'สมัชชาอนามัยโลก' ผุดข้อตกลง มุ่งฟื้นฟูความเข้มแข็ง 'สุขภาพจิต' ไทยหนุนสร้างความหวังหลังวิกฤต พบประชาชนปรับตัวกับโควิดดีขึ้น
30 พฤษภาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

คณะผู้บริหาร สธ. บินร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 "WHA75" ภายใต้หัวข้อ “Health for Peace and Peace for Health” ชี้นโยบายประเทศไทยดูแลทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ยก "ความหวัง" เป็นหลักการสำคัญฟื้นฟูจิตใจประชาชนหลังวิกฤต


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย อธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 (75th World Health Assembly - WHA75) ในระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 2565 ณ ปาเล เด นาซียง ที่ทำการสำนักงานสหประชาชาติ ประจำนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

สำหรับการประชุมดังกล่าวได้มีวาระในการพัฒนาอนุสัญญาองค์การอนามัยโลก หรือพันธกรณี/ข้อตกลงในโลกภายใต้หัวข้อ “Health for Peace and Peace for Health” มุ่งใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ ข้อมูล เทคโนโลยีและนวัตกรรม ฟื้นฟูสุขภาพและการสาธารณสุขจากโลกที่ถูกคุกคามจากความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งนานาประเทศย้ำถึงความสำคัญของสุขภาพจิต โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางจิตใจ (Resilience) เพื่อฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ

นายอนุทิน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีนโยบายสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับการดูแลด้านสุขภาพประชาชนอย่างเท่าเทียม ด้วยนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่สังคมที่สงบสุข ซึ่งในช่วงแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 รัฐบาลไทยได้ให้การเข้าถึงทั้งการตรวจและการรักษา ให้บริการวัคซีนแก่ประชาชนทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย


นายอนุทิน กล่าวว่า การดูแลสุขภาพของประชาชนยังไม่ใช่เพียงแค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการดูแลทางจิตใจด้วย โดยมี “ความหวัง” เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “การสร้างความเข้มแข็งทางใจ ให้ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้” ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งทางใจ เป็นหลักการสำคัญของนโยบายการดูแลจิตใจประชาชนของกรมสุขภาพจิต ในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมาอีกด้วย

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการติดตามระดับความเข้มแข็งทางใจของประชาชนไทยต่อเนื่อง จากระบบการประเมินผ่าน Mental Health Check In หรือ www.วัดใจ.com ซึ่งเป็น Application Online และครอบคลุมประชาชนกว่าสี่หมื่นคนทั่วประเทศ พบว่าในช่วงเดือนมกราคม ถึงพฤษภาคม 2565 ประชาชน คนไทยมีระดับความเข้มแข็งทางใจดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม ถึงธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ได้พบว่าผู้ที่มีความเข้มแข็งทางใจระดับต่ำลดลงจาก 6.5% เป็น 2.3% และผู้ที่มีความเข้มแข็งทางใจในระดับสูงขึ้น โดยเพิ่มจาก 67.2% เป็น 71.9% ซึ่งผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของประชาชนคนไทยในการปรับตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ โดยประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิตที่ www.dmh.go.th

"องค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ ในการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจของแต่ละบุคคล ได้แก่ การมองโลกในแง่ดีมีความหวัง การมีสัมพันธภาพดีซึ่งทำให้เกิดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง และการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น" พญ.อัมพร กล่าว