กขป.เขต 11 เดินหน้าข้อตกลง รองรับ 'สังคมสูงวัย' พื้นที่ภาคใต้ วงถกชี้ต้องออกแบบตามบริบท ผสานบทบาทการมีส่วนร่วมชุมชน
13 พฤษภาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

กขป.เขต 11 เดินหน้าทำข้อตกลงพื้นที่ภาคใต้ เตรียมการรองรับเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ด้านวงถกเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชน ย้ำต้องออกแบบการดูแลให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ มองภาพรวมไม่เพียงเฉพาะผู้สูงวัย พร้อมบูรณาการงบประมาณ-เพิ่มความคล่องตัว


คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 11 จัดเวทีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนและเสริมสร้างความร่วมมือประเด็นสังคมสูงวัยและกลุ่มเปราะบาง เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมการเสวนาวิชาการเรื่อง “บทบาทของชุมชนร่วมขับเคลื่อนสังคมสูงวัย”

 

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เพราะมีผู้สูงอายุสูงถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพังจำนวน 1.3 ล้านคน และที่อยู่อาศัยกับคู่สมรสจำนวน 2.5 ล้านคน ซึ่งทาง สสส. จะมุ่งเน้นการดำเนินงานไปที่การเตรียมความพร้อมตัวบุคคล และการพัฒนาการรองรับสังคมสูงวัย เพื่อให้เป็นสังคมสูงวัยคุณภาพดี

 

นางภรณี กล่าวว่า สสส. ได้มีการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ กระจายไปยังโรงเรียนผู้สูงอายุ ส่งเสริมสังคมให้มีการจัดเวทีสาธารณะ พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน รวมทั้งในด้านการศึกษา โดย สสส. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดให้ผู้สูงอายุได้มีการเรียนหนังสือและเก็บหน่วยกิต จนสามารถเรียนจบและรับปริญญาได้

 

พร้อมกันนี้ ยังรวมไปถึงการให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ เช่น การทำวงดนตรีผู้สูงอายุ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย ปรับเปลี่ยนทัศนคติจากคนวัยอื่นให้มองว่าผู้สูงอายุนั้นมีความทันสมัยมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมคุณค่าและประสบการณ์ของพวกเขา

 

“ปัจจุบันพบว่าผู้สูงวัยพึ่งพาเบี้ยยังชีพ และบางรายยังต้องทำงาน มากกว่าการพึ่งพาเงินจากลูกหลาน ดังนั้นจึงอยากส่งเสริมให้ผู้สูงวัยที่ยังอยากทำงาน สามารถทำงาน ประกอบอาชีพได้ต่อไป เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ” นางภรณี ระบุ

 

นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า บทบาทของ สช. จะช่วยในเรื่องของการประสานภาคนโยบาย และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะมีลักษณะของสังคมสูงวัยที่แตกต่างกัน จึงมองว่าแต่ละจังหวัดควรมีแผนบูรณาการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยของแต่ละแห่งออกมา

 

นายจารึก กล่าวว่า นอกจากนี้ควรให้ชุมชนเป็นฐานสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมทำข้อตกลง โดยมีการพูดคุยและจัดทำเป็นธรรมนูญสุขภาพตำบล เรื่องของการดูแลสุขภาพในสังคมสูงวัยขึ้นมา เพื่อให้มีกรอบและทิศทางในระดับพื้นที่ที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะง่ายต่อการอ้างอิงในการพูดคุยเรื่องงบประมาณต่อไป

 

ขณะที่ นพ.จิรชาติ เรืองวัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพ 11 กล่าวว่า ประเด็นด้านผู้สูงอายุนั้นมีการทำงานมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามมองว่าเราอาจกำลังเดินตามแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุ เหมือนของประเทศญี่ปุ่นมากเกินไป แต่ด้วยความแตกต่างทั้งด้านคุณภาพชีวิต นิสัยการเป็นอยู่ หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม จึงจำเป็นที่เราจะต้องปรับการดูแลผู้สูงวัยตามความเหมาะสมของประเทศไทย

 

“สังคมสูงวัยคือสังคมในอนาคตของทุกคน อย่าไปแยกว่าเรื่องของผู้สูงอายุ ก็ทำเพื่อผู้สูงอายุเท่านั้น หรือเรื่องของเด็กก็ทำแต่เด็กอย่างเดียว แต่จะต้องดูแลในภาพรวม” นพ.จิรชาติ ระบุ

 

นพ.จิรชาติ กล่าวอีกว่า ทาง จ.สุราษฎร์ธานี จะมีการประกาศยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นต้นแบบด้านสมุนไพร สูงวัยสุขภาพดี รวมถึงการก่อตั้งศูนย์การแพทย์สิรินธร ภาคใต้ ที่ได้มีการประสานกับกรมการแพทย์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าภายในต้นเดือน มิ.ย. ทางกรมการแพทย์จะเข้ามาดูพื้นที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้สูงอายุในเขตภาคใต้ทั้งหมด

 

ด้าน นางพนิต มโนการ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 11 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำงานผู้สูงอายุ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรจะต้องมีรูปแบบการทำงานให้ตรงกันก่อน และวางเป้าหมายร่วมกันว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร โดยให้อยู่ในบริบทของประเทศไทยอย่างแท้จริง

 

นางพนิต กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช. จะสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ภายใต้สิทธิประโยชน์ที่จำเป็น ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกปีภายใต้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม โดยนับตั้งแต่ปี 2559 ที่โครงสร้างประชากรไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย รัฐบาลจึงได้มีแนวคิดเป็นนโยบายเพื่อให้มี กองทุนระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) เข้ามาดูแล เป็นแบบรัฐบาลเหมาจ่าย 6,000 บาทต่อหัวประชากร

 

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งจากเดิมเป็นการดูแลเฉพาะผู้พิการ แต่ในภายหลังได้มีการปรับให้นำไปสร้างที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง รวมถึงการทำกายภาพบำบัดได้ ฉะนั้นหากงบ 6,000 บาทจากกองทุน LTC ยังไม่เพียงพอ ก็นำงบประมาณส่วนนี้เข้ามาช่วยได้ รวมไปถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ก็สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนผู้สูงอายุได้

 

“ทาง สปสช. ที่เป็นผู้สนับสนุน มีการพูดคุยว่าเราจะทำอย่างไรให้เห็นภาพของงบประมาณทั้ง 3 ส่วน กลายเป็นก้อนเดียวและสนับสนุนให้พื้นที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังติดเรื่องของการตรวจสอบ เงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่างๆ ดังนั้นทางเขต 11 อาจจำเป็นต้องมีการออกแบบงบประมาณเฉพาะเขตขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในพื้นที่ห่างไกล อยู่ตามเกาะต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นทิศทางในการตรวจสอบ” นางพนิต กล่าว