
จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย... เมื่อผู้อพยพ-ลี้ภัยเข้าไม่ถึงวัคซีน ความเหลื่อมล้ำกระจายไปทั่วโลก แต่ทำไม ‘ไทยแลนด์’ ได้รับคำชม26 กรกฎาคม 2565
เมื่อมองไปยังรายงานเรื่อง “นโยบายการสร้างภูมิคุ้มกัน การวางแผน และให้บริการสุขภาพแก่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ” ที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ก็ทำให้เห็นถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทั่วโลก ที่ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุของบริบททางการเมืองและสังคมของประเทศปลายทาง
บ้างเข้าไม่ถึงเพราะสถานะของผู้ลี้ภัยที่ไม่ชัดเจน หรือกฎหมายประเทศปลายทางไม่เอื้อต่อการปฏิบัติกับผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย หรือแม้แต่การแบ่งชนชั้นและมองสถานะของผู้ลี้ภัยที่ต่ำกว่าชนชาติตัวเอง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากรายงานชิ้นนี้ คือการอ้างถึงหลายประเทศที่มีการรับผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ที่แม้ว่าจะมีนโยบายด้านสุขภาพในการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ แต่กระนั้นในแนวทางปฏิบัติกลับพบปัญหามากมาย
อียิปต์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน และตูนีเซีย คือตัวอย่างกลุ่มประเทศจากทวีปแอฟริกา ที่มีนโยบายให้วัคซีนพื้นฐานแก่ประชากรทุกคน โดยไม่จำกัดเชื้อชาติและสถานะทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติยังทำไม่ได้จากเหตุผลที่หลากหลายเช่นกัน
ตัวอย่างเช่นกรณีศึกษาของโรงพยาบาลรัฐในอียิปต์ ซึ่งปฏิเสธการให้วัคซีนแก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย โดยอ้างสถานะทางกฎหมายของพวกเขา ซึ่งรายงานของ WHO ฉบับนี้ ได้ฉายภาพให้เห็นถึงเหตุผลอันแท้จริง ว่าเกิดจากความหวาดกลัวว่าผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจะเข้ามาแย่งทรัพยากรในประเทศ
ขณะที่ โมรอคโค ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยก็ไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพ เพราะมีฐานะยากจน และไม่สามารถสื่อสารภาษาท้องถิ่นได้ จึงไม่สามารถรับบริการวัคซีนได้อย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง
ภาพที่ปรากฏผ่านรายงานของ WHO ฉบับนี้ จึงตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่าหากมีโรคระบาดเกิดขึ้น และแพร่กระจายจนสร้างความเสียหายให้กับสังคมแล้ว สังคมโลกของเราเองย่อมไม่มีความปลอดภัยหลงเหลืออยู่เลย
นั่นเพราะคนในสังคมเดียวกัน ที่ต่างไปด้วยเชื้อชาติ สถานะ ยังคงไม่ได้รับสิทธิทางสุขภาพอันเป็นพื้นฐานได้อย่างครบถ้วน และทำให้คนอื่นในสังคมก็ไร้ความปลอดภัยไปด้วยเช่นกัน
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นดูเหมือนสวนทางกับเป้าหมายของ WHO ที่ต้องการบรรลุให้เกิดการเข้าถึงวัคซีนอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าคนนั้นจะมีเชื้อชาติอะไร มาจากไหน และอายุเท่าไร ให้ได้ภายในปี 2573 หากว่าโลกยังคงมีการกีดกัน และมีกำแพงกั้นกลุ่มผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ที่มาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือสงคราม ไม่ให้สามารถเข้าถึงวัคซีนขั้นพื้นฐานได้
ฉะนั้นเพื่อให้เป้าหมายนี้บรรลุได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) WHO จึงย้ำว่าทุกประเทศควรมีนโยบายการเข้าถึงวัคซีนของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมได้ร่วมกันใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการกระจายวัคซีนพื้นฐานให้ประชากรทุกคนอย่างเท่าเทียม
ขณะเดียวกัน รายงานชิ้นนี้ก็ไม่ได้มองเพียงจุดบอด จุดอ่อน หรือยกตัวอย่างประเทศที่อาจล้มเหลวในการจัดการวัคซีนถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่ายังมีประเทศที่ได้รับการยกย่องในการให้บริการสุขภาพแก่กลุ่มผู้อพยพและผู้ลี้ภัย นั่นคือ “ประเทศไทย”
ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมในรายงานชิ้นนี้ โดย WHO ให้ภาพว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการดูแลสุขภาพผู้อพยพ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสามารถซื้อประกันสุขภาพของรัฐในราคาที่เอื้อมถึง เข้าถึงบริการสุขภาพและวัคซีนครบถ้วน
ที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดูแลคนทุกกลุ่ม และต้องการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับทุกคน ทุกเชื้อชาติ และทุกสถานะ ที่ดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสังคมให้เกิดสุขภาวะอย่างองค์รวม โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังให้อยู่อย่างลำพังในสังคม
นั่นจึงรวมไปถึง “กลุ่มแรงงานข้ามชาติ” ที่มีการขับเคลื่อนด้านสุขภาพของกลุ่มแรงงานอย่างจริงจัง ด้วยเห็นถึงความสำคัญของพวกเขาเป็นฟันเฟืองหนึ่ง ที่อยู่ร่วมกันในสังคม และมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก็ต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพตามสิทธิพื้นฐานด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ในหลายภาคส่วนของประเทศไทย ยังได้สานพลังร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในการดูแลผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและเป็นกลุ่มประชากรเฉพาะให้ต่อเนื่อง ผ่านกลไกนโยบายสาธารณะที่มีผลต่อทุกคนในสังคมร่วมกัน
เราจึงได้เห็นภาพของนโยบายสาธารณะ ที่เดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ที่เป็นโจทย์ท้าทายของประเทศ โดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้สะท้อนถึงปัญหาทางสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ และการดึงเอาทุกภาคส่วนเข้ามาถมช่องว่างนี้ให้เต็ม
โดยเฉพาะกับกลุ่มคนเปราะบาง ที่ต้องยึดเอาแนวคิดที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามที่ WHO ระบุไว้ว่า “จะไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”
สำหรับนโยบายสาธารณะที่มาดูแลเพื่อหยุดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างการเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ และยกระดับความเป็นอยู่ของกลุ่มประชากรเฉพาะ นับเป็นประเด็นหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้ความสำคัญมาโดยตลอด
ล่าสุดก่อนหน้าที่ WHO จะคลอดรายงานชุดนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือบอร์ดสุขภาพของประเทศไทยที่รู้จักกันดี ได้เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น จำนวน 2 ประเด็น ประกอบด้วย
- มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
- มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไรัสัญชาติ
นพ.ประทีป ได้อธิบายเอาไว้ว่า มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นทั้ง 2 มตินี้ จะมุ่งสู่เป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมศักยภาพกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มประชากรเฉพาะที่มีความเปราะบาง สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และทำให้ประเทศไทยปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงสิ่งสำคัญคือการเดินหน้าสู่เป้าหมายสูงสุด นั่นคือการสร้างระบบสุขภาพที่เป็ธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง