ผู้คนนับล้านต้องตายเพราะการกิน เมื่อ 'อาหารที่ดี' ไปไม่ถึงปากท้อง WHO เน้นย้ำทั่วโลกหา 'ทางออก' หนุนของที่ดีต่อสุขภาพ-โภชนาการ
20 กรกฎาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

หนึ่งในประเด็นที่โลกกำลังจับตาขณะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของผู้คนทั่วโลก นั่นคือเรื่อง อาหาร ที่กำลังมีผลกระทบต่อประชากรโลก ทั้งในแง่ของความหิวโหย ภาวะทุพโภชนาการ ที่กำลังแพร่กระจายไปทุกพื้นที่ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่รายงานสถานะความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการโลก ปี 2565 ที่มีใจความระบุให้นานาประเทศได้เห็นถึงภาระความหิวโหยที่หนักหนาสาหัส และสถานการณ์ด้านอาหารหลากหลายรูปแบบที่ประชากรโลกกำลังเผชิญ


ตามรายงานของ WHO ทำให้เห็นภาพว่าภาวะความหิวโหย และการขาดโภชนาการที่ดี ยังคงรุกคืบอย่างหนักต่อผู้คนทั่วโลก โดยมีต้นตอหลักมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์สงคราม รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการจัดหาอาหารที่ยั่งยืน


อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งประเด็นสำคัญนั่นก็คือคุณภาพของอาหารที่ตัวเลขตามรายงานนี้ได้สะท้อนว่าผู้คนกว่า 3,000 ล้านชีวิต ไม่สามารถซื้อหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็มีผู้คนนับล้านชีวิต ที่ต้องตายเพราะอาหารไม่มีคุณภาพในแต่ละปี


สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ WHO จึงมุ่งเป้าให้รัฐบาลทุกประเทศ สนับสนุนภาคการผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์การเกษตร ให้สอดคล้องกับการส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพให้ประชาชน รวมถึงงบประมาณที่ต้องจัดสรรเพื่อให้เกิดการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น และทำให้ต้นทุนอาหารสุขภาพมีราคาที่ไม่แพง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม


วิธีการหนึ่งที่รายงานฉบับนี้ได้เสนอเพื่อเพิ่มคุณค่าของอาหารให้กับประชากรโลก คือการจัดเก็บภาษีในอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และเพิ่มช่องทางผลประโยชน์ในการกระตุ้นให้คนอุดหนุนอาหารทางเลือกที่มีผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น


สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลจะต้องกำหนดเกณฑ์ของอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่วางขายในที่สาธารณะ เพื่อให้การเข้าถึงอาหารของผู้คนในการซื้อหามารับประทาน จะเป็นอาหารที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อร่างกายจริง ในขณะเดียวกันก็ให้มีการปรับปรุงอาหารในโรงเรียน โรงพยาบาล โรงอาหารในสถานที่ราชการต่างๆ รวมไปถึงสถานที่ของเอกชน ที่ควรมีการปรุงอาหารแบบลดความเค็ม ลดหวาน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ดี เพราะในหลายต่อหลายครั้งพบว่า อาหารที่วางขายและปรุงให้กับเด็ก หรือผู้ป่วย นั้นไม่สอดคล้องกับการทำให้สุขภาพดีขึ้นได้เลย


ในรายงานฉบับนี้ ยังยกตัวอย่างรูปแบบการจัดการด้านอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริงในหลายประเทศ และได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อประชากรพวกเขาเอง


ตัวอย่างแรกคือรัฐบาล บราซิล ได้กำหนดโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน จำนวน 30% ต้องซื้อวัตถุดิบจากภาคการเกษตรที่ผ่านการรับรองของรัฐบาลว่ามีคุณภาพ ซึ่งโครงการนี้กระตุ้นให้เกษตรกรจำนวนมากเปลี่ยนจากการผลิตพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ไปเป็นการผลิตที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการปลูกผักและผลไม้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของโรงเรียนทั่วประเทศในการจัดหาอาหารที่มีคุณภาพ


ข้ามมาฝั่งยุโรป มองไปยังกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และนครเวียนนา ออสเตรีย ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ได้ กำหนดให้มีการกระตุ้นการผลิต ผักและผลไม้ออร์แกนิคให้เพิ่มมากขึ้น และผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอื่นๆ ด้วย ซึ่งยังเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตอาหาร และมีจุดเด่นในการปรับพฤติกรรมการกินของผู้คน ให้ไปสู่การกินอาหารที่มีคุณภาพได้


ขณะที่ฟากฝั่งเอเชีย ก็ได้มีการเริ่มต้นในเรื่องคุณภาพอาหารด้วยเช่นกัน โดยในปี 2564 รัฐบาล ฟิลิปปินส์ ได้ใช้นโยบายอาหารสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่ประกาศเป็นกฎหมายและบังคับให้ทุกสถานที่ของรัฐ รวมถึงศูนย์จำหน่ายอาหารในเขตเมือง ภาคผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร จะต้องสนับสนุนภาคการเกษตร และต้องจัดหาอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพจากท้องถิ่นนั้นๆ เป็นหลัก เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าอาหารที่ถูกรับประทานในทุกสถานที่ จะมีคุณภาพดี ราคาถูก และยังเป็นการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับภาคเกษตรของท้องถิ่นเอง ที่สำคัญคือนโยบายนี้ได้ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของชาวฟิลิปปินส์ได้มากถึง 2.7 ล้านคน


แม้แต่ใน สิงคโปร์ รัฐบาลของพวกเขาก็ได้ออกนโยบายเมื่อปี 2560 ที่ชื่อว่าการจัดเลี้ยงเพื่อสุขภาพโดยรวมของรัฐบาลซึ่งกำหนดให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลทุกแห่ง ต้องจัดหาอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพให้กับพนักงาน รวมถึงสาธารณชนในงานต่างๆ ที่รัฐบาลได้จัดไว้ ซึ่งมีบริการอาหาร โดยนโยบายดังกล่าวสามารถช่วยส่งเสริมความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพได้ เช่น กำหนดให้มีน้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มเริ่มต้น กินธัญพืชไม่ขัดสี ปรุงอาหารจากส่วนผสมที่มีโซเดียมต่ำ ตลอดจนใช้น้ำมันประกอบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ


สำหรับนโยบายการจัดซื้ออาหารสาธารณะเพื่อสุขภาพ และการบริการอาหารที่ดีมีคุณภาพ เป็นส่วนหนึ่งตามแนวทางของ WHO ที่ต้องการส่งเสริมระบบอาหารทั่วโลกให้มีผลดำเนินการด้านสุขภาพ และมุ่งเน้นปรับปรุงคุณภาพทางโภชนาการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้คนทั้งโลกได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน


ที่มา: Healthy public food procurement and service policies, WHO https://bit.ly/3PkU0zg