เด็กในเมืองเสี่ยง ‘หอบหืด’ สูง เมื่อ ‘การจราจร’ บั่นทอนสุขภาวะ ต้องเติบโตกับ ‘อากาศ’ ที่สกปรก
3 กุมภาพันธ์ 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

การเสริมสร้างสุขภาวะในเขตเมือง สัมพันธ์โดยตรงกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องของมลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักทางด้านสุขภาพ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้างอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

เพราะพฤติกรรมการรับประทาน การออกกำลังกาย หรือการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ เรายังสามารถเลือกที่จะปฏิบัติ หากแต่อากาศที่เราต้องใช้หายใจร่วมกันนี้ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะหลบหนีไปไหนได้

สภาพปัญหาที่คล้ายคลึงกันทั่วโลกนี้ถูกยกขึ้นมาอีกครั้งหลัง มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ได้เผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Lancet Planetary Health เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 ซึ่งชี้ว่า มลภาวะในอากาศอันเกิดจากการจราจรบนท้องถิ่น ได้ก่อให้เกิด “โรคหอบหืด” ในเด็กกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก

นี่กลายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการใส่ใจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สุขภาวะในเขตเมืองพัฒนาขึ้นได้อย่างยั่งยืนได้ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาบรรดาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ให้กับคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะกับ “เด็ก” ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป


ท่อไอเสีย ภัยคุกคามอากาศบริสุทธิ์

ดร.ซูซาน อเนนเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน และผู้นำทีมวิจัย ระบุว่า จากงานศึกษาชิ้นนี้พบว่า มลภาวะอย่าง “ไนโตรเจนออกไซด์” หรือ “NO2ได้ส่งผลให้เด็กในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะมหานครใหญ่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางเดินหายใจอย่าง “หอบหืด” และเพื่อแก้ปัญหานั้น การทำให้เมืองมีอากาศที่ “สะอาด” เป็นยุทธศาสตร์เดียวที่จะปกป้องสุขภาพของผู้คนได้ โดยเฉพาะบรรดาเด็กๆ

ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาเจาะจงไปที่ NO2 ที่เป็นไอเสียจากท่อไอเสียรถยนต์ โรงไฟฟ้า และเขตอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการติดตามอาการหอบหืด โรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบในปอดและทางเดินหายใจ ในเด็กทั่วโลกตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปี 2562

สิ่งสำคัญที่ทีมวิจัยค้นพบ คือ NO2 กำลังก่อปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะเป็นอย่างมากไปทั่วโลก ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น ในปี 2562 ปีเดียว เด็กที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดกว่า 1.85 ล้านราย เกิดอาการเพราะ NO2 และหนึ่งในสามของจำนวนนี้เกิดขึ้นในพื้นที่เมือง

อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีรายได้สูงเช่น สหรัฐอเมริกา ก็พบความเชื่อมโยงของ NO2 กับโรคหอบหืดลดลงในเขตเมือง เพราะประเทศเหล่านี้ได้ดำเนินนโยบายในการสร้างอากาศที่สะอาดมากขึ้น

ทว่า แม้บางประเทศจะเริ่มมีอากาศในเขตเมืองที่สะอาดมากขึ้น แต่มลภาวะในอากาศโดยเฉพาะ NO2 ได้พุ่งสูงขึ้นในพื้นที่อื่นๆ อย่าง เอเชียใต้, ซับ-ซาฮารา แอฟริกา, และตะวันออกกลาง นั่นจึงทำให้จำนวนสถิติผู้เป็นโรคหอบหืดพุ่งสูงขึ้นพื้นที่เหล่านี้ และยังเริ่มกลายเป็นภาระหนักของระบบสาธารณสุขอีกด้วย

ดร.อเนนเบิร์ก และทีมวิจัย ได้ยกงานวิจัยอีกชิ้นที่ทำควบคู่กันมาเสริมข้อมูลอีกด้วยว่า NO2 เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหอบหืดกว่า 13% ทั่วโลก และในสัดส่วนนั้น กว่า 50% ของโรคหอบหืดเกิดขึ้นในบริเวณเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นสูงทั่วโลกกว่า 250 เมือง


ไม่ว่าประเทศรวยหรือจน ก็ยังทำได้ “ไม่ดีพอ”

ในภาพรวมแล้วงานวิจัยชิ้นนี้เปิดเผยว่า โรคหอบหืดที่มีสาเหตุมาจาก NO2 ลดลงราวๆ 20% ในปี 2542 และลดลงอีก 16% ในปี 2562 ด้วยเหตุที่ว่าอากาศในพื้นที่อเมริกาและยุโรปสะอาดขึ้นมาก หากเทียบจากช่วงก่อนปี 2542

