวมแล้ว 3 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดเพิ่งได้รับความเห็นชอบจาก คสช. เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 และประกาศเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 24.. 2564

 

สำหรับ “หลักเกณฑ์และวิธีการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3” มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกระบวนการ HIA ที่ทำให้เกิดการสานพลัง และหนุนเสริมการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อเอื้อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

 

หนึ่งในแนวทางขับเคลื่อนที่สำคัญ คือการสร้างความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ และเครือข่ายสถาบันวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA Consortium ในระดับภาค ซึ่งเป็นการขยายการมีส่วนร่วมไปยังเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมพัฒนากำลังคนด้าน HIA และพัฒนาศักยภาพแก่หน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ในส่วนความคืบหน้าของการพัฒนาเครือข่าย HIA Consortium ระดับภาค ถูกรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2565 ซึ่งมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธาน คสช. เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีมติรับทราบไปแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565

 

 


นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) เปิดเผยว่าถึงภาพรวมขณะนี้ว่า ได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพนักวิชาการและบุคลากรของเครือข่ายวิชาการ HIA Consortium ไปแล้วระหว่างเดือน ต.ค. 2564 – ก.. 2565 พร้อมจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายในแต่ละภาค

 

ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินการเรียบร้อยแล้วใน 2 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยอีก 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบหลักสูตร และวางแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้

 

นอกจากนี้ยังมีการตั้ง ศูนย์วิชาการ HIA ภาคจำนวน 6 แห่ง เพื่อเป็นกลไกหลักในการดำเนินงานในแต่ละภาค ประกอบด้วย 1. ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2. ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. ภาคตะวันออก ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 5. ภาคกลาง ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6. ภาคใต้ ได้แก่ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

ในแง่ของการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ ศูนย์วิชาการ HIA ทั้ง 6 ภาค อยู่ระหว่างการจัดทำแผนที่ประเด็นการวิจัย (Research mapping) และร่างโครงการวิจัย (Research proposal) เพื่อนำเสนอประเด็นสำคัญในการวิจัย HIA

 

ขณะเดียวกันก็ยังมีการสนับสนุนการศึกษาวิจัยวิทยานิพนธ์ ระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อพัฒนาศูนย์วิชาการ HIA ภาค โดยมีผู้เสนอขอรับทุน จำนวน 18 เรื่อง แบ่งออกเป็น ระดับปริญญาโท 14 เรื่อง และระดับปริญญาเอก 4 เรื่อง ซึ่ง สช. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำข้อตกลงสนับสนุนการดำเนินงาน กับมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของผู้เสนอโครงการให้แล้วเสร็จ ภายในเดือน พ.ค. 2565

 

ท้ายที่สุด นพ.ชูชัย ได้รายงานถึงความคืบหน้าของการเตรียมการจัด การประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) โดยล่าสุดทาง HIA Commission ได้เห็นชอบให้กำหนดการจัดประชุม HIA Forum พ.ศ.2565 ระหว่างวันที่ 8-9.ค. 2565 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยจัดแบบลูกผสมระหว่างการประชุม ณ สถานที่ประชุม (On site) และการประชุมทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Online)

 

“ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมของงาน HIA ที่มีความคืบหน้าไปมาก เพราะความเอาจริงเอาจังในการทำงาน หลังจากที่เรามีหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ฉบับที่ 3 ออกมา ซึ่งขยายความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะเครือข่ายวิชาการ HIA Consortium ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนด้านความรู้ และจะช่วยให้กระบวนการ HIA เดินหน้าได้อย่างเต็มที่ต่อไป” ประธาน HIA Commission ระบุ