
ชวนรู้จักแนวคิดการสร้างทีม 'นักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่' ผนึกกำลัง 3 ภาคส่วนในท้องถิ่น ร่วมรองรับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.8 กรกฎาคม 2565
ภายในวงประชุมที่พูดคุยเพื่อหาแนวทางรองรับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตอนหนึ่งได้มีการพูดถึงเรื่องของ "นักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่" ที่จะให้มีการพัฒนา ส่งเสริม และเค้นเอาศักยภาพของคนในพื้นที่ มาทำให้เกิดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
วงประชุมที่เป็นการหารือร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) มหาวิทยาลัยมหิดล และสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้จุดประกายถึงประเด็นของการจัดทำนโยบายสาธารณะ ด้วยการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ผ่านการใช้เครื่องมือ “ธรรมนูญสุขภาพ” เป็นกรอบกำหนดทิศทาง และขับเคลื่อนผ่านแกนกลางโดย “นักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่”
ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าหน้าตาและบทบาทของ “นักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่” นี้จะเป็นอย่างไร และมีเหตุอะไรที่ต้องเพิ่มศักยภาพ ส่งเสริมให้เกิดนักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่นี้ขึ้น
หนึ่งในผู้ที่จะให้คำตอบนี้ได้อย่างชัดเจนคือ จารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ (สนพ.) สช. ได้เริ่มต้นฉายภาพว่า ที่มาของนักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ มาจากจุดประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพ และพัฒนาบุคลากร ในการรองรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ซึ่งได้มีการเลือกนำร่องในพื้นที่ จ.นครปฐม เป็นที่แรก โดยมี รพ.สต.ในพื้นที่ประมาณ 136 แห่ง ในจำนวนนี้พร้อมถ่ายโอนสู่ อบจ.นครปฐม ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 36 แห่ง
สำหรับหลักสูตรการพัฒนานักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ สช.ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่รับผิดชอบออกแบบหลักสูตร และจัดการอบรมสร้างศักยภาพให้กับนักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่อรองรับภารกิจการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น
ในส่วนของนักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่นี้ จะถูกเรียกว่า “ทีมจัดการสุขภาพระดับพื้นที่” ซึ่งมีองค์ประกอบของ 3 ส่วนอยู่ในทีม ได้แก่ 1. นายก อบต. หรือผู้แทน 2. ผู้อำนวยการ รพ.สต. หรือผู้แทน และ 3. ตัวแทนภาคประชาชน หรือกล่าวในอีกทางหนึ่งก็อาจเรียกว่าเป็นการนำเอา “ท้องถิ่น-ท้องที่-ท้องทุ่ง” มาทำงานร่วมกัน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการจัดทำทีมนักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ สำหรับรองรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. เพื่อจัดระบบสุขภาพของชุมชนอย่างจริงจัง
ผอ.สนพ.ขยายความเพิ่มเติมว่า การสร้างและพัฒนานักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ จะเริ่มจากการทำความเข้าใจระบบสุขภาพในวงกว้าง จากนั้นจะมีการประยุกต์ใช้เครื่องมือของการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การจัดทำ “แผนสุขภาพท้องถิ่น” ซึ่งเป็นการร่วมกันกำหนดทิศทางขึ้นมาเองของชุมชน เพื่อนำไปสู่กิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเรื่องคุณภาพชีวิตของสังคมในท้องถิ่น
เขาระบุอีกว่า หากมองถึงศักยภาพที่จำเป็นเพื่อพัฒนาทีมจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ คือจากเดิมที่จะมีการมองมิติด้านสุขภาพ เน้นไปในเรื่องการรักษา การใช้ยาเพื่อดูแลสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ นักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ จะช่วยให้ทุกภาคส่วนของสังคมมองการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเป็นองค์รวม
กล่าวคือการขับเคลื่อนด้านสุขภาพของชุมชน จะไม่ได้มีเพียงแค่การรักษา แต่ไปเน้นระบบการดูแล ส่งเสริมสุขภาพ ที่จะช่วยส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้นอย่างเป็นองค์รวม และมีความยั่งยืน ดังนั้นหลักสูตรการพัฒนานักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ จึงเป็นการมุ่งเน้นเพื่อสร้างมิติการมองภาพของสังคม ขับเคลื่อนไปสู่สุขภาวะที่ดีใหม่
“ทีมนักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ จะมีหน้าที่ทำแผนสุขภาพระดับพื้นที่ หรือแผนการจัดการสุขภาพให้กับคนในชุมชนอย่างเหมาะสม และตรงกับความต้องการของประชาชน โดยใช้กลไกเครื่องมือของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ ฉบับที่ 3 ที่มุ่งสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนสุขภาพ นำไปสู่การปฏิบัติ หรือได้มาเป็นธรรมนูญสุขภาพของชุมชนเอง ไม่ใช่การรับแผนที่กำหนดมาจากส่วนกลางเพียงพอย่างเดียว เพราะที่สุดแล้ว ปลายทางคือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีส่วนร่วมของทุกคน” จารึก ให้หลักการ
ผอ.สนพ. ทิ้งท้ายว่า การอบรมตามหลักสูตรที่จัดทำขึ้น นอกเหนือไปจากการเพิ่มศักยภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างทีมนักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานระหว่างพื้นที่ด้วยกัน หรือต่อยอดนำไปสู่พื้นที่อื่นๆ ที่จะมีรูปแบบการสร้างและพัฒนาทีมนักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ในอนาคต
ขณะเดียวกัน ก็จะมีการแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อสร้างนักจัดการสุขภาพระดับพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบหลักคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และที่สำคัญคือภาคประชาชนในพื้นที่ ในการเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน ในท้องถิ่นทุกคน