ภาพรวม 'นโยบายสาธารณะ' ผ่าน 'สมัชชาสุขภาพจังหวัด' การดำเนินตลอดครึ่งปี 2565 เคลื่อนแล้วกว่า 112 นโยบาย
ในขณะที่กระแสความตื่นตัว ต่อวิธีคิด ระบบงานและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนใหม่ ที่เข้ามาพัฒนามหานคร เต็มไปด้วยความคึกคักมีชีวิตชีวา ถือเป็นการจุดกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงเมืองใหญ่ไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมากมาย อีกสิ่งที่สังคมสนใจคือนโยบายทั้ง 214 ข้อของผู้ว่าฯ กทม. ที่ผู้เกี่ยวข้องต่างให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนให้บรรลุผล
หันกลับมายังเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เรียกว่าสมัชชาสุขภาพจังหวัด ต่างก็ได้ขับเคลื่อนประเด็นร่วมที่เรียกว่า “นโยบายสาธารณะ” มาอย่างยาวนาน หลายจังหวัดมีมากเกิน 10 นโยบายสาธารณะไปแล้ว บางจังหวัดถูกนำไปปฏิบัติจนเป็นรูปธรรม เช่น เกิดแผนยุทธศาสตร์ แผนความร่วมมือ มีกลไกร่วมในการขับเคลื่อนมีการลงทรัพยากรในการจัดการเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์เชิงนโยบายแตกต่างกันออกไป
และในปี 2565 พบว่ามีนโยบายสาธารณะที่ขับเคลื่อนมากถึง 112 นโยบาย แตกต่างหลากหลายตามบริบทพื้นที่ ทั้งสามารถเชื่อมโยงบูรณาการและทำงานร่วมกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ วิชาการ เชื่อมโยงกับเครือข่ายกลไกต่างๆ ในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นพลังสำคัญในการรองรับการทำงานที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาตินโยบายระดับชาติ และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต
ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565 เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด ได้รวมตัวกันนำเสนอความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในพื้นที่ โดยมีการจัดWorkshop บนฐานประเด็นร่วม (Issued Based) เพื่อเสริมพลังความเข้มแข็งให้นโยบายสาธารณะนั้นๆ สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนได้จริง จำนวน 2 เวที
ครั้งที่ 1 ว่าด้วย “ร่วมสร้างเส้นทางอาหารให้มั่นคงและปลอดภัย” จัดวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2565 มี 32 สมัชชาจังหวัดที่เข้าร่วม ความสำคัญของเวทีนี้คือการชี้ชวนให้ทุกจังหวัดที่เคลื่อนประเด็นเกษตรอาหาร ได้เห็นถึงระบบนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงด้านอาหาร การทำงานที่เชื่อมกับหมุดหมายต่างๆ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และการผลักดันให้เกิดระบบการผลิต การส่งต่อ การบริโภคอาหารที่ปลอดภัย มีเครือข่ายความร่วมมือในทุกๆ ระดับ
และครั้งที่ 2 จัดในมิติ “ภัยคุกคาม ผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม ต่อระบบสุขภาพ” วันที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2565 มี 34 สมัชชาสุขภาพจังหวัดเข้าร่วมการจัดเวทีดังกล่าวจึงเป็นการชวนให้เห็นความสำคัญของการทำงานข้ามภาคส่วนในสังคม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ อาศัยพลังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมโดยมีระบบสุขภาพเป็นแกนกลาง สร้างผลกระทบที่ดีต่อระบบสุขภาพ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการตั้งต้นทำให้ทุกนโยบายนั้นคำนึงถึงสุขภาพ เป็น Health in All Policy ได้อย่างแท้จริง
แม้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เกิดจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพ จะถูกเรียกว่าเป็น “นโยบายกระแสรอง” ต่างไปจากนโยบายกระแสหลัก เฉกเช่นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่การก่อเกิดและเป้าหมายของแต่ละนโยบายนั้น ก็ต่างเป็นทิศทางหรือแนวทางที่คนในสังคมเห็นว่าจะร่วมกันดำเนินการในทิศนั้นได้ ซึ่งในหลายจังหวัดที่ขับเคลื่อนมามีทั้งที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หลายจังหวัดได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างเป็นทางการ กระทั่งหลายจังหวัดยกระดับเป็นนโยบายหรือวาระร่วมไปแล้ว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน สังคมเป็นวงกว้าง ถือว่าเป็นการทำงานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้คนในสังคม
จึงขอแรงและเชิญชวนทุกภาคส่วน มาร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่ดีในทุกๆ จังหวัด ให้เต็มแผ่นดิน และส่งต่อนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนรุ่นหลังไปด้วยกันครับ
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร "สานพลัง" ฉบับเดือนมิถุนายน 2565