
'พยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี' ภัยร้ายที่มี 'อีสาน' เป็น 'เมืองหลวง' 'กขป.' 3 เขตดึงทุกส่วนสางปัญหา สร้างการรับรู้-กินอาหารให้ปลอดภัย22 กรกฎาคม 2565
“มะเร็งท่อน้ำดี” และ “พยาธิใบไม้ตับ” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ที่องค์กรทั้งรัฐและเอกชน กลุ่มเครือข่าย ชุมชนต่างๆ มองเห็นภาพเดียวกันว่า ชั่วโมงนี้มีความจำเป็นแล้วที่จะต้องมาร่วมพลังเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาในแถบที่ราบสูง
สาเหตุก็เพราะคนที่เสียชีวิตไปจากโรคนี้ “ครึ่งหนึ่งเป็นคนจากภาคอีสาน” ที่ต้องจบชีวิตไปปีละนับหมื่นคน และส่งผลกระทบต่อทุกด้าน
มะเร็งท่อน้ำดี คร่าชีวิตปีละ 2 หมื่นคน
“มะเร็งท่อน้ำดี” ถูกวางสถานะให้เป็นภัยร้ายที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างมาก เพราะ 55% เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรวัยทำงานอายุระหว่าง 40-60 ปีที่เป็นหัวหน้าครอบครัว
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ทำการวิจัยในเรื่อง การพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อการตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัยและบริหารจัดการผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชุดข้อมูลที่น่าสนใจ โดยพบว่ามะเร็งท่อน้ำดีจบชีวิตคนไทยไปถึงปีละ 1-2 หมื่นคน
ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นคนมาจากภาคอีสาน สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี มาจากโรคพยาธิใบไม้ตับ ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็จัดให้โรคนี้เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งท่อน้ำดีเช่นกัน
ผลการวิจัยสะท้อนว่า แนวทางการป้องกันมะเร็งท่อน้ำดี และพยาธิใบไม้ตับที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง จะต้องค้นหา เฝ้าระวัง เพื่อหาผู้ป่วยระยะแรกให้เจอให้ได้ เพื่อทันต่อการรักษาให้หายอย่างทันการณ์
กระนั้น งานวิจัยก็ให้ภาพด้วยว่า การค้นหา คัดกรอง และเฝ้าระวัง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้กับประเทศอย่างยั่งยืน จะต้องมีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะกับภาคประชาชนในพื้นที่ที่ต้องเล็งเห็นปัญหานี้ร่วมกัน และวางแผนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายนี้ขึ้นมา
พยาธิใบไม้ตับ ทำคนอีสานตายทุกวัน
วาทินี จันทร์เจริญ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กรมอนามัย กล่าวตอนหนึ่งในวงเสวนา “การจัดการระบบสุขภาพ อาหาร สิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” ที่ จ.มหาสารคาม ถึงสาเหตุของการเกิดพยาธิใบไม้ตับ และทำให้เป็นมะเร็งท่อน้ำดี ว่าภาคอีสานคือ “เมืองหลวง” ของพยาธิใบไม้ตับ
“พยาธิชนิดนี้เป็นต้นเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี และคนอีสานเจอผลกระทบอย่างหนักหน่วง จากพฤติกรรมการรับประทาน บวกกับความเชื่อที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่เป็นไร แค่พยาธิ แต่ความเป็นจริงคือมันสะสมจนเกิดเป็นมะเร็งท่อน้ำดี และมีคนตายเฉลี่ยถึงวันละ 70 คน มากกว่าโควิด-19 อีกด้วย แต่เราไม่ได้พูดถึงเลย” น.ส.วาทินี สะท้อน
พร้อมกันนี้ เธอยังฉายภาพอีกว่าในผู้ป่วยบางเคส แพทย์ถึงกับต้องผ่าตัดเพื่อใช้วิธี “ตัก” เอาพยาธิออกจากร่างกายผู้ป่วย
สำหรับสาเหตุสำคัญของเรื่องนี้ วาทินี มองว่า ระบบสุขาภิบาลมีส่วนสำคัญเช่นกัน เพราะระบบสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะยังไม่ครอบคลุม และทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหา แม้ว่าทุกบ้านเรือนจะมีส้วมที่สะอาดใช้แล้วก็ตาม
แต่กระนั้นการดูดเอาสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือน หรือการดูดส้วม ก็พบว่ามีการนำไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะ ในพื้นที่ธรรมชาติอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างมาตรวจ ก็เจอทั้งไข่พยาธิ ตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งพยาธิเหล่านี้ก็วนเวียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ เอง ทำให้ความเสี่ยงจะเกิดโรคร้ายยังคงปกคลุมคนในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา
แล้ว ‘ภาคอีสาน’ ควรจัดการอย่างไร
ในฐานะที่ภาคอีสาน ถูกยกให้เป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี และพยาธิใบไม้ตับมากที่สุด ทุกกลไกในการป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพของคนในพื้นที่เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีจะต้องถูกนำมาใช้ทั้งหมด
กลไกที่ว่าเกิดขึ้นแล้วในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนอีสานเพื่อให้รอดพ้นจากโรคร้ายที่รุนแรง นั่นคือคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน หรือ กขป. ในภาคอีสาน ที่ประกอบด้วย กขป.เขต 7 กขป.เขต 8 และ กขป.เขต 10
ล่าสุดทาง กขป.ทั้ง 3 เขต ได้ร่วมกับ สถาบันสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี มาสังเคราะห์และวิเคราะห์ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น และแสวงหาทางออกอย่างมีส่วนร่วมด้วยกัน กระทั่งได้ประเด็น 7 ด้าน ที่เห็นตรงกันในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี
ประเด็นทั้ง 7 ด้านประกอบไปด้วย
1. สร้างการรับรู้และความตระหนักในโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้กับประชาชน
2. การสร้างความรอบรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน
3. การดำเนินงานเกี่ยวกับอาหารปลอดพยาธิใบไม้ตับ
4. การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
5. การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในประชาชนกลุ่มเสี่ยง
6. การพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างยั่งยืน
7. การพัฒนาระบบส่งต่อเพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
สำหรับประเด็นทั้ง 7 ดังกล่าว เกิดขึ้นพร้อมกับคำมั่นของ กปข.ทั้ง 3 เขต ว่าจะร่วมกันทำหน้าที่เชื่อมประสาน บูรณาการหน่วยงาน องค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน กลุ่ม ชุมชนอย่างจริงใจ และจะทำให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพนี้อย่างจริงจัง พร้อมกับออกแบบกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนได้เห็นถึงปัญหาของมะเร็งท่อน้ำดี พยาธิใบไม้ตับในทุกช่วงวัย
กิจกรรมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2565 โดย กขป.เขต 8 พร้อมด้วยสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี และภาคีเครือข่าย เตรียมจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี
ต่อด้วยในวันที่ 17 ส.ค. 2565 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี กขป.เขต 7 และภาคีเครือข่าย เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม คณะสงฆ์ จังหวัดมหาสารคาม ฯลฯ จะจัดมหกรรมต้านภัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็ง
ขณะที่ระยะต่อไป ยังจะมีการจัดกิจกรรมคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี รวมไปถึงการลงนามความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนการทำงานในการส่งเสริมป้องกันมะเร็งท่อน้ำดีเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการดึงเอาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แห่งต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนกลางการประสานงาน รวมถึงขยายกิจกรรมไปยังจังหวัดอื่นๆ ในทุกจังหวัดของภาคอีสานต่อไป