พลิกวิกฤติ ฝ่าพลวัตรการพัฒนา สู่ภาคใต้ดินแดนแห่งความสุข

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

...พฤกษา สินลือนาม และกรฤทธิ ชุมนูรักษ์

 

ท่ามกลางกระแสเชื้อไวรัสโควิด–19 กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4/ BA.5 จะยังคงรุนแรง แต่การดำรงชีวิตของผู้คนก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป กว่าสองปีที่พี่น้องภาคีเครือข่ายภาคใต้ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในการประชุม “เสริมงาน สานใจ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพระดับภาค (ภาคใต้)” เมื่อวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2565 ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมกว่า 70 ท่าน


ประกอบด้วยทีมภาคใต้ สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั้ง 14 จังหวัด และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่เข้าร่วม ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ภาคใต้), มูลนิธิชุมชนไท, สมาคมประชาสังคมชุมพร, เครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรีฯ-พัทลุง, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, ประธาน กขป. เขต 11 และ เขต 12


ภายในงานมีการเสวนา พลิกวิกฤติ ฝ่าพลวัตรการพัฒนา สู่ภาคใต้ดินแดนแห่งความสุข: ภายใต้สถานการณ์ จุดแข็ง โอกาส ความท้าทาย และภัยคุกคามพื้นที่” ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ (1) นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานมูลนิธิภาคใต้สีเขียว (2) นายธนภณ เมืองเฉลิม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ภาคใต้) (3) นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท (4) นายทวีวัตร เครือสาย นายกสมาคมประชาสังคมชุมพร (5) แพทย์หญิงอุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธาน กขป. เขต 11 (6) นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ประธาน กขป. เขต 12 และ (7) นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สช.



วงเสวนาเห็นพ้องต้องกันว่าแม้จะต้องเผชิญวิกฤติ ปัญหาภัยคุกคามต่างๆ มากมาย แต่การจะก้าวไปสู่ภาพฝันภาคใต้ดินแดนแห่งความสุขนั้นไม่ยากเกินความสามารถ ทั้งนี้การดำเนินการต้องสร้างนโยบายสาธารณะที่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง มากกว่าการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ทั้งในระดับตำบล จังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ โดยในระดับภูมิภาค ภาคใต้ ใน 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ประเด็นที่ 1 ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • ประเด็นที่ 2 ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ประเด็นที่ 3 ความมั่นคงทางทางอาหารและพันธุกรรมพืช
  • ประเด็นที่ 4 ความมั่นคงทางสังคมและคุณภาพชีวิต
  • ประเด็นที่ 5 ความมั่นคงทางสุขภาพ
  • ประเด็นที่ 6 ความมั่นคงในมนุษย์
  • ประเด็นที่ 7 ความมั่นคงทางการศึกษา/เทคโนโลยีและการสื่อสาร

สิ่งที่ต้องดำเนินการรองรับคือ “การสร้างพื้นที่กลาง เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่ หน่วยงานองค์กรต่างๆ รวมทั้งภาคประชาชนได้มาร่วมถักทอ และกำหนดภาพฝัน อีกทั้งต้องมีการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน และการจัดทำแผนที่ทางเดิน นำไปสู่ “การพัฒนาภาคใต้แห่งความสุข”


ในพื้นที่ภาคใต้ พี่น้องภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด และกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 11 และเขตพื้นที่ 12 ได้ร่วมจับมือเดินหน้าสร้าง “ภาคใต้แห่งความสุข” โดยการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญ 28 ประเด็น ซึ่งสอดคล้อง และร่วมผลักดัน เป็นวาระระดับภาค “งานสร้างสุขภาคใต้” ใน 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ความมั่นคงทางสุขภาพ (2) ความมั่นคงทางอาหาร (3) ความมั่นคงทางมนุษย์ และ (4) ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


โดยภาคีเครือข่ายได้นำเครื่องมือตาม พรบ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 ไปเชื่อมร้อยการทำงานในพื้นที่ซึ่งสามารถเชื่อมประสานตั้งแต่ระดับตำบล ระดับจังหวัดโดยใช้ ธรรมนูญสุขภาพในการขับเคลื่อนในพื้นที่ร่วมกับกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัด และระดับเขตมีกลไก กขป. ... ร่วมเป็นกำลังใจให้พี่น้องภาคีเครือข่ายภาคใต้เดินทางไปสู่ ภาคใต้ดินแดนแห่งความสุข ด้วยกัน



 21 กรกฎาคม 2565