สมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา ดัน 'การท่องเที่ยววิถีชุมชน' ชูพื้นที่ทางธรรมชาติที่สำคัญ จ่อขยับเชื่อมนโยบายจังหวัด

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

จังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในจังหวัดพื้นที่ชายแดนใต้ของประเทศไทย มีประชากร ประมาณ 542,314 คน เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่ติดทะเล มีอาณาเขตติดกับมาเลเซีย และเป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ดังคำขวัญจังหวัดที่ว่า ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน รายได้หลักส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยเฉพาะที่อำเภอเบตง เช่น ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง, สกายวอร์คอัยเยอร์เวง, สะพานแตปูซู, หอนาฬิกาเบตง, และตู้ไปรษณีย์สูงใหญ่ที่สุดในโลก เป็นต้น


ขณะที่ในจังหวัดยะลายังมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติและวิถีชุมชนที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ที่ยังขาดจุดเชื่อมต่อกับการท่องเที่ยวหลักภาพใหญ่ของจังหวัด ทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลาเห็นถึงความสำคัญของศักยภาพชุมชนและช่องว่างดังกล่าว จึงได้จัดให้มีสมัชชา พาทัวร์ประเด็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เรียนรู้โมเดลการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อขยับเชิงนโยบายสาธารณะเชื่อมต่อกับนโยบายการท่องเที่ยวหลักของจังหวัดต่อไป


การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นหนึ่งในสามประเด็นนโยบายสาธารณะของสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา ร่วมกับอีกสองประเด็น คือ เกษตรและอาหารปลอดภัย และเศรษฐกิจฐานราก โดยสมัชชาพาทัวร์จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่น้ำตกเซาะลาตอ บ้านเจาะปูแน ตำบลบาโงซิแน อำเภอยะหา และบ้านบันนังลูวา ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองจังหวัดยะลา ซึ่งทั้งสองที่มีเรื่องราวน่าสนใจต่างกัน




น้ำตกเซาะลาตอ เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านทรัพยากรทางธรรมชาติที่อยู่คู่กับวิถีชุมชน เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ในการดูแลของมหาดไทยและกรมป่าไม้ คุณมูฮัมหมัด ผู้ใหญ่บ้านเจาะปูแน เล่าว่าจากการไปศึกษาดูงานการจัดการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดพัทลุง เลยเกิดไอเดียที่จะยกระดับการท่องเที่ยวแห่งนี้เพื่อหารายได้ให้กับชุมชน ซึ่งที่นี่นอกจากน้ำตกเซาะลาตอที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว ยังมีการเลี้ยงผึ้งชาญณรงค์ที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของชุมชน และโรตีที่เป็นเอกลักษณ์อาหารพื้นถิ่นของที่นี่ รวมทั้งมีวิถีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ


ในวงหารือร่วมกันระหว่างคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา ปลัดอำเภอยะหา รองนายก อบต.บาโงซิแน ประธานสภาเกษตรกรยังหวัด รองผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียนโรงเรียนนักปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ชาวบ้านในพื้นที่ และผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สช. ได้มีข้อเสนอสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ในการสร้างรายได้เข้าชุมชน ควรสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และวิถีวัฒนธรรม รวมทั้งการสร้างกติการ่วมของคนในชุมชนร่วมกับนักท่องเที่ยว




พร้อมนี้มีการยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับ อบต.บาโงซิแน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติน้ำตกเซาะลาตอที่มีความเจริญและมีรายได้สู่ชุมชน ที่มีการบริหารจัดการครบทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย (1) ด้านองค์ความรู้ (2) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) ด้านการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว (4) ด้านการจัดการความปลอดภัยในพื้นที่ และ (5) ด้านการพัฒนาการให้บริการนักท่องเที่ยว


มีข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญ เช่น (1) ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ (2) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกเซาะลาตอให้เจริญรุ่งเรือง มีมาตรฐานและสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง (3) ส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักของคนในชุมชนและนอกชุมชน และ (4) ประสานความร่วมมือกับทุกๆ ภาคส่วนในการจัดการกลไก การบริหารจัดการ การกำกับดูแล และติดตามประเมินผล เพื่อความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกเซาะลาตอตลอดไป เป็นต้น


