เมื่อ ‘ป่าคอนกรีต’ ทำลายอนาคต งานวิจัยชี้ ‘พื้นที่สีเขียว’ เกี่ยวข้องโดยตรงกับพัฒนาการเด็ก
1 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

อยากให้เหล่าบรรดาเด็กทั้งหลายมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมใช่หรือไม่? จากงานศึกษาใหม่ของ มหาวิทยาลับบริติชโคลัมเบีย พบว่า การให้พวกเขาเหล่านั้นอยู่กับธรรมชาติและพื้นทีสีเขียวจะเป็นคำตอบ

ทีมวิจัยจากคณะวนศาสตร์และคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ได้ทำการประเมินคะแนนพัฒนาการของเด็กกว่า 27,372 คน ในตัวเมืองแวนคูเวอที่เข้าเรียนอนุบาลช่วงระหว่างปี 2005 – 2011 พร้อมกับประเมินพื้นที่สีเขียวโดยรอบของที่อยู่อาศัย ระหว่างช่วงแรกเกิด – 5 ปีของเด็กเหล่านั้น และประเมินปริมาณของมลภาวะที่เกิดจากการจราจรและชุมชนเข้าด้วยกัน

ทั้งหมดนี้ทำให้พบว่า พื้นที่สีเขียวและมลภาวมีผลต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมีนัยยะสำคัญ

งานวิจัยชินนี้ถูกเผยแพร่ในวารสาร The Lancet Planetary Health เมื่อวันที่เดือนตุลาคม 2021 ที่ผ่านมา

อินกริด จาร์วิส หนึ่งในทีมวิจัยได้อธิบายว่า โดยภาพรวมเด็กส่วนใหญ่ (ที่สำรวจ) นั้นจะมีพัฒนาการที่ดีอยู่แล้วในด้านของพัฒนาการทางภาษา ความสามารถในการรู้คิด การเข้าสังคม และอื่นๆ แต่ที่น่าสนใจก็คือ เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่พื้นที่ชุมชนมีสีเขียวมากกว่า จะมีพัฒนาการดีกว่าบรรดาเด็กๆ ที่เติบโตในป่าคอนกรีต

เหตุผลที่งานวิจัยชิ้นนี้เสนอก็คือเรื่องของมลภาวะ พื้นที่สีเขียวที่มีต้นไม้มากกว่าสามารถช่วยในการลดมลภาวะต่างๆ ของเมืองได้ เช่น มลภาวะทางเสียงและอากาศ ซึ่งในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูงมักจะส่งผลต่อเด็กในเรื่องของสุขภาพและพัฒนาการ เพราะพื้นที่มลภาวะสูงมักจะก่อให้เกิดความเครียด ปัญหาการนอนหลับ และยังสามารถส่งผลไปถึงการเกิดอันตรายในระบบประสาทส่วนกลางได้อีกด้วย

 จาร์วิสยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ที่ผ่านมามีงานศึกษาเรื่องพัฒนาการเด็กกับพื้นที่สีเขียวจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และงานชิ้นนี้น่าจะเป็นงานชิ้นแรกในแคนนาดาอีกด้วย

ทีมวิจัยประเมินพัฒนการของเด็กด้วยวิธีการ “Early Development Instrument” หรือ “EDI” และให้ครูอนุบาลตามโรงเรียนเป็นผู้เก็บข้อมูลของเด็กแต่ละคน ซึ่งเครื่องมือ EDI นี้จะทำการประเมิณความสามารถของเด็กว่าตรงกับระดับที่ควรจะเป็นในแต่ละช่วงอายุหรือไม่

มาทิลด้า ฟาน เดน บอช อีกหนึ่งสมาชิกทีมวิจัย กล่าวว่า แน่นอนว่ายังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การค้นพบของเรานำไปสู่ข้อสรุปว่า การวางผังเมืองที่ดี มีพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมในบริเวณที่อยู่อาศัยและรอบๆ โรงเรียนมีความสำคัญและประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็ก และนอกจากพัฒนาการของเด็กแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย

“การใช้เวลาในธรรมชาติเป็นประโยชน์ต่อผู้คน และถ้าเราอยากให้เด็กๆ ของเราเติบโตโดยมีพัฒนาการที่ดี การให้พวกเขาได้อยู่ในธรรมชาติที่สะอาดและสดชื่นเป็นเรื่องสำคัญ และการอยู่ในธรรมชาติตั้งแต่อายุยังน้อยช่วยให้พวกเข้ามีพัฒนาการในด้านการเข้าสังคม อารมณ์ และสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย” นักวิจัยรายนี้ ระบุ

เมื่อมองย้อนมาดูในประเทศไทย ดูเหมือนสถานการณ์พื้นที่สีเขียวยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงสักเท่าใด เพราะอย่างพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) พื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรนั้นค่อนข้างต่ำมาก โดยเฉลี่ยมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยเพียงแค่ 6 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น และเฉลี่ยรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 16 ตารางเมตรต่อคน (ข้อมูลปี2562) เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่แม้จะมีความเจริญสูงมาก แต่พื้นที่สีเขียวต่อประชากรนั้นมีมากถึง 66 ตารางเมตรต่อคน

นี่จึงอาจจะนำมาสู่ข้อกังวลที่ว่า พื้นที่สีเขียวเฉลี่ยต่อคนที่น้อยของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ อาจจะเป็นบ่อเกิดของปัญหามากมาย อาทิเช่น มลภาวะฝุ่นควัน สุขภาพของผู้คน หรือแม้กระทั่งพัฒนาการของเด็กที่เป็นอนาคตของชาติต่อไป

แน่นอน นั่นย่อมกระทบต่อ สุขภาวะที่ดีของคนทุกคน

ดังนั้นแล้ว นโยบายรัฐในการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็น “ปอด” ของผู้คนจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะละเลยได้แม้แต่น้อย และสามารถที่จะกระทำควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง เพื่อให้ผู้คนมี “ชีวิตและสุขภาพที่ดี” อย่างมั่นคงและยั่งยืน

การขับเคลื่อนเรื่องนี้มีความซับซ้อนและสัมพันธ์กับหลากหลายหน่วยงาน การแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถเริ่มต้นและจบลงได้ด้วยใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ประเทศไทยจึงได้ใช้กลไก สานพลัง ซึ่งเป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในการขับเคลื่อน

นั่นคือ กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อแสวงหาฉันทมติในการขับเคลื่อนนโยบายด้วยพลังจากทุกภาคส่วน

ที่ผ่านมา สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากทั่วประเทศได้แสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองเป็นจำนวนมาก โดยได้ร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อาทิ มติ 9.2 การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ มติ 11.1 การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรงอย่าง มติ 10.2 การพัฒนาที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา

มติสมัชชาสุขภาพฯ เหล่านี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาและใช้พลังความร่วมไม้ร่วมมืออย่างสูง แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเป้าหมายร่วมกันของทุกคน ที่จะสร้างสังคมสุขภาวะและส่งต่ออนาคตที่ดีให้กับลูกหลานของเราทุกคน


อ้างอิง

http://thaigreenurban.onep.go.th/reportGreenArea.aspx?reportid=8

https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000039120#:~:text=1%20%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%20612.73%20%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%A3,258.76%20%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%99

https://news.ubc.ca/2021/10/21/spending-time-in-nature-promotes-early-childhood-development/

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34627475/

https://europepmc.org/article/med/34627475

https://thelancet.com/journals/lanplh/article/PIIS2542-5196(21)00235-7/fulltext

https://researchgate.net/figure/The-association-between-intelligence-and-residential-green-space-is-modified-by-the_fig1_343731742

https://sciencedaily.com/releases/2021/10/211021121016.htm

https://main.samatcha.org/all_media