ถอดรหัสนโยบายผู้ว่าฯ 'ชัชชาติ' สอดรับ 'มติสมัชชาสุขภาพฯ' สร้างสุขภาวะตอบโจทย์คนกรุง
ในที่สุดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ก็ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 ท่ามกลางบรรยากาศลุ้นระทึกของคนกรุงชนิดที่หายใจไม่ทั่วท้อง
ผลการเลือกตั้งที่ชนะแบบถล่มทลายด้วยคะแนนท่วมท้นทุบประวัติศาสตร์มากถึง 1,386,215 คะแนน ทิ้งห่างลำดับที่สองกว่า 1 ล้านคะแนน จึงไม่ต่างไปจากฉันทมติของคนกรุงเทพฯ ที่ร่วมกันแสดงออกอย่างพร้อมเพรียงกันว่า ต้องการความเปลี่ยนแปลง
ทว่าอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นแรงกดดันหนักหน่วงที่ส่งตรงกลับมายังตัวของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” เอง ในฐานะที่เป็นตัวแทนของ “ความหวัง” ที่โคจรมาให้เห็นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี
ฉะนั้นสำหรับ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” แล้ว จึงไม่มีช่วงเวลาฮันนีมูน เฉลิมฉลอง หรือทดลองงานแต่อย่างใด
ด้วย กทม. เป็นเมืองใหญ่ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ปัญหามีความสลับซับซ้อนและลงลึกถึงโครงสร้าง การแก้ไขจึงอาจไม่มีสูตรสำเร็จเพียงวิธีเดียว หากแต่ต้องอาศัย “กระบวนการการมีส่วนร่วม” และ “สานพลัง” ทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อ “ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ตามเป้าหมายสูงสุดของ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ”
ภาพของการ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ตั้งแต่ลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชน เดินเท้า-ปั่นจักรยานสำรวจปัญหาด้วยบุคลิกที่เป็นมิตรเข้าถึงได้ ตลอดจนบรรยากาศการคล้องแขนทำงานร่วมกับผู้สมัครฯ คนอื่นๆ และ สก. จากพรรคต่างๆ ตลอดจนการประกาศตัวเป็น “อิสระ” ที่พร้อมทำงานกับ “ทุกคน-ทุกฝ่าย” ได้ทำให้เกิดภาพความร่วมไม้ร่วมมือทางการเมืองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
“เราต้องเอาโจทย์ของประชาชนมาเป็นตัวตั้ง” ชัชชาติ ย้ำหลักการสำคัญระหว่างลงพื้นที่ย่านช่องนนทรี เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 ก่อนที่ กกต.จะรับรองผลเพียง 1 วัน
หากพูดถึง “โจทย์ของประชาชน” แล้ว ทุกวันนี้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐เป็นฐานในการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งภายใต้กฎหมายฉบับนี้ได้รองรับเครื่องมือที่จะทำหน้าที่ “สกัด-กลั่นกรอง-ตกผลึก” โจทย์ของประชาชน หรือความทุกข์ร่วมของประชาชน อาทิ กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ ฯลฯ
ซึ่งหากถอดรหัสจากนโยบาย 9 ดี 9 ด้าน ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ โดยโฟกัสไปที่ “ด้านสุขภาพดี” ก็พบว่ามีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และในเชิงประเด็นย่อยก็มีความสัมพันธ์กับเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. นั่นก็คือ “สมัชชาสุขภาพ” ทั้งระดับชาติ ระดับพื้นที่ และเฉพาะประเด็น
เพิ่ม ‘พื้นที่สาธารณะ-พื้นที่สีเขียว’
การผลักดันพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว เป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้ความสำคัญและเน้นย้ำอยู่เสมอผ่านการสื่อสารสาธารณะ โดยนโยบายชูโรงสำคัญคือ “สวน 15 นาที ทั่วกรุง” ซึ่งตั้งเป้าให้มีพื้นที่สาธารณะที่ทำกิจกรรมได้กระจายตัวอยู่ทุกที่ และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายในระยะ 800 เมตร หรือด้วยการเดินภายใน 10-15 นาที
รวมถึงนโยบาย “สนับสนุนการแปลงที่ของประชาชนและเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว” ที่ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับเมือง โดยเน้นการกระจายตัวเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของประชาชน ซึ่งนอกจากการประยุกต์ใช้พื้นที่ของภาครัฐแล้ว ยังจะผลักดันให้เกิดการเปิดพื้นที่ของภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะต่างๆ ในรูปแบบการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน (POPS)
ขณะที่การ “ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง” ก็เป็นนโยบายที่มีการเดินหน้าอย่างชัดเจน เพื่อทำให้ กทม. มีต้นไม้เพิ่ม 1 ล้านต้น ในระยะเวลา 4 ปี บนแนวคิดเพื่อ 1. ลดฝุ่นและมลพิษ 2. ให้เกิดร่มเงาในการใช้ชีวิต 3. ส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศน์เมือง 4. ให้ชุมชนมีรายได้ 5. ปลูกให้คนและต้นไม้โตไปพร้อมๆ กัน โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ลงมือ “ปลูกต้นแรก” ด้วยมือของตัวเอง พร้อมสั่งการให้ผู้อำนวยการ 50 เขต กทม. วางแผนในการสนับสนุนนโยบายให้สำเร็จตลอด 4 ปีนี้
อีกหนึ่งนโยบายสำคัญคือการ “เพิ่มเวลา เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงสวนและพื้นที่สาธารณะ” ซึ่งต้องการปรับเวลาเปิด-ปิดพื้นที่สาธารณะ ให้สอดคล้องกับความต้องการและการใช้งานของประชาชน พร้อมปรับปรุงและเพิ่มเติมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องแต่งตัว เครื่องออกกำลังกาย แสงสว่าง ฯลฯ ให้มีคุณภาพ
เมื่อควบรวมนโยบายข้างต้นเป็นภาพใหญ่ พบว่ามีความสอดคล้องกับ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561 “การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” อันเป็นนโยบายสาธารณะ ที่ต้องการให้มีพื้นที่สาธารณะที่พลเมืองสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตเมือง
และยังสอดคล้องกับ มติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 “การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะชุมชน” ที่มุ่งเน้นให้ กทม. จัดทำแผนและกระบวนการสำรวจข้อมูลพื้นที่สาธารณะ เชื่อมโยงแผนงาน โครงการ หน่วยงาน ชุมชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ พร้อมกำหนดพื้นที่ชุมชนนำร่อง (Sand Box) อย่างน้อย 1 เขต 1 พื้นที่ เพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะต้นแบบให้เป็นรูปธรรม
“ต่อจากนี้ถ้ามีเอกชนรายไหนที่มีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และต้องการให้ กทม. ได้พัฒนาที่ดินมาทำสวนสาธารณะ ก็สามารถติดต่อกับสำนักงานเขตในพื้นที่ได้ นี่จะเป็นการช่วยกันของหลายฝ่ายให้ได้พื้นที่สีเขียว โดยที่ กทม.ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก วิธีนี้เป็นการแบ่งปันอย่างหนึ่งที่จะทำให้เมืองน่าอยู่เพิ่มมากขึ้น” นายชัชชาติ ระบุ
ยกระดับ ‘หน่วยบริการ’ รักษาพยาบาล’
อย่างที่ทราบกันดีกว่า กทม. เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย และเกี่ยวโยงกับความรับผิดชอบของหลายฝ่าย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ “โรงพยาบาล” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. ซึ่งมีเจ้าภาพที่ดูแลหลากหลาย
เช่น โรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือโรงพยาบาลทหาร สังกัดกระทรวงกลาโหม (กห.) โรงพยาบาลตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และโรงพยาบาลเอกชนอีกจำนวนมาก
นี่เป็นเพียงมิติเดียวของความสลับซับซ้อนใน กทม. และเมื่อเจาะเข้ามายังนโยบายด้านสุขภาพของผู้ว่าฯ ชัชชาติ แล้ว พบว่ามีการออกแบบมาด้วยความเข้าใจบริบทเมืองกรุง
เริ่มด้วยนโยบาย “ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง” ที่ตั้งใจจะลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาล พร้อมยกระดับการเข้าถึงการรักษาพยาบาลคุณภาพดีให้กับประชาชน และ “เร่งรัดผลักดันการก่อสร้าง และศึกษาการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้ครอบคลุม”
กทม. จะศึกษาออกแบบความเป็นไปได้ในการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ในพื้นที่ที่โครงสร้างพื้นฐานและจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างใหม่เติบโตในอัตราสูง แต่สถานพยาบาลของรัฐยังไม่ครอบคลุม อาทิ ฝั่งกรุงธนเหนือ เพื่อให้บริการสาธารณสุขและรักษาพยาบาลของรัฐภายใต้สังกัด กทม. ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ใน 6 กลุ่มเขต
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตั้งใจที่จะ “ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร” โดยมุ่งยกระดับการเข้าถึงการรักษาพยาบาลคุณภาพดีใกล้บ้านในระดับเส้นเลือดฝอย มีคลินิกบริการและการรักษาโรคตอบโจทย์ความต้องการ ตรงกับวิถีชีวิตของประชาชน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางระยะไกล ลดเวลาในการเดินทางและความแออัดในสถานพยาบาลขนาดใหญ่
มากไปกว่านั้น ยังมีนโยบาย “หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine” นโยบาย “Mobile Medical Unit รถสุขภาพเชิงรุก ตรวจถึงชุมชน” หรือแม้กระทั่งนโยบาย “เพิ่มจำนวน Excellent Center และยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง” ฯลฯ
แน่นอนว่านโยบายเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ หากแต่ตั้งต้นมาจาก “โจทย์ของคนกรุง” ซึ่งสอดคล้องกับ มติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ” รวมไปถึง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 มติ “ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ด้วย