แหล่งท่องเที่ยวชุมชนตำบลหน้าถ้ำ ในเขตองค์กรการบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ คุณอัดนัน มูน๊ะ ประธานการจัดการท่องเที่ยวชุมชนเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการจัดการท่องเที่ยวชุมชน เริ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่คนในชุมชนต้องอยู่ในพื้นที่ เริ่มมีการแบ่งปันอาหารกับเด็กๆ ในชุมชน จากสองคน เป็นสิบคน ขยายถึงคนในชุมชนนับร้อย ภาพจำสำคัญคือการกินข้าวห่อใบตองกินกันบนถนนในชุมชน




และเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่นานเข้า ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันรักษาความสะอาดชุมชน และช่วยกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนขึ้น และร่วมการบริการจัดการร่วมกันโดยคนในชุมชน จนทำรายได้เข้าชุมชนในระยะสี่เดือนแรก เป็นเงินประมาณแปดล้านบาท และมีการปันผลรายได้ให้กับเด็กๆ และคนในชุมชนี่ถือหุ้น 50% (คนในชุมชนร่วมเป็นหุ้นส่วนการท่องเที่ยว หุ้นละ 1,000 บาท)


สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่นี่ มีทั้ง (1) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น ถ้ำมืด ถ้ำเสือ และสระแก้ว (2) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น สวนมังคุดบุฟเฟ่ต์ สวนทุเรียน 100 ปี ทุ่งนาตัวอย่าง และศูนย์เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (โคกหนองนา) (3) แหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ เช่น ผลิตภัณฑ์สีมายา วิสาหกิจชุมชนบ้านชาสมุนไพร และปูนขาวสารพัดนึก เป็นต้น และ (4) แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านหน้าถ้ำ เช่น ถ้ำศิลป์ ถ้ำพระนอน และศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช เป็นต้น 


นอกจากนี้เลขานายกองค์การบริหารส่วนตำบลหน้าถ้ำ ได้เล่าเพิ่มเติมว่าที่นี้ได้มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลเพื่อเป็นกติกาในการอนุรักษ์ทรัพยากรและเป็นข้อตกลงในการการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนที่มีทั้งพี่น้องชาวพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่




ข้อสรุปช่วงท้ายของวันนี้ คุณรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา กล่าวว่า การลงพื้นที่แบบสมัชชาพาทัวร์ นับเป็นครั้งแรกของสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา ที่มีการลงดูของจริงในพื้นที่เพื่อจะเชื่อมภาพพื้นที่สู่นโยบายในภาพใหญ่ของจังหวัดด้านนโยบายการท่องเที่ยวหลักกับการท่องเที่ยวชุมชน


โดยสมัชชาสุขภาพจังหวัดจะทำหน้าเป็นพื้นที่กลาง เป็นส่วนประสานกับหน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการจัดวงปรึกษาหารือยกระดับให้เกิดนโยบายทั้งในระดับพื้นที่และจังหวัด นับเป็นมิติใหม่ของสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลาที่จะก้าวข้ามการจัดยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายในห้องแอร์ สู่การเชื่อมพื้นที่ปฏิบัติการกับนโยบายในภาพจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้นโยบายสาธารณะที่ดำเนินการได้จริง หรือเป็น "นโยบายสาธารณะที่กินได้"


ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจาก สช. เรื่องนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม มีตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปถึงระดับนโยบายของจังหวัด ชาวบ้านในพื้นที่เขามีการจัดทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมอยู่แล้วระดับนึง เช่น มีวงประชาคม มีการปรึกษาหารือร่วมกัน มีแผนการทำงานแบบไม่เป็นทางการ เป็นต้น




บทบาทของทีมสมัชชาสุขภาพจังหวัดจะต้องเป็นทีมประสานกลางในการเชื่อมกับหน่วยงานทั้งในพื้นที่และระดับจังหวัด รวมทั้งทำหน้าที่เป็นทีมวิชาการสังเคราะห์ข้อมูล ความรู้ เพื่อยกระดับจากปฏิบัติการพื้นที่เป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัดร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป


สมัชาสุขภาพจังหวัด จะสามารถพลิกโฉมไปได้มากน้อยแค่ไหน จะเป็นรูปแบบหนึ่งในการกำหนดนโยบายสาธารณะของพื้นที่สู่นโยบายจังหวัดที่แยกตัวมาจากข้อเสนอเชิงนโยบายในห้องแอร์ และส่งประโยชน์ถึงคนในพื้นที่และคนในจังหวัดยะลาได้มากน้อยขนาดไหน วันที่ 25 สิงหาคม 2565 มีคำตอบในสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา

 2 สิงหาคม 2565