อย่าลืมดูแล 'สุขภาพสมอง' WHO แนะทั่วโลกให้ความสำคัญ 'สมองดี' สัมพันธ์กับ 'สุขภาพกาย' รู้จักกลไก-เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีได้
11 สิงหาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สมองของมนุษย์ที่เป็นศูนย์กลางการบัญชาการร่างกาย มีผลต่อทุกด้านของการดำเนินชีวิต ทั้งขณะที่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัวก็ตาม สมองก็ยังคงทำหน้าที่ควบคุมร่างกายอย่างไม่หยุดหย่อน 


สมองถูกใช้งาน แต่ขาดการละเลยในการดูแล คำว่าสุขภาพสมองจึงเริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้นในวงการแพทย์ทั่วโลก และปัจจุบันมีแนวคิดการพัฒนากลไก ระบบต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพสมองโดยตรง จากเดิมที่สังคมทั่วไปอาจจะมองเรื่องของสุขภาพกายเท่านั้น ที่อาจจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแล


ในรายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่เผยแพร่เอกสารแสดงจุดยืนเรื่องการส่งเสริมสุขภาพสมองตลอดชีวิต ให้ภาพว่าสุขภาพสมองมีผลต่อทุกด้านของการใช้ชีวิต และหากสมองได้รับความเสี่ยงจากโรค หรือปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดโรคทางสมอง จะทำให้ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายโดยรวม และยังมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ และแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการสมอง


เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง กว่า 43% สมองของพวกเขากำลังถูกคุกคาม อาจจะส่งผลให้มีความผิดปกติทางระบบประสาทที่มาจากสุขภาพสมองไม่ได้รับการดูแล ทั้งจากความยากจน การเติบโตที่แคระแกรนเนื่องจากขาดอาหารที่เหมาะสม จึงทำให้การพัฒนาการของพวกเขามีปัญหาอย่างมาก และจะส่งผลต่อเนื่องถึงทางด้านเศรษฐกิจในขณะที่เด็กกลุ่มนี้โตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต


WHO ได้เสนอแนวทางที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพสมอง และต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพสุขภาพสมองให้กับทุกคน ซึ่งสุขภาพสมอง สามารถกำหนดขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์ ที่สะท้อนไปยังอารมณ์ พฤติกรรม ซึ่งมีผลเชื่อมโยงไปยังภาคสังคมเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม สภาพของสุขภาพสมอง ก็ยังเชื่อมโยงไปยังปัจจัยทางกายภาพรอบด้านที่สัมพันธ์ระหว่างกัน คือ สุขภาพทางกาย สภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ความปลอดภัยทางสังคม การเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจัยกายภาพ หรือปัจจัยทางสังคมที่ดี ก็จะช่วยให้สุขภาพสมองดีขึ้นตาม


การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสมอง หรือการดูแลสุขภาพสมองอย่างครอบคลุม และคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนปัจจัยทางสังคมให้เชื่อมกับการดูแลสุขภาพสมอง จะมีประโยชน์ในหลายด้าน โดยเฉพาะการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับสภาพจิตใจ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนที่สุขภาพสมองดีเลือกการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้นตาม


อ้างอิง: https://www.who.int/news/item/09-08-2022-launch-of-first-who-position-paper-on-optimizing-brain-health-across-life