กทม.เดินหน้า 15 ย่านสร้างสรรค์ หนุนมิติ 'ท่องเที่ยว-พัฒนาชุมชน' รองผู้ว่าฯ เน้นย้ำส่วนร่วมภาคปชช. ร่วมขับเคลื่อนสร้างเมืองให้เข้มแข็ง
26 กรกฎาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

รองผู้ว่าฯ กทม. หารือแนวทางจัดกิจกรรม 15 พื้นที่ "ย่านสร้างสรรค์" ย้ำไม่ตีกรอบที่จำนวนย่าน ให้ดูความพร้อมของพื้นที่ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ


นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยในการประชุม แนวทางการจัดกิจกรรมย่านสร้างสรรค์ 10+5 ย่านนำร่อง เมื่อวันที่ 25 .. 2565 ระบุว่า เรื่องย่านสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่นโยบาย "ดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ" เพียงนโยบายเดียว แต่เป็นการทำน้อยได้มาก คือทำ 1 เรื่อง แต่สอดคล้องไปทุกโครงการในมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาชุมชน เป็นต้น


นายศานนท์ กล่าวว่า สำหรับจำนวน 10+5 ย่าน หรือ 15 ย่าน นั้น ไม่อยากให้ไปตีกรอบที่จำนวนมากนัก แต่อยากให้ดูที่ความพร้อมของพื้นที่ ย่านไหนพร้อม เขตไหนพร้อม เริ่มได้เลย ซึ่งวัตถุประสงค์ของ "ย่านสร้างสรรค์" คือการที่ประชาสังคมหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งหลายแห่งก็เป็นย่านที่มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อยู่แล้ว จึงอยากให้เขตเข้าไปร่วมกับชุมชน นำย่านที่ชุมชนมีอยู่แล้วมาประกอบกับเส้นทางท่องเที่ยวที่เขตต้องดำเนินการ


ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการบรรยายถึงหลักการและแนวความคิดการจัดกิจกรรมย่านสร้างสรรค์ แนวทางในการขับเคลื่อนย่านสร้างสรรค์ ซึ่งมุ่งทำพื้นที่ให้มีชีวิตชีวา มีระบบนิเวศสร้างสรรค์รองรับ สนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์ สร้างและส่งเสริมอัตลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ รวมถึงสร้างความเคลื่อนไหวและการมีส่วนร่วม


สำหรับพื้นที่ดำเนินการจะมีการนำวิถีชุมชน สินค้าชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวในชุมชน มาเป็นจุดดึงดูดผู้คนให้มาเที่ยว บางย่าน/พื้นที่จัดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวแบบ one day trip บางพื้นที่จัดเป็นถนนคนเดิน โดยจะมีการนำร่องใน 15 ย่าน/พื้นที่ ประกอบด้วย 1. ถนนแปลงนาม เขตสัมพันธวงศ์ 2. ตลาดพลู (ตลาดรัชดาภิเษก) เขตธนบุรี 3. ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 (ชุมชนสวนหลวง 1) เขตบางคอแหลม 4. ตลาดน้ำตลิ่งชัน ต่อเนื่องตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน


5. ชุมชนหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง 6. ตรอกดิลกจันทร์ เขตคลองสาน 7. ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค 8. สะพานหัน-คลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร 9. พระรามที่ 2 ซอย 69 เขตบางขุนเทียน 10. ถนนกำแพงเพชร 4 เขตจตุจักร 11. คลองผดุงกรุงเกษม-ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ 12. คลองผดุงกรุงเกษม-นางเลิ้ง มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 13. ชุมชนมัสยิดฮารูณ เจริญกรุง 36 เขตบางรัก 14. ตลาดมดตะนอย เขตทุ่งครุ 15. ถนนสายไม้ เขตบางซื่อ


นายศานนท์ กล่าวว่า การพัฒนาย่านให้มีความน่าสนใจ ควรมีเส้นทางและกิจกรรมย่อยที่ชัดเจน มีวันเวลาที่แน่นอน รวมถึงเขตควรเพิ่มข้อมูลในส่วนของการวัดและประเมินผล เช่น จำนวนเครือข่ายภาคีที่เข้าร่วม จำนวนร้านค้าที่เข้าร่วม รายได้ที่ได้รับจากการจัดกิจกรรม และความพึงพอใจของประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม


"เราควรให้ชุมชน ประชาชน ประชาสังคม เข้ามาเป็นผู้เริ่มและขับเคลื่อนย่านต่างๆ ผ่านกิจกรรมในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยเขตมีหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนเรื่องต่างๆ เมืองก็จะคึกคักและมีชีวิตขึ้นมา หากเขตมีอะไรที่ต้องการให้ช่วยเหลือ ให้แจ้งมา ยินดีที่จะช่วยเหลือกัน" รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว