สช.ระดมเครือข่ายคน ‘Next Gen’ มีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ หนุนกระบวนการสมัชชาฯ ครั้งที่ 15-16
20 มิถุนายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช.ระดมเครือข่ายคนรุ่นต่อไปร่วมสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ หนุนกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15-16 บนพื้นฐานการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมอง-บทบาทจากแต่ละเครือข่าย ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในสังคม


เมื่อวันที่ 18 มิ.. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) “ร่วมออกแบบ...ร่วมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายคนรุ่นต่อไป (Next Generation) ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 และครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เครือข่ายคนรุ่นต่อไป ได้ร่วมออกแบบกิจกรรมการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนสังคมและการสื่อสาร ในประเด็นนโยบายสาธารณะของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ




ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ..2565-2566 ได้กำหนดประเด็นหลัก (Theme) ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 และ 16 คือความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทยซึ่งมีแนวคิดที่มุ่งให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม พร้อมเตรียมขยายการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มในสังคมให้กว้างขวางกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นต่อไป (Next Generation) ที่จะเข้ามาเป็นผู้ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม


สำหรับเครือข่ายคนรุ่นต่อไป (Next Generation) หมายถึง กลุ่มหรือองค์กรของนักศึกษา และกลุ่มคนวัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ที่มีความสนใจหรือมีแนวคิดใหม่ๆ ในประเด็นสุขภาพมิติกว้าง รวมถึงสนใจเรื่องการพัฒนาและขับเคลื่อนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ต้องการมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับคนหลายภาคส่วนในสังคม โดยไม่ได้ใช้คำว่าคนรุ่นใหม่เนื่องจากมีข้อถกเถียงว่า ในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่แล้วแต่มีแนวคิดใหม่ๆ สามารถปรับตัวทำงานร่วมกับคนอายุน้อยกว่าอย่างเคารพซึ่งกันและกัน ก็อาจหมายรวมถึงคนรุ่นใหม่ได้เช่นกัน


ผศ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพ สุขภาวะ นั้นเป็นเรื่ององค์รวมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับหลากหลายประเด็นในทุกมิติของสังคม หรือที่เรียกว่าปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพไม่ว่าจะเป็นในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนอย่างต่อเนื่อง สช.จึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายคนรุ่นต่อไป ที่มีการทำงานกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ได้เข้าร่วมเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม กับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ




กระบวนการพูดคุยในวันนี้ เป็นการระดมเครือข่ายคนรุ่นต่อไปมาร่วมแลกเปลี่ยนในเบื้องต้น บนโจทย์ที่ว่าแต่ละองค์กรนั้นกำลังขับเคลื่อนงานเรื่องอะไรกันอยู่บ้าง ในระดับพื้นที่หรือระดับชาติ โดยต้องการขับเคลื่อนในประเด็นอะไรบ้าง แล้วถ้าจะขับเคลื่อนเรื่องนั้นๆ ให้สำเร็จจะต้องทำอย่างไร ใครมีบทบาทอะไรบ้าง รวมถึงการให้มุมมองที่ว่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะหนุนช่วยในส่วนไหนได้บ้างผศ.วีระศักดิ์ กล่าว


ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ทาง สช. และ คจ.สช. ได้ดำเนินการขยายการมีส่วนร่วมของเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรม มาตั้งแต่การจัดสมัชชาฯ ครั้งที่ 12 จนถึงครั้งที่ 14 โดยสนับสนุนให้เครือข่ายคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะ เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นตลอดกระบวนการ และร่วมขับเคลื่อนสังคม (Social Movement) ในประเด็นนโยบายสาธารณะผ่านกิจกรรมที่หลากหลายและสร้างสรรค์


นพ.ประทีป กล่าวว่า จากการสรุปบทเรียนที่ผ่านมา ได้เกิดข้อเสนอต่อการขยายการมีส่วนร่วมของประชาชนและเครือข่ายคนรุ่นใหม่ ทั้งการค้นหาความต้องการที่แท้จริง ให้น้ำหนักความสำคัญต่อระดับการมีส่วนร่วมที่เข้มข้นขึ้น ให้มีส่วนร่วมตลอดกระบวนการทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังวันประชุมสมัชชาฯ รวมทั้งเชื่อมกลุ่มหรือเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ทำงานอยู่แล้ว เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสมัชชาฯ จึงนำมาสู่แนวทางสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายคนรุ่นต่อไป ในกระบวนการสมัชชาฯ ครั้งที่ 15-16 ตลอดจนกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ทั้ง 3 ประเภท อันได้แก่ สมัชชาฯชาติ สมัชชาฯประเด็น และสมัชชาฯพื้นที่




เครือข่ายคนรุ่นต่อไปที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในวันนี้ ให้ข้อเสนอที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม สิทธิมนุษยชน ความเหลื่อมล้ำในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนปัญหาด้านสุขภาวะ อนามัยเจริญพันธุ์ หรืออย่างบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีความพยายามขับเคลื่อนกันอยู่ ฉะนั้นคิดว่าหลายประเด็นที่เครือข่ายคนรุ่นต่อไปให้ความสนใจ ก็อาจยกขึ้นมาเป็นประเด็นของประเทศได้ด้วย ผ่านกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะนพ.ประทีป กล่าว