นั่นมีที่มาจากผลของนโยบายส่งเสริมให้เด็กได้อยู่สภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่บริสุทธิ์ รวมถึงการเข้าถึงบริการสาธารณสุขเพื่อรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ซึ่งประเทศรายได้สูงจำนวนมากต่างมีนโยบายดูแลผู้คน รวมถึงเด็กที่อาศัยในพื้นที่ที่มีมลภาวะทางอากาศปนเปื้อนสูงเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนี้ก็ยังไม่ดีพอ โดยประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะรายได้สูงหรือต่ำ ยังคงประสบปัญหาการปล่อยมลภาวะจากรถยนต์ พื้นที่อุตสาหกรรม และ NO2 ที่ปนเปื้อนมาก็ยังคงก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร้ายแรงอยู่

ทีมวิจัยได้พบว่า การเสียชีวิตจากโรคหอบหืดกว่า 1.8 ล้านรายในปี 2562 เป็นผลมาจากมลภาวะที่มี NO2 ปนเปื้อนอยู่ทั้งสิ้น และจากการทำแบบจำลองก็ได้ชี้ว่า 86% ของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อาศัยในเมืองใหญ่ กำลังเผชิญกับมลภาวะทางอากาศอย่างหนักที่มากเกินกว่าองค์การอนามัยโลกได้กำหนดเอาไว้

“การลดการใช้พลังงานฟอสซิลในการขนส่งทั้งหมด จะช่วยให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่หายใจได้ดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น ลดภาระของระบบสาธารณสุขได้มากขึ้น โดยเฉพาะอัตราการเกิดโรคหอบหืดและอัตราการเสียชีวิตที่มาจากโรคหอบหืด และไม่เพียงแค่เรื่องสุขภาพเท่านั้นที่จะดีขึ้น การลดการใช้พลังงานไม่สะอาดทั้งหลายยังช่วยให้ก๊าซเรือนกระจกลดลง ภูมิอากาศของโลกก็จะสะอาดขึ้นตามไปด้วย” ดร.อเนนเบิร์ก ระบุ


สมัชชาสุขภาพไทย มุ่งให้ทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหา

แน่นอนว่าเรื่องมลภาวะทางอากาศ เป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญทางสุขภาพ ที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งในกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม หรือในที่ประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ที่ได้มีมติ “การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” เป็นครั้งแรกในปี 2555 เพื่อมุ่งขจัดปัญหามลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

แม้มติดังกล่าวจะมีบทบาทในการเป็นกลไกหนึ่ง ที่พยายามนำไปสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองอย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสถานการณ์ ก็ได้เกิดการพัฒนาให้เท่าทันอีกครั้ง ด้วยการมีฉันทมติ “ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” ในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2558

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ นี้ ถือเป็น กรอบนโยบายการแก้ปัญหา ที่ครอบคลุมการทำงานของหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และถือเป็น อำนาจอ่อน ที่ไม่ได้บังคับและมีบทลงโทษ แต่เน้นไปที่การสานพลังเพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการ

ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เรามักชี้นิ้วหาคนผิดกันไปมา แต่จะไม่มีใครชี้มาที่ตัวเอง ซึ่งเรื่องมลภาวะทางอากาศนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากทุกคนในทุกวัน ฉะนั้นเมื่อเราเจอปัญหาร่วมกัน สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นคือปัญญา เพื่อที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา

“ที่ผ่านมาเราจี้ไปที่ภาครัฐ ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้พยายามทำไปมากมาย ตามสรรพกำลังที่เขามีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเรายังมีภาควิชาการที่เข้มแข็ง และภาคสังคมที่จะมีศักยภาพเข้ามาร่วมช่วยเหลือได้มาก ถ้าเราได้พลังจากสามภาคส่วนนี้มา แม้ไม่ได้หวังว่าปัญหาฝุ่นละอองจะลดลงเหลือศูนย์ แต่มันจะต้องดีขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมาเราต่างคนต่างเคยทำกันไปเยอะแล้ว แต่ที่มาทำร่วมกันยังมีน้อยอยู่ ฉะนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเชื่อมมุมมองจากแต่ละส่วนเข้ามาด้วยกัน” ผศ.วีระศักดิ์ ระบุ

อ้างอิง

https://mediarelations.gwu.edu/nearly-2-million-children-worldwide-develop-asthma-result-breathing-traffic-related-pollution

https://www.thelancet.com/journals/lanplh/article/PIIS2542-5196(21)00255-2/fulltext

https://www.thelancet.com/journals/lanplh/article/PIIS2542-5196(21)00350-8/fulltext

https://main.samatcha.org/sites/default/files/document/1103_res_11_1.pdf

https://main.samatcha.org/sites/default/files/document/1101_res_11_2.pdf