'ซ่อมเมือง-แก้ปัญหาน้ำท่วม' นโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ตรงใจวาระในระดับโลก
18 กรกฎาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

โควิดยังไม่จาง โลกยังร้อน พายุยังแรง กรุงเทพฯ น้ำยังท่วม 


กรุงเทพมหานครต้อนรับผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ป้ายแดงด้วยฤดูฝน ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นปัญหาน้ำท่วม น้ำรอระบาย ซึ่งแม้กรุงเทพฯ จะไม่ได้เป็นด่านหน้าที่จะปะทะกับพายุรุนแรง แต่เพียงฝนตกหนักติดต่อกันก็มักเกิดปัญหาน้ำท่วม รถติด อุบัติเหตุกระทบชีวิตชาวกรุงไม่น้อย และเรื่องนี้ก็เป็น 1 ใน 3 ภารกิจเร่งด่วน คือ น้ำท่วม ความปลอดภัยทางถนน และปากท้อง และยังอยู่ 214 นโยบาย หมวดโครงสร้างดีและสิ่งแวดล้อมดี เช่น การเร่งจัดทำคูคลองระบายน้ำ แก้มลิง กทม. และจะเริ่มต้นด้วยการแก้ไขและติดตั้งปั๊มน้ำและแก้ไขไม่ให้ไฟฟ้าดับ



ในขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงก็ได้เป็นปัญหาระดับโลก เพราะแม้ช่วงที่หลายประเทศประกาศใช้มาตรการลดการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง โลกก็ไม่เย็นลง อุณหภูมิของโลกยังคงสูงขึ้น เกิดคลื่นความร้อนสูงขึ้นจนทุบสถิติเก่าอย่างต่อเนื่อง สภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้น เกิดพายุไต้ฝุ่นรุนแรงบ่อยครั้ง


โลกแก้ไขภัยพิบัติอย่างไร : จากปฏิญญาเซนได ถึง เวทีโลก เรื่องการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ


นับตั้งแต่ .. 2558 โลกมีปฏิญญาเซนได ที่ว่าด้วยการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่มีอยู่เดิม และที่จะเกิดขึ้นใหม่ สนับสนุนการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ยังกินความรวมถึงการป้องกันภัยพิบัติทางชีวภาพเช่นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่กระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย โดยมีประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติให้การรับรองกว่า 187 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย


โดยสาระหลักของปฏิญญาเซนไดคือลด 4 อย่าง เพิ่ม 3 อย่างโดยการลด 4 อย่าง คือ 1) ลดอัตราการเสียชีวิต 2) ลดจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ 3) ลดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ และ 4) ลดความเสียหายต่อสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และบริการพื้นฐาน ในขณะที่การเพิ่ม 3 อย่าง คือ 1) เพิ่มแผนยุทธศาสตร์ ลดความเสี่ยงระดับชาติและระดับท้องถิ่น 2) เพิ่มการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และ 3) เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าและข้อมูลความเสี่ยง และตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุปฏิญญาใน .. 2553


ปัจจุบันนับได้ว่าผ่านมาครึ่งทางแล้วของการมีปฎิญญาเซนได สำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction) บนความร่วมมือกับรัฐบาลอินโดนีเซียจัดประชุมระดับชาติ The 7th session of the Global Platform for Disaster Risk Reduction (GP2022) โดยมีผู้แทนทั้งจากภาครัฐประชาสังคม ภาคเอกชนเข้าร่วมถึง 193 ประเทศ และมีตัวแทนจากภาครัฐในระดับต่างๆ กว่า 5,000 คนเข้าร่วม และมีเป้าหมายเพื่อศึกษาว่าโลกของเราขับเคลื่อนการลดภัยพับัติ ตามกรอบปฏิญญาเซนไดได้มากน้อยเพียงไร และจัดทำข้อเสนอให้กับผู้กำหนดนโยบายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การวางแผนทางเศรษฐกิจการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ


ล้มแล้วต้องลุกให้ไว ปรับตัวให้ทัน มีส่วนร่วมให้มาก : 10 หลักสำคัญแก้ไขภัยพิบัติจากเวทีโลก


ผลลัพธ์จากที่ประชุมสามารถประมวลเป็น 10 ข้อเสนอสำคัญเพื่อกระตุ้นให้ระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติคือ

1. นำแนวคิดยืดหยุ่นและปรับตัวเพื่อรับมือภัยธรรมชาติประยุกต์ไปกับการลงทุนและการตัดสินใจระดับนโยบาย 

2. สร้างการทำงานและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ 

3. ใช้แนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมและสิทธิมนุษยชนในการวางแผนและดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากธรรมชาติ เพราะประชาชนคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

4. ชั่งน้ำหนักระหว่างค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติกับงบประมาณลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง และนำมาเปลี่ยนแปลงระบบที่เกี่ยวข้อง

5. พัฒนาระบบเตือนภัยของชุมชนพื้นที่เสี่ยงให้มีคุณภาพแลกเปลี่ยนข้อมูล มีกลไกการบริหารที่มีประสิทธิภาพ 

6. ปรับปรุงแนวทางการฟื้นฟูผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ที่ทำให้มีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น เท่าเทียมมากขึ้น

7. ใช้แนวทางชุมชนขับเคลื่อนและสนับสนุนกลไกระดับท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชุมชนจากภัยพิบัติ  

8. ยกระดับให้ระบบนิเวศเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

9. สร้างแนวทางการจัดการภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างครอบคลุม เพราะ 2 สิ่งนี้คือหนทางแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดกับกลุ่มคนเปราะบาง และสร้างศักยภาพการปรับตัว

10. สร้างความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนมิถุนายน 2565


อ้างอิง : 

https://www.bbc.com/thai/thailand-61565919


World Disasters Report 2020: COME HEAT Or HIGH WATER, IFRC และ Concept Note on SEVENTH SESSION OF THE GLOBAL 

PLATFORM FOR DISASTER RISK REDUCTION (GP2022)


https://www.sdgmove.com/2021/07/24/sdg-vocab-38-sendai-framework-for-disaster-risk-reduction-2015-2030/ 


https://www.thaipbsworld.com/representatives-of-193-countries-discuss-disaster-risk-mitigation-in-indonesia/


https://globalplatform.undrr.org/news/23-28-may-2022-summary-report-gp2022