กทม.ผนึกเครือข่ายภาคีสุขภาพ เริ่มเดินหน้านโยบาย 'สุขภาพดี' ตั้งคกก. 5 ชุดลุยพัฒนาปฐมภูมิ มีส่วนร่วมผ่านธรรมนูญ-สมัชชาฯ
5 มิถุนายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อม สช.-สสส.-สปสช. และภาคีสุขภาพ ร่วมประชุมเดินหน้านโยบายด้าน "สุขภาพดี" เตรียมสร้างการมีส่วนร่วมผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพ กทม. ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระดับเขต พร้อมวางเป้าหมายระยะสั้น-ยาว หนุนพัฒนาระบบปฐมภูมิผ่านกลไกคณะกรรมการ 5 ชุด


ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการ กทม. ด้านสาธารณสุขและพัฒนาระบบปฐมภูมิ กทม. เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2565 ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและเวชศาสตร์ครอบครัว และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ

สำหรับนโยบายด้านต่างๆ จำนวน 214 ข้อของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. ได้กำหนดเป็น 9 ด้าน หนึ่งในนั้นคือด้าน "สุขภาพดี" จำนวน 34 ข้อ เป็ยการดำเนินการด้านสุขภาพดีในทุกมิติ ทั้งกายภาพและระบบสร้างเสริมสุขภาพของคนทุกคนใน กทม. พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนผ่านเครื่องมือ "สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร" ให้เป็นเวทีกลางพัฒนาประเด็นสาธารณะสู่การปฏิบัติเป็นกระบวนการวิเคราะห์ช่องว่างหาความร่วมมือที่สร้างสรรค์


ขณะเดียวกันยังจะใช้เครื่องมือ "ธรรมนูญสุขภาพในระดับเขต" หรือกติกาชุมชนบางพื้นที่เพื่อกำหนดเป็นทิศทาง โดยมุ่งเน้นให้กองทุนสุขภาพเขตสนับสนุนกลไกระดับชุมชนให้ขับเคลื่อนการทำงานในประเด็นของชุมชนเอง ซึ่งผู้ว่าราชการ กทม. ได้ให้เร่งกำหนดเป้าหมาย 100 วัน ให้เห็นผลในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว 4 ปี ต้องมีรูปธรรมเชิงระบบ ไม่เป็นนโยบายโปรเจกต์แล้วหายไป

ในส่วนของการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว จะดำเนินการผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสาธารณสุขและพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิกรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่าย รวมถึงเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงมหาดไทย โรงเรียนแพทย์ คลินิกอบอุ่น และภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและระบบสุขภาพ

ทั้งนี้ ได้ทำการตั้งเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อน 5 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการขับเคลื่อน PCC (Primary Care Cluster: คลินิกหมอครอบครัว) ซึ่งเบื้องต้นจะดำเนินการระยะสั้น คือ ทำ PCC Sand box ในเขตหนองแขม เขตบางแค เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน และเขตภาษีเจริญ ส่วนการดำเนินการระยะยาว คือ ขับเคลื่อน PCC club 6 กลุ่มคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับเขต (พชข.)

2. คณะกรรมการนโยบายพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพ PCC จะดำเนินการระยะสั้น คือ การจัดทำมาตรฐานการประเมินคลินิกอบอุ่นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ภาคประชาชน ส่วนการดำเนินการระยะยาว คือ พิจารณางบประมาณสนับสนุนจาก สปสช.


3. คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโรงพยาบาล 10-100 เตียงโรงพยาบาลเมือง จะดำเนินการระยะสั้น คือ IMC Hospital + Hospital care ส่วนการดำเนินการระยะยาว คือ ขยายเครือข่ายไปยังโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน และโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์

4. คณะกรรมการขับเคลื่อนระบบดูแลผู้สูงอายุ IMC palliative care จะดำเนินการระยะสั้น คือ 1) Community IMC 2) Home ward 3) IMC Hospital 4) Technology bed 5) โรงพยาบาล 10,000 เตียง ส่วนการดำเนินการระยะยาว คือ ขยายเครือข่ายไปยัง 6 กลุ่มเขต และสร้างศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองที่สมบูรณ์แบบ

5. คณะกรรมการขับเคลื่อน Sand box Area base จะดำเนินการระยะสั้น คือ 1) สร้าง 1 ชุมชน 1 Community IMC ในเขตหนองแขม เขตบางแค เขตทวีวัฒนา เขตภาษีเจริญ 2) สร้าง 1 ชุมชน 1 Day care ในเขตหนองแขม เขตบางแค เขตทวีวัฒนา เขตภาษีเจริญ 3) Feeder (โครงการรถรับ-ส่งผู้สูงอายุและผู้พิการ + โครงการ Free Shuttle Van) 4) Telemedicine 5) ชมรมผู้สูงอายุ 6) กิจกรรมในศูนย์สร้างสุขทุกวัย ส่วนการดำเนินการระยะยาว คือ การขยายเครือข่ายไปยัง 6 กลุ่มเขต 


ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นขับเคลื่อนนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน คือ “ด้านสุขภาพดี” ด้วยความร่วมมือของผู้แทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมออกแบบ ปรับตัว วางระบบรูปแบบการทำงานร่วมกัน รวมถึงร่วมกันออกแบบโมเดล Sand box ให้เหมาะสมกับ กทม.และหน่วยงานต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

"ในส่วนของโครงการที่สามารถดำเนินการได้เลยก็ขอให้ดำเนินการทันทีอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้นโยบายดังกล่าวเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด" รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