
ความท้าทายของการพัฒนา 'ระบบการดูแลแบบประคับประคอง' ในเมืองหลวง 'กรุงเทพมหานคร'18 กรกฎาคม 2565
กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเมืองหลวงของประเทศไทยซึ่งเป็นนครโตเดี่ยว (Primate City) เป็นศูนย์รวมของประเทศไทยในทุกๆ ด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของประเทศทุกรูปแบบ ทำให้เมื่อบริบทของเมืองเป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อระบบการดูแลประชากรในทุกรูปแบบ
หากพิจารณาเฉพาะเรื่องการดูแลแบบประคับประคองนั้น ในเขตกรุงเทพมีปัญหาและความท้าท้ายมากเนื่องมาจาก 1. การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมาทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรสู่กรุงเทพมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลทั้งเป็นประชากรอยู่อาศัยตามปกติและประชากรแฝงมากที่สุด
ทำให้มีหลายครั้งที่ต้องส่งผู้ป่วยแบบประคับประคอง (ที่เป็นประชากรแฝงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ) ที่ต้องการกลับไปดูแลต่อและเสียชีวิตที่บ้านในจังหวัดอื่น โดยขนส่งผู้ป่วยแบบข้ามจังหวัด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาคุณภาพในการดูแลตามมา
2. มีการสร้างตึกสูงเป็นที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากทั้งในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเพื่อรองรับความต้องการของประชากร การที่มีประชากรเข้ามาอยู่ร่วมกันในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ได้แก่ การจัดการคมนาคม ปัญหาสภาพแวดล้อม ปัญหาสุขลักษณะและการจัดระบบบริการทางการแพทย์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องการดูแลแบบประคับประคองด้วย
จากสภาพการอยู่อาศัยในสังคมเมืองที่ประชากรอาศัยอยู่ในตึกสูงเป็นจำนวนมาก จึงควรพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะเหล่านี้ด้วย หากพิจารณาเฉพาะเรื่องการดูแลแบบประคับประคองจะพบว่า หากเกิดกรณีการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังในตึกสูงจะทำอย่างไร หรือในกรณีที่มีการเสียชีวิตของผู้ป่วยระยะท้ายในห้องพักแล้วจะบริหารจัดการอย่างไร ความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยข้างเคียงจะทำอย่างไร
ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนารูปแบบการบริการทางการแพทย์ทั้งในเรื่องการบริการทางการแพทย์แบบปกติ และการดูแลแบบประคับประคองในสังคมเมืองและสังคมตึกสูงเป็นการเฉพาะ
3. เมื่อพิจารณาในเรื่องการให้บริการทางการแพทย์ พบว่า ในเขตกรุงเทพมีระบบและรูปแบบการให้บริการทางการแพทย์ที่มีหลายหน่วยงานเป็นเจ้าภาพ คือ มีศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครกระจายไปตามพื้นที่ทั่วกรุงเทพ โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานระดับกระทรวง โรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชน ทำให้การบูรณาการความร่วมมือเป็นไปอย่างยากลำบาก
ต่างจากในจังหวัดต่างๆ ที่มีโครงสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการที่ชัดเจนกว่าคือ มีโรงพยาบาลในระดับจังหวัด โรงพยาบาลในระดับอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ซึ่งจากการวางระบบการให้บริการทางการแพทย์ในเขตกรุงเทพเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาความแออัดของสถานพยาบาล การกระจุกตัวของผู้ป่วยและสถานพยาบาลในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการให้บริการทางการแพทย์ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ญาติและบุคลากรทางการแพทย์ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
4. การออกใบมรณะบัตรกรณีที่มีการตายที่บ้าน เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพการแจ้งตายและการออกใบมรณะบัตร จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานเขตที่จะต้องรับแจ้งตายจากเจ้าบ้าน ซึ่งบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่เขตไม่ยินยอมออกใบมรณะบัตรให้ เนื่องจากไม่ได้ทราบรายละเอียดการตาย และให้เจ้าบ้านไปแจ้งความเพื่อนำใบแจ้งความและการยืนยันศพว่าผู้ตายเป็นใคร หลักฐานการดูแลแบบประคับประคองและตายที่บ้าน มาแจ้งเพื่อขอออกใบมรณะบัตร
เหตุการณ์นี้สร้างปัญหาให้เจ้าบ้านมาก เพราะตำรวจที่รับแจ้งความก็ไม่ทราบว่าตายจากอะไร ตายตามธรรมชาติหรือไม่ ในหลายกรณีตำรวจก็มักจะให้ไปชันสูตรศพก่อนซึ่งจะสร้างความยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อทำให้เกิดระบบการดูแลที่บ้านอย่างเป็นรูปธรรมจริง ควรมีการสร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและสำนักงานเขตเพื่อแจ้งเรื่องการที่ผู้ป่วยขอกลับมาดูแลต่อและตายที่บ้าน
ดังนั้นโดยสรุป กรุงเทพเป็นเขตการปกครองพิเศษที่มีความท้าทายเรื่องการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองเป็นการเฉพาะตัว ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองในเขตกรุงเทพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยต่อไป
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนมิถุนายน 2565