“การจะทำให้ประชาชนสุขภาพดี ต้องทำงานหลายมิติ ต้องเริ่มจากส่งเสริมให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องง่าย เมื่อมีอาการเจ็บป่วยสามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้อย่างสะดวก พัฒนาระบบสาธารณสุขเส้นเลือดฝอยหรือปฐมภูมิให้เป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายของประชาชน นอกจากนี้ยังต้องยกระดับการบริการและบริหารจัดการในภาพรวมให้เชื่อมต่อ ทันสมัย และครอบคลุม” นายชัชชาติ ระบุ
จัดระเบียบ ‘หาบเร่-แผงลอย’ ด้วยการมีส่วนร่วม
นอกเหนือจากการมีอยู่ในฐานะมนต์เสน่ห์ของกรุงเทพมหานครแล้ว “หาบเร่แผงลอย” ในมุมหนึ่งคือโอกาส คือรายได้ โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 ที่พบว่าหาบเร่แผงลอยมีส่วนสำคัญในระบบนิเวศน์อาหาร ช่วยให้คนกรุงยังชีพและประทังชีวิตได้ในสถานการณ์อันยากลำบาก
หาบเร่-แผงลอย คือชีวิต คือเส้นเลือดฝอย คืออาชีพ คือปากท้องของคนทุกระดับ
ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าหาบเร่แผงลอยเต็มไปด้วยความระเกะระกะ ไร้ระเบียบ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม บ่อยครั้งที่คนกรุงรู้สึกรำคาญเพราะถูกรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมองหาบเร่แผงลอยด้วยเหลี่ยมมุมใด ก็ไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่ของหาบเร่แผงลอยในวันนี้ และสืบต่อไปในอนาคตได้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทราบดี จึงมีนโยบายในการที่จะ “ส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ” ควบคู่ไปกับการ “เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย” รวมถึง “ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ”
หากมองลึกในเชิงการบริหารจัดการ นโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ยังจะมีการ “สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ ช่วยดูแลพื้นที่การค้า” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางกำหนดรูปแบบของการทำพื้นที่ค้าขายหาบเร่ในเขตที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิต บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้หาบเร่แผงลอยที่สวยงาม สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ ตลอดจนการ “หาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร (hawker center)”
ทั้งหมดนี้ สอดรับกับ มติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563 “การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร” ที่มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับปัญหาหาบเร่แผงลอย โดยคำนึงถึงทั้งในแง่ของประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ ตลอดจนเสน่ห์ของ กทม. และในแง่ของปัญหา เช่น การจัดระเบียบ การสัญจร พื้นที่สาธารณะ
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของผู้คนกว่า 1,000 ชีวิต ในงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 1 ได้สะท้อนคำพูดของ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นอย่างดี
ศ.สุริชัย บอกว่า ปัญหาบางอย่างไม่อาจตัดสินได้ด้วยอำนาจทางปกครองหรือกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะมีความแข็งกระด้างและบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ทางสังคมที่เอื้อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น และใช้งานวิชาการเข้ามาตอบโจทย์ สร้างโอกาสในการเปลี่ยนผ่านที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาโดยยึดโยงกับหลักเชิงสากลและรากเหง้าของการจัดการ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจกำลังเป็นปัญหาสำคัญที่จะทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมือง ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้คนต้องประหยัด กำลังซื้อลดลง มาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลทำได้อย่างจำกัด เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและหนี้สาธารณะ ฉะนั้นบทบาทของ กทม.เอง ต้องหันมามุ่งเน้นการช่วยเหลือด้านปากท้องของประชาชนให้มากขึ้น เพราะเมืองคือคน ถ้าคนอยู่ไม่ได้ เมืองก็อยู่ไม่ได้
ทั้งหมดนี้คือบางช่วงบางตอนของการถอดรหัสนโยบายผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’ ที่มีความสอดรับมติสมัชชาสุขภาพฯ
สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายที่ตั้งต้นมาจากกระบวนการมีส่วนร่วม ย่อมตรงจุด-ตรงความต้องการ และสามารถ “ตอบโจทย์” ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนมิถุนายน 2565